วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปางถวายเนตร

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์
ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์


วิมุตติ สุข หมายถึงความสุขของพระอริยบุคคลระดับพระอรหันต์ ซึ่งมีจิตหลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นความสุขที่ไม่อิงวัตถุ ไม่อิงกามคุณคือ ความยินดีพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส



พระ พุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วก็เสวยวิมุตติสุขอยู่ 49 วัน ใน 49 วันนั้น ศิลปินสร้างพระพุทธรูปที่มีความหมายแสดงถึงอิริยาบถของการเสวยวิมุตติสุขใน ปางต่างๆ ที่ต่อมาพระพุทธรูปปางต่างๆ เหล่านี้ ได้คลี่คลายเป็นความเชื่อที่เรียกว่า พระประจำวันเกิด



เช่น ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ พระประจำวันได้แก่ปางถวายเนตร เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรจ้องไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันอยู่ด้านหน้า พระหัตถ์ขวาซ้อนอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย



สัญลักษณ์ และความหมายของพระพุทธรูปปางถวายเนตรก็คือ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในสัปดาห์แรกทรงประทับปางสมาธิ พิจารณา ทบทวนปฏิจจสมุปบาทตลอดเวลา ทั้งโดยอนุโลม ปฏิโลม คือตั้งแต่ต้นไปจนปลายและจากปลายกลับมาสู่ต้นทาง เพื่อเห็นสภาพความจริงของสังสารวัฏ



พระพุทธรูปปางถวายเนตร จึงเป็นพระอิริยาบถในสัปดาห์ที่ 2 ที่พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรไปยังต้นศรีมหาโพธิ โดยไม่กะพริบตา ก็หมายถึงทรงพิจารณาทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาโดยลำดับ



ความ หมุนเวียนผันแปรอันเกิดขึ้นตามอำนาจของสังขาร (ที่แปลว่าการปรุงแต่ง) จนถึงการสิ้นสุดแห่งการปรุงแต่ง จึงมีความหมายของการค้นพบสัจธรรมอันบริสุทธิ์ และการสิ้นสุดลงของการปรุงแต่ง



การกราบไหว้พระพุทธรูปปาง ถวายเนตรแท้จริงจึงไม่ได้หมายถึงเป็นปางพระพุทธรูปสำหรับคนเกิดวันอาทิตย์ ไว้สำหรับการกราบไหว้บูชา ขอพร ขอลาภ ขอยศ ขอสรรเสริญ แต่หมายถึงสัจธรรมอันบริสุทธิ์คือ พระอริยสัจ 4



พระพุทธรูปปางถวายเนตร จึงหมายถึงการแสดงสัจธรรมของพระพุทธเจ้า คือ อริยสัจ 4





ขอบคุณ นสพ ข่าวสด