วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แคชเมียร์ ชุมทางการค้าระหว่างยุโรป เปอร์เชียร์ อินเดีย ทิเบต จีน


แคชเมียร์...สวรรค์ในอก ฤๅนรกในใจ

อุณหภูมิราว 12 องศาเซลเซียส ตอนเช้าตรู่ในฤดูร้อนของแคชเมียร์ ทำให้ผมมีเพียงเสื้อคลุมบางๆ ในการออกไปรับอากาศบริสุทธิ์


ที่สวนหย่อม ณ ระดับความสูง 1,730  เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ของหุบเขา “กุลมารค” ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ “ศรีนครา” (Srinagar) เมืองเอกของแว่นแคว้นที่ปรากฏนามในเอกสารไทยมานานว่า “กัษมีร์” (Kashmir) นาฬิกาบอกเวลาว่ายังไม่ถึงหกโมงดี ทว่า บัดนี้ อาทิตย์อุทัยโชนแสงทอดทาบทิวเทือกหิมาลัยที่ยังมีหิมะปกคลุม จนสีขาวโพลนค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นสีทองประกาย ไล่เรียงลงมาชุบชีวีพรรณพฤกษาเขียวขจีให้ฟื้นตื่นจากการหลับใหล แล้วไม่นานนัก ทั่วทั้งหุบเขาก็เปล่งประกายดั่งสวรรค์บนดิน 


 ยกกล้องบันทึกภาพนั้นไว้ด้วยดวงใจปีติ แต่..ยิ่งปีติ กลับยิ่งรู้สึกเหมือนมีอะไรมากดทับความรู้สึก ที่บัดนี้เต็มไปด้วยคำถามมากมายคับข้องอยู่ในอก จะไม่มีแม้สักตารางนิ้วเดียวของชมพูทวีปเลยหรือ ที่หลุดพ้นจากวลี “ที่ซึ่งสวรรค์และนรกมาบรรจบกัน”  เพราะหากได้มาเห็น คงไม่มีใครอยากจะเชื่อ ว่าหนึ่งในดินแดนที่ได้รับคำกล่าวขานว่าเป็น “แชงกรีล่า” หรือสรวงสวรรค์บนพื้นพิภพ เฉกเช่นแคชเมียร์นี้ ในความเป็นจริง มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างอินเดียกับปากีสถาน (ฮินดูกับมุสลิม) ซ่อนอยู่ภายใน ดั่งภูเขาไฟที่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะปะทุอัคคีแห่งความแค้นคั่งออกมาอีกเมื่อไร เรา - ผู้มาเยือนเพียงอาศัยช่วงเวลาอันสงบนิ่ง มาชื่นชมความงามอย่างตระหนักรู้ ว่าหากภูเขาใหญ่จะเขยื้อน ย่อมมีสัญญาณเตือนให้เราตัดสินใจได้ว่า เวลานั้นควรมาหรือไม่?
 “แคชเมียร์ เป็นชุมทางการค้าระหว่างยุโรป เปอร์เชียร์ อินเดีย ทิเบต จีน มาแต่โบราณกาล ชาวแคชเมียร์ หรือ “แคชมิดิร์” จึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผสมผสาน เป็นแขกที่ขาว เป็นยุโรปที่คิ้วเข้ม นิยมแต่งกายสีสันสดใส เป็นเสน่ห์ของหิมาลัยฝั่งตะวันออก เมื่อมีผู้คนผ่านทางไปๆ มาๆ แต่อดีต ทุกคนจึงเป็นสิ่งแปลกใหม่ของกันและกัน เราตื่นตะลึงกับใบหน้าและเสื้อผ้าของแคชมิดิร์ แคชมิดิร์ก็เพลิดเพลินไปกับรูปลักษณ์ที่แตกต่างของผู้มาเยือน เมื่อแคชมิดิร์ สัก 2-3 คน ผ่านเข้ามายังกลุ่มพวกเรา เราเอ่ย...อัสลามมาเลกุม..ขอสันติสุขจงบังเกิดแก่ท่าน... พวกเขาจะตอบรับ...วาเลกุมมุสลาม..พร้อมรอยยิ้ม และยินดีให้พวกเราถ่ายภาพอย่างมีไมตรี แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็อาจถูกพวกเขาออกมารุมดู และถูกพวกเขาขอถ่ายภาพ ในอัตราความถี่พอๆ กัน ไม่มีใครเอาเปรียบใคร





ส่วนข้างมากของแคชมิดิร์เป็นชาวมุสลิม แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นฮินดู และนานาลัทธิความเชื่อ พวกเขาอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข แล้วไย อินเดียกับปากีสถานต้องต่างสำแดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ขนาดรบราฆ่าฟันกันมากมายยาวนานขนาดนั้น ?

 นานขนาดต้องกลับไปตั้งต้นตอนอังกฤษได้อินเดียเป็นเมืองขึ้นเมื่อกว่า 150 ปีก่อน อนุทวีปอินเดียนั้นกว้างใหญ่ไพศาล อังกฤษส่งคนไปปกครองทั้งหมดไม่ไหว จึงให้สถานะดินแดนที่อยู่ไกลๆ เป็น “รัฐอารักขา” คืออำนาจอยู่ในมือผู้ปกครองแคว้น แต่จะตัดสินใจเรื่องสำคัญใดๆ ต้องปรึกษาข้าหลวงอังกฤษ มากมายนับร้อยแว่นแคว้น รวมทั้งแคชเมียร์ ปัญหามาเกิดตอนอังกฤษจะคืนเอกราชให้อินเดีย พ.ศ.2490 จึงถามมหาราชาผู้ปกครองแคชเมียร์ว่าจะอยู่กับปากีสถานหรืออินเดีย มหาราชาตอบไม่ได้ เพราะพระองค์เป็นฮินดู แต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ยามนั้นปากีสถานจึงพยายามเข้ายึดครองแคชเมียร์ มหาราชาเกรงจะยุ่งยาก จึงจำยอมลงนามใน “ข้อตกลงสงบศึกชั่วคราว” อันมีความหมายเท่ากับว่าปัญหายังคาราคาซังกันต่อไป
แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ความวุ่นวายเกิดขึ้นในแคชเมียร์อีก เมื่อมีกองกำลังชนเผ่าพัชตุน จากแนวชายแดนปากีสถาน บุกเข้ามาก่อความวุ่นวาย มหาราชาเห็นท่าไม่ดี รีบลงนามส่งมอบสัตยาบัน ยกแคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย อินเดียก็รีบเคลื่อนพลทางอากาศเข้าคุ้มครองเมืองศรีนครา ปะทะดุเดือดกับกองกำลังปากีสถาน ซึ่งไม่ยอมรับสัตยาบันดังกล่าว เพราะขัดกับข้อตกลงสงบศึกคาราคาซังที่มหาราชาทำกับปากีสถานไว้ก่อนหน้านั้น อินเดียยื่นประท้วงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้การปะทะยุติลงชั่วคราว แต่หลังจากนั้นก็รบกันอีกในปี 2508 และ 2512 แต่ที่หนักหนาสาหัสคือการปะทะนองเลือดที่เมืองคาร์กิล พ.ศ.2542 ซึ่งปากีสถานใช้กลยุทธ์ส่งนักรบศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้ามาทำสงครามศาสนา หรือ “ญิฮาด” แม้ที่สุดอินเดียจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ก็ต้องสังเวยชีวิตทหารไปหลายกองพัน

 จวบจนวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าศึกแย่งชิงแคชเมียร์จะปะทุอีกเมื่อไร ในเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายต่างป่าวร้องความสำเร็จในการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่ปากีสถานสมดุลอำนาจด้วยการยอมให้จีนสร้างไฮเวย์สาย “คาราโครัม” ที่ทำให้สินค้าจากมณฑลซินเกียงมีทางออกทะเลที่ใกล้ขึ้น นั่นคืออ่าวเบงกอล ยิ่งทำให้อินเดียหวงแหนแคชเมียร์ในฐานะ “กันชน” เพราะคาราโครัมไฮเวย์ยังทำให้จีนสามารถยกพลนับแสนที่ประจำการอยู่ในทิเบต เข้าประชิด “นิวเดลี” ได้ภายในวันเดียว  ที่สำคัญ การสูญเสียแคชเมียร์ เท่ากับถูกปิดเส้นทางไปทะเลสาบแคสเปี้ยน แหล่งสำรองน้ำมันแห่งสุดท้ายของโลก ยังไม่นับว่าต้องสูญเสียแหล่งท่องเที่ยวระดับ “สวรรค์บนดิน” รวมทั้งเสียโลเคชันในการถ่ายทำหนังส่วนใหญ่ของ “บอลลีวู้ด” ปีละไม่มาก แค่ 800 - 1,000 เรื่องเท่านั้น

 ปัจจุบัน แคชเมียร์ถือเป็นแคว้นหนึ่งของอินเดีย ท่ามกลางปมปัญหาคาใจปากีสถานที่ยากจะสาง อุณหภูมิราว 12 องศาเซลเซียสในฤดูร้อนที่หุบเขากุลมารคเช้านั้น จึงทำให้ผมได้แต่อุทานไปกับสายลม…โอ้ แคชเมียร์ สวรรค์ในอก ฤๅนรกในใ
http://www.bangkokbiznews.com/
Crrdit :