โดย เฉพาะกับ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา ที่มีนัดร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและชาติพันธมิตร ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ย.
หลังจากการประชุม ระดับรัฐมนตรีอาเซียนที่พนมเปญ เมื่อเดือนก.ค. "จบไม่สวย" เกิดการแบ่งขั้วกันเองระหว่างสมาชิก ฝ่ายหนึ่งเอียงเข้าหาจีน และอีกฝ่ายมีสหรัฐหนุนหลัง
ไทย ในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของอเมริกาในภูมิภาคนี้ ด้วยความผูกพันทางการทหารและความมั่นคงตั้งแต่สงครามเวียดนามและสงครามเย็น เคยต้อนรับผู้นำสหรัฐมาทุกยุค ย่อมไม่พลาดเตรียมการต้อนรับนายบารัก โอบามา อย่างสมเกียรติ
แต่หมายที่น่าจับตาไม่แพ้กัน คือการมาถึงไทยก่อนของ นายลีออน พาเน็ตตา รมว.กลาโหมสหรัฐ เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ด้านการทหารเต็มพิกัด หลังชะงักไปเมื่อประชาธิปไตยไทยสั่นคลอนช่วงรัฐประหาร ก.ย.2549
สหรัฐ เพิ่งตกลงกับออสเตรเลียที่เปิดแดนให้เข้าไปติดตั้งเทคโน โลยีเรดาร์ตรวจจับขีปนาวุธของจีนได้ พร้อมข้อตกลงส่งกองเรือรบมาเพิ่มในน่านน้ำแปซิฟิก สะท้อนถึงการปรับกระบวนยุทธของ กองทัพสหรัฐเพื่อแข่งบารมีจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างเปิดเผย
ส่วน ไทย นายพาเน็ตตาและพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม จรดปากกาลงนามแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ไทย-สหรัฐ 2012 พร้อมปูทางจีบไทยเข้าสู่ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP
ระหว่างที่ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องชั่งใจว่าจะเข้าร่วม TPP นี้หรือไม่ ย่อมถูกจีนจับจ้องอยู่อย่างไม่กะพริบสายตา
ยิ่งมีหมายนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า จะมาเยือนไทยในวันที่ 21 พ.ย.นี้ จึงชวนให้ระทึกอย่างยิ่ง
จาก การวิเคราะห์บทบาทของสหรัฐหนนี้ รศ.ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า สหรัฐเริ่มรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กับอิทธิพลของจีนที่มีต่ออาเซียน จึงพยายามเดินหน้าเร่งกระชับสัมพันธ์เป็นการใหญ่ ทั้งที่ตลอด 41 ปีมานี้ ไม่เคยเห็นหัวอาเซียนเลยสักนิด ไม่เคยมีการประชุมในระดับผู้นำ และไม่มีความร่วมมือที่ชัดเจน
ต่างจากจีนที่มีการรวมกลุ่ม กับเราจนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของภูมิภาค ประกอบกับสหรัฐมีปัญหาด้านความมั่นคง และผู้ก่อการร้ายมาตลอด 10-20 ปี เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่ รัฐบาลสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีโอบามาจึงรุกเข้าสู่อาเซียนมากขึ้น
การ กระทำของสหรัฐในลักษณะนี้ เป็นยุทธศาสตร์แบบกึ่งปิดล้อม กึ่งปฏิปักษ์ คือวางกำลังทหารเข้าสู่พื้นที่แปซิฟิกเพื่อทัดทานอำนาจของจีน ขณะเดียวกันก็วางตัวเป็นคู่ค้ารายใหญ่กับจีน
จีนซึ่งไม่ใช่ ศัตรู แต่ก็ถูกมองเป็นคู่แข่งที่มีความท้าทายสูง สหรัฐเลยต้องแอบๆ ปิดล้อม แอบๆ ถ่วงดุล และเปิดเผยมากไม่ได้ว่ากำลังระแวงจีน จึงต้องใช้ยุทธศาสตร์การครอบครองเข้าตีสนิทอาเซียนเพื่อดึงให้ออกจากอิทธิพล ของจีนนั่นเอง
โอบามายังพยายามผลักดันยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งสหรัฐจะวางตัวเป็นศูนย์กลาง
มี 4 ประเทศอาเซียนเข้าไปร่วมแล้ว ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ส่วนไทยกำลังจะเป็นประเทศที่ 5
เห็นได้ชัดว่าสหรัฐต้องการป่วนอาเซียน โดยแบ่งแยกกลุ่มที่มีจีนคอยหนุน กับกลุ่มพันธมิตรสหรัฐ
ผลลัพธ์ ก็คงไม่แตกต่างจากความล้มเหลวในการร่วมแถลงการณ์ประชุมอาเซียนครั้งล่าสุด ที่กัมพูชา เมื่อเดือนก.ค. ที่สหรัฐยุให้ขัดคอกับจีน จีนเองก็ถูกสหรัฐกระตุ้นให้เข้าใจอาเซียนผิดๆ นี่ยังจะมาเจอเรื่อง TPP ซ้ำรอยอีกกรณี
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐจะดูราบรื่น เป็นปกติ แต่หากดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของไทยที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งการเมือง ศักยภาพเศรษฐกิจ และการทูต ไม่ได้แน่นแฟ้นเหมือนในอดีต
อีก ทั้งไทยยังสูญเสียความเป็นผู้นำอาเซียน สูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงสูญเสียสถานะพันธมิตรชั้นหนึ่งของสหรัฐ ส่งผลให้อเมริกาต้องแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ แทนที่ไทย โดยเฉพาะพม่า
แต่ ไม่ใช่ว่าไทยจะหมดความหมายในสายตาสหรัฐ เพราะอย่างไรแล้ว ไทยก็มีภูมิประเทศเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค ถือได้ว่าเป็นหมากตัวหนึ่งในยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน และด้วยเหตุนี้ โอบามาจึงต้องมาไทยเพื่อดักต้นทาง
ในทางกลับกันไทยก็ต้อง พึงพาสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพทางการทหาร เศรษฐกิจ รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจจีนเพื่อไม่ให้เข้ามาแทรกแซงภูมิภาคจนเกินไป ที่สำคัญสหรัฐเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 คุมเกมเศรษฐกิจโลก ค่าเงิน กลุ่มความร่วมมือกับอำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้ง จี 8 จี 20 ธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟ
แต่การที่ไทยจะเข้าร่วม TPP ซึ่งเป็นกรอบที่สหรัฐตั้งขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์โดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจนั้น หากเราตอบรับคำเชื้อเชิญก็อาจกระทบกับความสัมพันธ์กับจีน
มอง ดูด้านดี ไทยจะได้ใจอเมริกาแบบเต็มๆ จะขอความช่วยเหลือในบทบาทเวทีระดับโลกก็คงไม่มีปัญหา แต่เราจะกลายเป็นเด็กดีของอเมริกาเหมือนสิงคโปร์ จนไม่ต่างจากเบี้ยล่างของอเมริกาหรือไม่
ส่วนผลเสีย จากการที่ไทยยังไม่มีความพร้อมด้านมาตรฐานเท่ากับฝั่งสหรัฐ และตะวันตก หากเข้าไปในตอนนี้ อาจเกิดปัญหาขาดดุล เพราะถูกกีดกันเรื่องมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้อาจกระทบต่อการค้าเสรีอาเซียน และกลุ่มความร่วมมืออาเซียน
ต้องถามว่าไทยจะยอมให้ความ สัมพันธ์ที่บ่มสร้างมานานกับเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคต้องพังทลายลงไปหรือ ยังไม่รวมถึงมิตรภาพกับจีนที่เห็นความสำคัญของอาเซียนมาโดยตลอด จะนำงบฯกว่า 600,000 ล้านบาทมาลงทุนในภูมิภาค บวกแผนสร้างเครือข่ายคมนาคมจากจีนสู่อาเซียน เรียกได้ว่ายอมทิ้งไพ่ทุกใบเพื่อยืดไมตรีกับอาเซียน
หากไม่นับรวมเรื่องการปั่นหัวของสหรัฐที่ยุยงให้อาเซียนแตกคอกับจีนด้วยแล้ว การตัดสินใจเรื่อง TPP ถือเป็นกรณีที่น่าหนักใจจริงๆ
ที่มา นสพ ข่าวสด