วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

สืบสานศิลปกรรม รัชกาลที่ 1น้อมระลึกพระมหากรุณาธิคุณ 'วันจักรี'

วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ถือเป็นวันที่มีความสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปฐมกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏ คือ “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ” ส่วนพระนาม “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” นั้น เป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวาย 
    
ทุก ๆ ปีเมื่อวันสำคัญวันนี้เวียนมาถึง ประชาชนชาวไทยต่างพร้อมใจจัดพิธีถวายบังคมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ประกอบกับมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปกรรมอันล้ำค่าที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 1 ให้คงอยู่ ด้วยถือเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหลังจากสงครามสู้รบระหว่างไทยกับพม่าสิ้นสุดลง
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ให้ฟังว่า หากจะดูลักษณะทางศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 1 บางที่ต้องอาศัยการสันนิษฐานอยู่ไม่น้อย เพราะว่างานก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ผ่านการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 เกือบจะทุกแห่งเลยก็ว่าได้ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณะวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก
  
“หากโดยทฤษฎีแล้วงานช่างในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็จะต้องสืบทอดมาจากอยุธยาตอนปลาย สำหรับการสืบทอดนั้นต้องเข้าใจด้วยว่า อะไรก็ตามเมื่อมีการเปลี่ยนที่ บรรยากาศก็ย่อมเปลี่ยนไป ทั้งการปกครอง สังคม การเมือง ในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็มีการเปลี่ยน ต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย ปรับเปลี่ยนทุกอย่างด้วยการจัดระบบใหม่
  
ในการปรับเปลี่ยนนี้ก็จะเกิดบรรยากาศใหม่ เกิดความจำเป็น ความต้องการใหม่ ๆ ทางสังคมขึ้นมา โดยเฉพาะในราชสำนัก บทบาทของพระมหากษัตริย์อาจจะเพิ่มขึ้นหรือมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ พระองค์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก เห็นได้จากทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระอารามต่าง ๆ วัดใดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังอยู่ก็มีการบูรณะเพิ่มเติม แต่กิจกรรมทางช่างในสมัยนี้ก็มีไม่มากนัก”



เนื่องจากต้องฟื้นฟูบ้านเมือง มีการสร้างบ้านแปงเมืองเสียมาก ทำให้ศิลปะที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเป็นการนำรูปแบบมาจากอยุธยา ที่เห็นได้ชัดเจนและถือเป็นศิลปกรรมอันล้ำค่านั้นก็คือ พระบรมมหาราชวัง ที่ตั้งอยู่ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระราชวังเดิมในสมัยกรุงธนบุรี ประกอบไปด้วย ป้อมปราการ ประตูพระราชวังโดยรอบ ภายในของพระบรมมหาราชวัง แบ่งเป็นสี่ส่วน คือ พระราชฐานชั้นนอก พระราชฐานชั้นกลาง พระราชฐานชั้นใน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว 
โดยลักษณะรูปแบบการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มีวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีพระอารามหลวงในพระราชวัง โดยมีลักษณะการจัดแบบประเพณีนิยมที่สืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ มีพระอุโบสถเป็นประธานหลักของวัด มีระเบียงคดล้อมรอบ มีสิ่งปลูกสร้างสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ เจดีย์ มณฑป หอระฆัง หอพระมณเฑียรธรรม ศาลาราย ในส่วนของพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ พระแก้วมรกต ที่พระองค์ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2322
  
“เข้าใจว่า ในการก่อสร้างครั้งแรกคงจะใช้วัสดุที่เป็นไม้เสียส่วนใหญ่ กำแพงอาจจะก่อขึ้นด้วยอิฐ ซึ่งไปขนมาจากอยุธยา จากนั้น วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด ซึ่งการบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอารามมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้มีการขยายพระอุโบสถจากฝาไม้แล้วก่อด้วยอิฐแทน ฉลองสมโภชพระนครครบ 50 ปี” 

มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2425 โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี มีการบูรณะในบางส่วนที่มีการชำรุดเสื่อมสภาพ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี แม้ในรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในการบูรณะในส่วนของ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องปฐมสมโพธิและชาดกที่ผนังภายในพระอุโบสถและภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงจำนวน 178 ภาพ เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของรามเกียรติ์ ซึ่งนับเป็นจิตรกรรมฝาผนังฝีมือชั้นครูแห่งยุครัตนโกสินทร์ ตามเอกสารเชื่อกันว่า เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ก็ได้ดำเนินการเขียนซ่อมติดต่อกันมาหลายสมัย แม้ในปัจจุบันก็ยังมีการซ่อมแซมกันอยู่อย่างต่อเนื่อง
ภายในพระบรมมหาราชวังยังปรากฏศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เดิมชื่อว่า พระที่นั่งอมรินทราภิเษก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแบบพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท มาในปี พ.ศ. 2332 เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในพระที่นั่ง รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่เลียนแบบพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ในสมัยอยุธยา และพระราชทานนามใหม่ว่า “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท โดยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง มีลักษณะเป็นปราสาทจัตุรมุข (สี่มุข)
   
“ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะซ่อมแซม แต่ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนผิดแบบแผนไปมากนัก เท่าที่สังเกตจากรูปแบบ มีความพยายามที่จะรักษาเค้าโครงเดิมเอาไว้ แต่ฝีมือช่างเป็นฝีมือช่างในสมัยบูรณะแล้ว ซึ่งก็คงไม่เหมือนของเก่า 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การสืบค้นลักษณะของศิลปะดั้งเดิมเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีการบันทึกไว้ว่าของเก่าก่อนบูรณะมีลักษณะเป็นอย่างไร”
  
นอกจากนั้นยังสามารถศึกษาได้จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมานหรือ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นพระที่นั่งอยู่ในหมู่พระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง ภายในมีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ 2 องค์ คือ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์นี้ เพื่อเสด็จออกมหาสมาคมเป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ และพระแท่นมหาเศวตฉัตร

“แม้จะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เค้าโครงเดิมเมื่อครั้งก่อสร้างไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เนื่องจากมีการบูรณะและปรับเปลี่ยน แต่ที่ยังคงรักษาของเดิมไว้ คือ บัญชร หรือ ช่องหน้าต่างที่อยู่ด้านบนเหนือเพดานด้านนอกพระที่นั่ง ซึ่งการทำบัญชรในรูปแบบอย่างนี้ นักวิชาการรุ่นเก่าให้ความเห็นว่า รูปแบบอย่างนี้น่าจะมีมาก่อนแล้วในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ที่เห็นในปัจจุบันไม่ได้หมายความว่าเป็นรูปแบบศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยสมบูรณ์ เพียงแต่มีเค้าโครงการสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เท่านั้น”
  
ศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ยังมีปรากฏเค้าโครงให้เห็นจากเจดีย์ที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นการสืบทอดมาจากอยุธยาอีกเช่นกัน ที่เรียกว่า เจดีย์ทรงเครื่อง โดยเจดีย์ที่หลงเหลืออยู่และปรากฏไว้ในจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร จะเรียกว่า เจดีย์หย่อม หรือที่รู้จักกัน คือ พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว ซึ่งตั้งอยู่ที่มุมวิหารคดทั้ง 4 ทิศ มีลักษณะการสร้างบนฐานเดียวกันหย่อมละ 5 องค์ โดยมีองค์ใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน แล้วมีเจดีย์รายรอบอีก 4 องค์ 



ในส่วนของ หอพระไตรปิฎก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า หอไตร ที่ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเชื่อว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  1 ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ครั้งที่พระองค์รับราชการในสมัยกรุงธนบุรี ครั้นพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ถวายพระตำหนักให้เป็นหอเก็บพระไตรปิฎกของวัดระฆังฯ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือช่างเขียนสมัยรัชกาลที่ 1 อยู่ ซึ่งเป็นภาพเทพชุมนุมเขียนระบายสีอยู่เหนือหน้าต่าง ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว ในหอกลางเป็นภาพเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนในหอนอนเป็นภาพอสุภกรรมฐาน เมื่อมีการบูรณะวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้มีอิทธิพลศิลปะจีนผสมผสานอยู่ด้วยจำนวนมาก 
     
นอกจากนั้นยังมี ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม กรุงเทพฯ เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และคงจะได้รับการซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเนื้อหาเป็นเรื่องพุทธประวัติมหาเวสสันดรชาดก ไตรภูมิ และเทพชุมนุม โดยลักษณะทางศิลปะของภาพจิตรกรรมยังคงสืบทอดคติและเทคนิคของสกุลช่างอยุธยาอยู่มาก จากการจัดวางภาพเล่าเรื่องและการใช้สี 
    
ศ.ดร.สันติ ให้ความรู้เกี่ยวกับภาพจิตรกรรมทิ้งท้ายว่า จิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยทั่วไปที่สังเกตได้ แต่นำมาเป็นกฎเกณฑ์ไม่ได้เพราะว่าหลงเหลือให้ศึกษาน้อยมาก แต่มีตัวอย่างอยู่บ้างเท่าที่พอจะประมวลได้ คือ มีรูปแบบการเขียนด้วยสีบาง ใช้สีอ่อน ภาพ รวมทั้งบุคคลไม่ว่าจะเป็นพระราชา พระมหากษัตริย์ หรือภาพนางกำนัล ราชบริพาร ทหาร ที่มีปรากฏในฉากนั้น จะมีรูปร่างอ้วนท้วน    


 ด้วยเหตุนี้จึงสามารถมาเปรียบเทียบได้กับจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่จะนิยมใช้สีเข้ม สด เช่น สีแดงสด อยู่คู่กับสีเขียวสด และมีรายละเอียดของภาพบุคคลมาก จึงทำให้ภาพบุคคลในสมัยรัชกาลที่ 3 มีขนาดเล็กลง แต่มีจำนวนมากขึ้น เพราะมีรายละเอียดมาก ตรงนี้จึงทำให้สามารถแยกออกได้ว่าภาพใดเป็นจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 และภาพใดเป็นจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3.




องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ได้กล่าวในบทความพระราชประวัติพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ทองด้วง เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี) พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ ได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม 


หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้กู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ใน พ.ศ. 2319
        
พ.ศ.  2325 เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลายจึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้น ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ใน พ.ศ.  2327 พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ในรัชกาล ได้แก่ การสงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2327  ปัจจุบันมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี โดยจะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า.



ขอบคุณพิเศษ นสพ เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th