วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

เที่ยว"น่าน"เมืองอัสจรรย์กลางหุบเขา

การเดินทางไปเที่ยวภาคเหนือในแต่ละครั้ง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงคิดถึงแต่สถานที่ยอดฮิตอย่าง เชียงใหม่ หรือปาย แต่วันนี้ เดลินิวส์ออนไลน์ จาทุกคนไปรู้จักเมืองแห่งความงามที่หลับใหลอยู่กลางหุบเขา จังหวัดน่าน ด้วยภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนไปด้วยขุนเขา บรรยากาศของเมืองน่านรับรองว่าโรแมนติกไม่แพ้ปายแน่นอน อีกทั้งยังเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไม่มากนัก จึงทำให้ใครที่ได้มาที่นี่จะต้องติดใจจนไม่อยากเดินทางกลับ

สมัยก่อนจะมาเที่ยวน่านแต่ละครั้งต้องอาศัยการเดินทางโดยรถซึ่งกินเวลานานมาก แต่ทุกวันนี้มีสายการบินที่บอนตรงจากกรุงเทพฯมาถึงน่านแล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยมาชมความงามที่ยังสมบูรณ์ของที่นี่มากขึ้น แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญส่วนใหญ่ของน่านจะเป็นวัดซึ่งมีความเก่าแก่ และมีศิลปะการตกแต่งที่ต่างจากวัดเมืองอื่น 

เราเริ่มต้นทริปด้วยการท่องเที่ยวตามวัดต่างๆในอำเภอปัว โดยวัดแรกที่เยือนคือ วัดปรางค์ ซึ่งไฮไลท์ของวัดแห่งนี้อยู่ที่ ต้นดิกเดียม ต้นไม้มหัศจรรย์ ที่ไกด์ท้องถิ่นบอกว่าเพียงสัมผัสหรือลูบเบาๆที่กิ่งก็จะมีการสั่นไหว ผู้ร่วมเดินทางได้ยินอย่างนี้เลยพากันลองลูบคล้ำต้นไม้ต้นนี้ ซึ่งทุกคนต่างตื่นเต้นเมื่อเห็นต้นดิกเดียมสั่นไหวทั้งๆที่ไม่มีลมพัดผ่านสักนิดเดียว ความอัศจรรย์นี้ทำให้ต้นดิกเดียมได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน UNSEEN THAILAND
ชมความอัศจรรย์ของต้นดิกเดียมอยู่สักพักเราก็เดินทางมาต่อกันที่ วัดร้องแง เป็นวัดไทลื้อที่มีความสวยงาม อยู่ในตัวเมืองปัว เส้นทางผ่านไปอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ซึ่งวัดแห่งนี้การันตีความงามได้ด้วย รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่7 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมดีเด่น จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ความงามของวัดร้องแงอยู่ที่จิตกรรมฝาผนังที่คงความงามโบราณไว้เป็นอย่างดี โดย บ้านร้องแง แห่งนี้มีวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านไทยลื้อเป็นแบบฉบับเป็นของตนเอง  มีวัฒนธรรมในการแต่งกายอย่างไทยลื้อ ทอผ้าใช้เอง ลักษณะบ้านเรือนแบบไทยลื้อ มีภาษาพูดเป็นของตนเองที่เป็นลักษณะเด่น และที่สำคัญมีโบราณสถาน และแหล่งโบราณที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยวัดร้องแงก็เป็นหนึ่งในโบราณสถานของบ้านไทลื้อแห่งนี้

เสร็จจากชมความงามของวัดร้องแง และชมวิถีไทลื้อของบ้านร้องแงแล้ว เรามุ่งหน้ามาชมวัดที่ไกด์แนะนำว่าขึ้นชื่อเรื่องความงามของจิตกรรมฝาผนัง วัดหนองบัว ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา ไปตามเส้นทางถนนสาย อ.เมืองน่าน-ท่าวังผา สร้างขึ้นตามแบบของสถาปัตยกรรมของไทลื้อเช่นกัน จากคำสันนิษฐานวัดไทลื้อแห่งนี้สร้างราวพ.ศ. 2405 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4

ความงดงามที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ทำให้ชื่อเสียงของวัดนี้โด่งดังก็คือ จิตกรรมฝาผนัง ซึ่งพอได้มาเห็นกับตาแล้วก็ต้องบอกว่าสวยงามสมคำร่ำลือจริงๆ โดยภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัวแห่งนี้เล่าเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า และยังมีภาพของเรือกลไฟ และดาบปลายปืน ซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5

ถ้าลองปะติดปะต่อเรื่องราวดีๆจะพอสันนิษฐานได้ว่า ผู้วาดสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหลหรือผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม จากความสมบูรณ์ของภาพในวัดหนองบัว ทำให้มีการสันนิษฐานว่าภาพวาดของที่นี่ เป็นการวาดก่อนที่วัดภูมินทร์ วัดชื่อดังของจังหวัดน่านอีกด้วย

ความงามของวัดหนองบัวไมได้เป็นเพียงที่สุดของวัดในเมืองน่าน เพราะยังมีวัดอีกหลายแห่งที่น่าสนใจอย่างเช่น วัดพระธาตุเขาน้อย ที่มีองค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังมีพระทันใจ ไว้สำหรับที่ต้องการขึ้นมานมัสการและขอพรให้สมหวังในสิ่งที่อยากได้อีกด้วย

ผู้ร่วมเดินทางทุดคนต่างลงความเห้นเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่สะดุดตาและเป็นเสน่ห์ของวัดแห่งนี้อยู่ที่เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่านได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ประดิษฐาน พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร หันหน้าออกสู่ตัวเมืองน่าน โดยมีความเชื่อว่าเพื่อคอยสอดส่องดูแลชาวบ้าน สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

การเดินทางท่องเที่ยวเมืองน่านยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะไฮไลท์ของเมืองแสนเงียบสงบแห่งนี้อยู่ที่ถนนสายวัฒนธรรมรอบตัวเมือง ที่เป็นศูนย์รวมวัดโบราณแสนสวยงามมากมาย ไว้ครั้งหน้าเราจะพาทุกคนไปชมแน่นอน

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์













































ที่มา นสพ เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ขณะโดยสารรถไฟฟ้าอยู่นั้นเราสามารถลดแคลอรี่ Exercise บนรถไฟฟ้า

ขณะโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่นั้น เราสามารถลดแคลอรี่ให้กับร่างกายได้ แถมผ่อนคลายความตึงเครียดและมีร่างกายที่แข็งแรงขณะเดินทางได้อีกด้วย

ปัจจุบันการเดินทางของคนเมืองต่างต้องแข่งขันกับเวลา  ทำให้เรามีตัวเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย  และหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าลอยฟ้าหรือใต้ดินเป็นประจำทุกวัน 
 รู้หรือไม่ว่า  ขณะโดยสารรถไฟฟ้าอยู่นั้นเราสามารถลดแคลอรี่ให้กับร่างกายได้ แถมผ่อนคลายความตึงเครียดและมีร่างกายที่แข็งแรงขณะเดินทางได้อีกด้วย โรงพยาบาลบีเอ็นเอชมีเทคนิคดีๆ มานำเสนอ ดังต่อไปนี้
 1. การฟังเพลงเบาๆ ตลอดการเดินทาง ช่วยทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลายความตึงเครียด และสุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย
 2. การเดินเร็วๆ ในสถานี  เป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ดีอย่างหนึ่ง และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองอักเสบ  เบาหวาน  มะเร็ง  และโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ได้
 3. การใช้รถไฟฟ้า ทำให้เราไม่ต้องผจญกับแสงแดด และมลพิษ  ช่วยทำให้สุขภาพผิวดี  ดูอ่อนเยาว์ ไม่เสี่ยงต่อการเป็นฝ้า หรือกระ  และยิ่งไปกว่านั้นทำให้เราไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ
 4. แขม่วหน้าท้องขณะนั่งโดยสาร  นอกจากจะช่วยให้หน้าท้องของเราแบนราบโดยไม่ต้องเหนื่อยซิทอัพ ยังทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นได้อีกด้วย
 5. ข้อดีของการห้ามบริโภคน้ำ และอาหารในสถานี  นอกจากจะทำให้เกิดความสะอาดภายในสถานีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายแล้ว  ยังทำให้เราไม่ทานจุกจิกขณะเดินทางจนแคลอรี่พุ่งโดยไม่รุ้ตัว  แถมเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความอ้วนได้ดีเยี่ยม
 6. การเดินขึ้น-ลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อน  ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ  กล้ามเนื้อแข็งแรงและกระชับสัดส่วนได้  แถมใครที่อยากลดแคลลอรี่ใช้วิธีนี้ได้ผลดีที่สุด แถมช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย
 7. สลับมือที่ใช้โหนรถ  ช่วยทำให้กล้ามเนื้อแขนแข็งแรงสม่ำเสมอ  การสลับมือที่ใช้โหนนั้นยังช่วยให้ต้นแขนกระชับขึ้นได้เป็นอย่างดี
 8. ใช้กระเป๋าเป้ หรือกระเป๋าสะพายแทนดัมเบลขนาดย่อม  โดยการยกกระเป๋าเป้ หรือกระเป๋าสะพานขึ้น-ลง  ขณะรอรถทุกวัน  ทำให้คุณมีรูปร่างดีและฟิตขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
 9. ยกเท้าขึ้น-ลง  ขณะนั่งโดยสาร  ทำให้กล้ามเนื้อของคุณเกิดความยืดหยุ่น  และลดอาการปวดข้อเข่า  และข้อเท้าได้เป็นอย่างดี
 10. การยิ้มแย้มให้กับผู้โดยสารคนอื่นๆ นอกจากจะทำให้เรามีเสน่ห์แล้ว  ยังเป็นการบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าและลดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้อีกด้วย
 เพื่อสุขภาพที่ดีของคนเมืองหลวงอย่างเราๆ ที่ต้องอาศัยการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และต้องแข่งกับเวลา  แค่คุณปฏิบัติตามเทคนิคข้างต้นนี้ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ  ร่างกายและจิตใจของคุณก็จะผ่อนคลายจากความตึงเครียด  แถมยังมีสุขภาพที่แข็งแรงไม่มีโรคต่างๆ มาถามหาคุณอย่างแน่นอน
http://www.bangkokbiznews.com





การโพสต์ในแบบที่ง่ายดายยิ่งขึ้น
อัปเดตบล็อกของคุณจาก Gmail หรือหน้าแรก iGoogle ของคุณด้วย แกดเจ็ตการโพสต์ของ Blogger

รู้เคล็ดลับฉบับผอมเพรียวเสมอต้นเสมอปลาย สไตล์ ‘หมอปู’

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมดุลชีวิต พิชิตพุง

 วิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน บวกกับกระแสสังคมและโลกสมัยใหม่ทำให้ทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเร่งรีบ ทำทุกอย่างเพื่อแข่งกับเวลาที่ดูเหมือนว่าจะมีไม่เคยพอในแต่ละวัน เพื่อแสวงหาความมั่นคงทางการงานและการเงิน จนภาวะ “ไม่มีเวลา” กลายเป็น ‘ภาวะจำยอม’ และข้ออ้างติดปากคนยุคนี้ไปแล้ว เป็นเหตุให้เราๆท่านๆนอกจากจะ ‘ไม่มีเวลา’ แล้ว ยังพาลป่วยใจ (เครียด) และป่วยกาย (เป็นได้สารพัดโรค รวมทั้งโรคอ้วน) ตามมาด้วย
   ปัญหาที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือการ “มี” แต่ “เวลารับประทาน” กับเวลาทำงาน จนพาลไม่มีเวลาออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่ร่างกายได้รับเข้าไป ดังนั้นจะไปโทษความผิดปกติของฮอร์โมน เช่นในกรณีของผู้ป่วยซึ่งต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ เป็นเหตุให้อัตราการเผาผลาญอาหารลดลงจนเกิดเป็นภาวะน้ำหนักเกินตามมานั้น คงจะไม่ได้ เนื่องจากกรณีเช่นนี้มีให้เห็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ครั้นจะหันไปโทษอาหาร จำเลยขาประจำของภาวะโรคอ้วน ก็คงจะต้องย้อนถามกันซื่อๆว่า “อาหารเดินเข้าปากเราเองได้ด้วยหรือ?” สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคอ้วนจึงมีต้นตอมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุล
   ทันตแพทย์หญิง อัชญา แย้มสุคนธ์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ว่าเราจะได้รับข้อมูลหลากหลายเกี่ยวกับหลักโภชนาการและความสำคัญของการออกกำลังกาย หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความอยาก’ ไม่เข้าใครออกใคร คนส่วนใหญ่จึงมักตกอยู่ในวังวนของการรับประทานตามใจ ‘อยาก’ อย่างมีความสุขสลับกับความทุกข์จากการพยายามลดน้ำหนักอย่างสุดโต่ง เมื่อพบว่ากางเกงยีนส์ตัวเก่งนั้นเล็กไปสำหรับรอบเอวของเราเสียแล้ว!
   สภาพเช่นนี้ชวนให้นึกถึงภาพของตัวเองเมื่อตอนที่หันหลังให้กับวงการยิมนาสติกลีลาใหม่ หลังจากที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักยิมนาสติกไทยไปแข่งขันในระดับเอเชี่ยนเกม เมื่อปี 2541
   ด้วยความที่ต้องสะกดกลั้น ‘ความอยาก’ (อาหาร) มาตลอดช่วงอายุการเป็นนักกีฬายิมนาสติกระดับนานาชาติ เพราะรูปร่างสำคัญไม่แพ้ฝีมือเลยทีเดียวสำหรับกีฬาประเภทนี้ ประกอบกับวินัยด้านการบริโภคและการฝึกซ้อม ตลอดจนบทลงโทษที่เข้มงวดมาก ทำให้ทั้งตัวหมอ และเพื่อนนักกีฬารุ่นเดียวกันถึงกับตะบะแตก กระโดดเข้าใส่อาหาร โดยเฉพาะขนมหวานและขนมขบเคี้ยวทุกประเภท ที่ไม่เคยได้แตะมาก่อนในชีวิตการเป็นนักกีฬาทันทีที่หันหลังให้กับกีฬาประเภทนี้
    พฤติกรรมการบริโภคและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และวินัยที่หย่อนยานลงนี้เองทำให้น้ำหนักตัวของหมอและเพื่อนๆพุ่งพรวดขึ้นมาจากน้ำหนักตัวเดิมร่วมสิบกิโลกรัมภายในระยะเวลาเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ผลกระทบที่ตามมาแบบติดๆคือสุขภาพและสมรรถภาพทางกายที่ถดถอยลง รวมถึงสุขภาพจิตที่พลอยย่ำแย่ตามไปด้วย เพราะความเครียดอันเนื่องมาจากสภาพร่างกายที่เริ่มจะย้วย และความต้องการที่จะลดน้ำหนักลงมาให้ได้เท่าเดิม ซึ่งเมื่อคำณวนจากปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับจากพฤติกรรมการบริโภคตาม ‘ใจอยาก’ ของตัวเอง และพลังงานที่เผาผลาญได้ในแต่ละวันแล้ว การจะลดน้ำหนักลง และคงน้ำหนักตัวในระดับที่สมดุลไว้นั้นถือเป็น ‘Mission Impossible’ เลยก็ว่าได้
    ต่อเมื่อหยุด และพิจารณาดูพฤติกรรมของตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรม จึงตระหนักได้ว่าการบริโภคและใช้วิถีชีวิตอย่างสมดุลย์โดยยึด ‘ทางสายกลาง’ เป็นที่ตั้งต่างหาก คือ สูตรสำเร็จแห่งการบริหาร ‘ความอยาก’ อาหาร ซึ่งมักจะสวนทางกับ ‘ความอยาก’ มีรูปร่างและสุขภาพที่ดี อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้อง ‘ทนอด’ หรือโหมลดน้ำหนักให้หนักใจ
ดังนั้นริจะ Enjoy Eating ทั้งที ก็ต้องปรับวิถีชีวิตให้สมดุลย์กับพลังงานจากอาหารที่เราเลือกรับประทานด้วย จึงจะเพรียวลมเสมอต้นเสมอปลายได้ อย่างมีสุขภาพ

เตือนผู้ปกครองคุมเด็กบริโภคเกลือ


ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เตือน เด็กอายุ 7-10 ปี ไม่ควรบริโภคเกลือมากกว่า 5 กรัมต่อวัน

นายอุลริก เฟเกอเลอร์ โฆษกสมาคมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งเยอรมนี กล่าวว่า เด็กอายุระหว่าง 7-10 ปีไม่ควรบริโภคเกลือเกิน 5กรัมต่อวัน หรือประมาณ 1 ช้อนชา โดยเกลือส่วนใหญ่ที่คนเรารับประทานในแต่ละวัน ประมาณ 75% รวมอยู่ในอาหารต่างๆ เช่น ชีส ไส้กรอก และเนื้อสัตว์ปรุงสำเร็จ
ผลสำรวจโดย ฟู้ดวอทช์ องค์กรปกป้องผู้บริโภคโดยไม่หวังผลกำไร พบว่า ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกสำหรับเด็กและอาหารจานด่วน มักมีส่วนประกอบของเกลือเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน
นายเฟเกอเลอร์ กล่าวว่า ผลการศึกษาแสดงให้ว่า การบริโภคเกลือในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เด็กมีความดันโลหิตสูงเหมือนผู้ใหญ่ได้ โดยอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ ได้แก่ ปลาไส้ตัน เบคอน ไส้กรอก แฮม กุ้ง มะกอก พิซซ่า แตงกวาดอง ถั่วอบเกลือ และมันฝรั่งทอดกรอบ ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ความสนใจกับปริมาณของโซเดียมในอาหารด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมมากกว่า 0.6 กรัม หรือปริมาณเกลือบริโภคมากกว่า 1.5 กรัมต่อ 100 กรัม นับว่าเค็มมากเกินไป การคำนวณค่าอย่างง่ายๆ ว่าในอาหารนั้นประกอบด้วยปริมาณเกลือเท่าไหร สามารถทำได้โดยนำปริมาณโซเดียมคูณด้วย 2.5
การสัมภาษณ์เด็กและวัยรุ่นเยอรมันเกี่ยวกับสุขภาพพบว่า วัยรุ่นชายอายุระหว่าง 15-18 ปี ชื่นชอบอาหารรสเค็ม โดยมีอัตราบริโภคเฉลี่ย 10 กรัมต่อวัน ขณะที่ปริมาณสูงสุดที่แนะนำต่อวันสำหรับเด็กกลุ่มนี้อยู่ที่ 6 กรัม

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

ซูบารุ เลกาซี แวกอน อีกทางเลือกของรถครอบครัว

คอลัมน์ เทสต์ คาร์ 
โดย วุฒิณี ทับทอง
แม้จะไม่ได้เข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์ปีนี้ แต่ เสี่ยอภิชัย ธรรมศิรารักษ์ แห่งค่ายซูบารุ ก็ไม่ขอทิ้งโอกาส จัดทริปทดสอบรถยนต์ซูบารุเพื่อสร้างความเคลื่อนไหว นัยว่าแม้ไม่ร่วมงาน แต่ก็ยังมีรถพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชื่นชอบความแตกต่าง งานนี้ทีมงานซูบารุตั้งใจขนเอารถในกองทัพของ "ดาวลูกไก่" มาให้บรรดาสื่อมวลชนได้ทดสอบกันแทบจะครบไลน์ ที่ ซูบารุเรียกว่า กลุ่มพิเศษ เพื่อเอาใจลูกค้า
"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสได้ร่วมทริปทดสอบเช่นเคย โดยทีมงานเลือกเส้นทางและรูปแบบการทดสอบครั้งนี้เป็นในแบบ "เช้าไป-เย็นกลับ" เส้นทาง "กรุงเทพฯ-สวนผึ้ง" ราชบุรี เริ่มต้นจุดสตาร์ตที่สถานีบริการน้ำมันบนถนนวิภาวดีฯ พร้อมทั้งนัดแนะเส้นทางและจุดพักรถ พร้อมจัดสรรบรรดาสมาชิกผู้ร่วมทดสอบที่ประจำรถแต่ละคันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาออกเดินทาง 
กับ ซูบารุ เลกาซี "ประชาชาติธุรกิจ" พร้อมเพื่อนสมาชิกอีก 3 หน่วย จากสำนักข่าวสด โพสต์ทูเดย์ และผู้จัดการ เรียกว่าเต็มอัตราศึก ครบทุกที่นั่ง 
แวกอนตัวนี้ใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เป็นรุ่นที่ 5 ที่ซูบารุ ตั้งใจจะปั้นให้เป็นรถธงในการทำตลาด ว่ากันว่าซูบารุวางตำแหน่งสินค้าให้อยู่ระหว่างรถพรีเมี่ยมญี่ปุ่นอย่างแอคคอร์ด หรือคัมรี่ และวางตัวให้สูสีกับรถหรูอย่างเลกซัส

ช่วงเริ่มต้นทดสอบ "ประชาชาติธุรกิจ" ไม่รอช้า ขอ กระโดดเข้าไปนั่งที่เบาะด้านหลังของผู้ขับ เป็นผู้โดยสารที่ดี และไม่ลืมคว้าเข็มขัดนิรภัยมาคาดเพื่อความมั่นใจไม่ประมาท ภายในห้องโดยสารของรถคันนี้ถือว่ากว้างขวางกว่าซีดานทั่ว ๆ ไป ไม่นับรวมส่วนที่บรรทุกสัมภาระ ตัวถังมีขนาดใหญ่ และการจัดวางเบาะในห้องโดยสารก็พยายามเน้นความสะดวกสบาย ประโยชน์ใช้สอย และอเนกประสงค์ เหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบครอบครัว

ส่วนการจัดวางอุปกรณ์ถือว่าค่อนข้าง "เนี้ยบ" เนื่องจากรถคันนี้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคัน ดังนั้นเรื่องความใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ การันตีได้ระดับหนึ่ง

แต่ที่อาจจะไม่ถูกใจกับคนใช้งานในเขตเมืองร้อนอย่างบ้านเรา ก็ตรงที่ห้องโดยสารด้านหลังไม่มี "ช่องแอร์" กำลังลมจากด้านหน้าช่วงแดดจัด ๆ มาไม่ถึงข้างหลัง และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ควรมีมา เมื่อเทียบกับรถในราคาระดับเดียวกันอย่างกล้องมองหลัง และเซ็นเซอร์กะระยะ มีไม่ครบ คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากข้อจำกัดในการนำเข้าทั้งคัน ทำให้ซูบารุจำเป็นต้องตัดอุปกรณ์บางอย่างออกไป

หลังจากเริ่มสตาร์ตในจุดพักรถย่านนครปฐม ได้เวลาที่ "ประชาชาติธุรกิจ" จะต้องไปนั่งที่ตำแหน่งหลังพวงมาลัย ปรับตำแหน่งอุปกรณ์ต่าง ๆ กระจกมองข้าง-มองหลัง ตำแหน่งเบาะที่นั่ง และพวงมาลัยให้เหมาะสมกับสรีระแล้ว เมื่อทุกอย่างพร้อมทั้งรถทั้งคน ก็ได้เวลามุ่งหน้าสู่ อ.สวนผึ้งทันที

ด้วยเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ที่ 150 แรงม้า ที่ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติแปรผัน (CVT) 6 จังหวะ ในช่วงการออกตัว หรือการเร่งแซงนั้นอาจจะไม่ถึงกับจี๊ดจ๊าด เหมือนกับที่จินตนาการไว้ก่อนจะได้สัมผัสกับรถจากค่ายนี้เท่าใดนัก เพราะเท่าที่เคยได้ยินมา เจ้าดาวลูกไก่ตัวนี้มีทั้งความแรง หนึบหนับสะใจ

แต่เมื่อย้อนกลับมาคิดถึงรูปแบบการใช้งานของรถสไตล์แวกอน ซึ่งเหมาะสำหรับครอบครัว ก็ถือว่าพอรับได้ และเมื่อออกตัวได้ระยะหนึ่ง กำลังจากเครื่องยนต์ก็ทำงานได้ดีขึ้น เรื่อย ๆ ยิ่งในช่วงตีนปลายจี๊ดจ๊าดพอตัวเชียว

และแม้ในช่วงที่มีพระพิรุณโปรยปรายมาเป็นระยะ ๆ การทำความเร็วสูง หรือจังหวะเข้าโค้ง ต้องบอกว่ารถคันนี้ค่อนข้างให้ความมั่นใจ โดยเฉพาะเรื่องการยึดเกาะถนน และระบบ ช่วงล่างถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีกับระบบการขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ

มาถึงบรรทัดนี้ ซูบารุ เลกาซี่ แวกอนคันนี้ อาจจะไม่ใช่ "ตัวจี๊ด" ในเรื่องกำลังเครื่องยนต์ คือถ้าเป็นขาซิ่งอาจจะต้องชั่งใจกันเล็กน้อย

แต่ถ้าต้องการใช้เป็น "รถครอบครัว" ที่เน้นความสะดวกสบาย และความกว้างขวางของห้องโดยสาร ประกอบกับสนนราคาแค่ 2.05 ล้านบาท ก็ถือว่าพอสมน้ำสมเนื้อ ใครที่ชื่นชอบ เสี่ยอภิชัยยินดีต้อนรับผู้ที่จะไปทำความรู้จักกับรถคันนี้ที่โชว์รูมซูบารุก่อนตัดสินใจ

Credit : http://www.prachachat.net/ 

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

LEGACY WAGON สปอร์ตครอบครัว

คอลัมน์ ทดสอบ
กิตติพงศ์ ศรีเจริญ 

ไม่ค่อยได้จัดทริปทดสอบรถบ่อยสักเท่าใดนัก สำหรับค่ายดาวลูกไก่ "ซูบารุ" เพราะส่วนใหญ่เป็นการปล่อยให้ทดสอบแบบเดี่ยวมากกว่า อาจด้วยเพราะความที่มีคนน้อย ต้องใช้อย่างประหยัด

แต่ล่าสุด "อภิชัย ธรรมศิรารักษ์" ผู้จัดการทั่วไปหนุ่มมาดนุ่ม แห่ง มอเตอร์ อิมเมจ ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ทำตลาดซูบารุในประเทศไทย ตัดสินใจนำรถในสังกัดหลากคันหลายรุ่นมาให้ผู้สื่อข่าวทดสอบบนเส้นทางกรุงเทพฯ-สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ลักษณะเช้าไป เย็นกลับ

นัดแนะกันแต่เช้าปั๊มน้ำมันปตท. ย่าน ถ.วิภาวดี ตรงข้ามมหาวิทยาลัยหอการค้า ไทย อธิบายเส้นทาง จุดพัก และจุดหมายปลายทางเสร็จสรรพ แบ่งให้แต่ละคันมีผู้ร่วมทดสอบเต็มพิกัด 4 คน

"ข่าวสด ยานยนต์" เดินทางพร้อมกับน้องๆ จากสำนักประชาชาติ และหนังสือ พิมพ์รายวันอีก 2 ฉบับ ได้ทดสอบรุ่น "เลกาซี่ แวกอน" เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร

เลือกทดสอบเป็นคนแรก รถราช่วงเช้าวันธรรมดา บน ถ.วิภาวดีรังสิต ค่อนข้างหนาแน่น วิ่งเข้าเส้นจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งจำนวนรถไม่ได้แตกต่าง

ช่วงออกตัวเกียร์ 1-3 บอกได้เลยว่า หากเป็นแฟนพันธุ์แท้ น่าจะหงุดหงิดใจอยู่พอสมควร เพราะไม่จัดจ้านเหมือนเจเนอเรชั่นก่อนๆ ด้วยเพราะซูบารุได้ปรับบุคลิกให้กลายเป็นรถบ้านแบบเต็มตัว

แต่พูดถึงความคล่องแคล่วแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะเป็นรถที่มีช่วงยาวสไตล์แวกอน ด้วยระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา ทำให้การทรงตัวเป็นไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างใจ

ออกนอกเมือง สบช่องทำความเร็วได้บ้าง ไม่รอช้า เพราะใกล้ถึงจุดเปลี่ยนให้กระจอกข่าวเล่มอื่นทดสอบบ้าง ค่อยๆ ไต่ระดับความเร็ว ร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ CVT Lineartronic ดูเหมือนว่าจะยังมาให้ช้ากว่าที่คาดหวังกับความเป็นเครื่องยนต์บ๊อกเซอร์แถวนอน ที่ปกติถือเป็นตัวกลั่นหนึ่งในโลกยานยนต์

ครั้นหันไปใช้โหมดเกียร์ธรรมดา ลากรอบได้มากขึ้นช่วยเพิ่ม กำลังเครื่องยนต์ให้มาใช้งานได้ดีกว่า รวมถึงเติมเต็มอารมณ์สปอร์ต

ระหว่างที่เร่งเครื่องทำความเร็วมีสายฝนโปรยปรายมาเป็นระยะ ช่วยให้รับรู้ถึงการเกาะถนนได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นการเข้าโค้งหรือช่วงความเร็วสูง เลกาซี่ คันนี้ไม่มีอาการสะท้านให้รู้สึก

ประกอบกับพวงมาลัยที่มีความแม่นยำ เพิ่มความมั่นใจในการควบ คุมรถไปอีกขั้น ระบบช่วงล่างแม้ไม่ถึงกับนุ่มนวลแต่ใช่ว่าจะกระโดดกระด้าง เมื่อยามผ่านหลุมบ่อ หรือคอสะพาน

ช่วงพักเปลี่ยนผู้ทดสอบเดินดูรอบคันดีไซน์ภายนอกของ "เลกาซี่" แม้อารมณ์โดยรวมจะบ่งชี้ถึงการเป็นรถแบบครอบครัว แต่แฝงไว้ซึ่งความสปอร์ต ตั้งแต่ไฟหน้าทรงคล้ายตาเหยี่ยว สอดรับกับกระจังหน้าและกันชนขนาดใหญ่ เส้นสายด้านข้างไล่ไปจนถึงด้านท้าย ไฟท้ายขนาดใหญ่ มองเห็นเด่นชัด

ได้เวลาออกเดินทางต่อโดดข้ามไปนั่งด้านหลังหวังเป็นผู้บริหาร พร้อมทั้งสำรวจตรวจตรารูปลักษณ์ภายในคราวเดียวกัน

ความกว้างขวางอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ นั่งได้สะดวกสบาย แต่ที่ไม่ค่อยถูกใจคือไม่มีแอร์หลังต้องอาศัยความเย็นจากช่องแอร์ด้านหน้า แต่เมื่อพิจารณาโดยรอบแล้ว พบว่าซูบารุใส่ใจในรายละเอียดทุกจุด เลือกใช้วัสดุและจัดวางตำแหน่งได้เหมาะสม

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจาก "เลกาซี่" เป็นรถนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งคัน ทำให้มีความประณีตสูงขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐานแดนปลาดิบ

ใครที่หลงใหลมนต์เสน่ห์แห่งรูปลักษณ์ของรถในค่ายดาวลูกไก่ แต่ไม่ต้องการความแรง แถมบางครั้งใช้งานแบบชิล ชิล กับครอบครัว ลองหาโอกาสแวะไปทดสอบกันได้

แล้วจะรู้ว่าระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา มีดีตรงไหน

ข้อมูลทางเทคนิค

แบบตัวถัง สเตชั่นแวกอน 5 ประตู

เครื่องยนต์ Boxer DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว

ความจุ 1994 ซีซี

กำลังสูงสุด 150 แรงม้า/6,000 รอบฯ

แรงบิดสูงสุด 196 นิวตัน-เมตร/3,000 รอบฯ

ระบบส่งกำลัง CVT 6 สปีด

ระบบรองรับ(หน้า) แม็กเฟอร์สันสตรัต/คอยล์สปริง

ระบบรองรับ(หลัง) ดับเบิ้ลวิชโบน/คอยล์สปริง

มิติ(กว้างxยาวxสูง) 1,780x4,775x1,535 ม.ม.

ราคา 2,050,000 บาท

ขอบคุณ นสพ ข่าวสด
http://www.khaosod.co.th/

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

ตามรอยเส้นทางเดินทัพ 'สมเด็จพระเจ้าตากสิน'

ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าคำว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คำสามคำนี้มิใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนธงไตรรงค์เท่านั้น หากเป็นคำสามคำที่หลอมรวมจิตใจของชาวไทยทุกผู้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาทุกยุคทุกสมัยย้อนไปเมื่อ 200 ปีจากเหตุการณ์สูญเสียกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ. 2310 บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้ศูนย์อำนาจปกครองด้วยสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดนั้น หากไม่ได้พระมหากษัติรย์ที่ทรงมีน้ำพระทัยเด็ดเดี่ยว แกล้วกล้า และเสียสละ เยี่ยงสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้วก็จะไม่มีแผ่นดินไทยอย่างปัจจุบันนี้
    
วัดราชบัลลังค์ประดิษฐาวราราม หรือชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า วัดทะเลน้อยตามชื่อหมู่บ้านในปัจจุบัน ตั้งอยู่หมู่ 6 ต.บ้านนา อ.แกลง จ.ระยอง สันนิษฐานว่าแรกเริ่มเป็นวัดที่ พระเจ้าตากสิน ให้ชาวบ้านสร้างขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต วีรกรรมทุ่งเพลงบ้านทะเลน้อย ในครั้งก่อนเข้าตี เมืองจันทบูร ราวเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากทรงช้างพระที่นั่ง คีรีบัญชร พร้อมพลทหารล้อมทหารยกทัพออกจากเมืองระยอง มาตั้งค่ายพักที่ วัดเนินสระ (วัดราชบัลลังค์) เมืองแกลง ณ ที่แห่งนี้ พระเจ้าตาก ได้ทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อ กอบกู้บ้านเมืองและแผ่นดิน เป็นนิมิตหมายอันดีในการที่จะเริ่มภารกิจแรก ซึ่งเป็นภารกิจชี้ชะตา ชี้เป็นชี้ตายที่สุดในครั้งนี้นั่นคือ “การทุบหม้อข้าวหม้อแกง แล้วเข้าตีเมืองจันทบูร” หลังจากพระเจ้าตากสินได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวงมีพระภิกษุจำพรรษา มีพระผู้ใหญ่หลายรูป  จวบจนปี พ.ศ. 2325 สิ้นยุคกรุงธนบุรี ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป
    
วัดเนินสระ (วัดราชบัลลังค์ ) ณ บ้านตอกตากสิน ชื่อนี้สถานที่นี้ตลอดระยะเวลา 300 ปี ที่ผ่านมาแทบไม่มีคนรู้จัก เนื่องจากไม่มีบันทึกในพงศาวดาร ประวัติศาสตร์  เนื่องด้วยสถานที่นี้เก็บงำความบางอย่างที่คนรุ่นหลังอาจจะไม่มีทางได้รู้ ฉะนั้นเป็นเรื่องยากที่จะหาข้อมูลอะไรมาบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของวัดซึ่งอยู่ในสายตาของต้นราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 สิ้นยุคกรุงธนบุรี นักรบกู้ชาติชาวตะวันออก จากเมืองชลบุรี ระยอง แกลง จันทบูร และตราด ซึ่งติดตามรับใช้ พระเจ้าตากสิน เดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อประกอบอาชีพตามเดิม บ้างก็ถือศีลกินเจ บ้างก็ออกบวชตลอดชีวิต หนึ่งในนั้นคือ บิดาของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นคนบ้านกร่ำ เมืองแกลง 
    
ปี พ.ศ. 2350 ยุคสมัย รัชกาลที่ 1 สุนทรภู่ ขณะนั้นอายุราว 20 ปี ได้รับคำสั่งจากเจ้านายชั้นสูงวังหลังให้รีบออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลงด้วยภารกิจบางอย่าง บังเอิญครั้งนั้นสุนทรภู่ได้เขียนนิราศขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตนั่นคือ นิราศเมืองแกลง เพื่อเป็นการขอโทษหญิงสาวคนที่รักที่ต้องจากไปโดยไม่ทันลา ในนิราศเมืองแกลงได้บรรยายความนัยไว้หลายอย่าง ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าสุนทรภู่เดินทางมาปฏิบัติราชการ (ลับ)ที่เมืองแกลง ณ วัดเนินสระ (วัดราชบัลลังค์) และอยู่ถือศีลกินเจร่วมทำบุญกับบิดาซึ่งเป็น พระสังฆาธิการ เมืองแกลง ในพิธีสวดบำเพ็ญกุศลงานศพงานหนึ่งเป็นเวลาร่วม 3 เดือน
    
สำหรับสิ่งก่อสร้างโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่คือ พระอุโบสถเก่า และเจดีย์เก่าแก่พระอุโบสถเก่าสร้างขึ้นใน สมัยกรุงธนบุรี เป็นผนังก่ออิฐก่อปูน ซุ้มประตูหน้าต่างปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องถ้วยลายคราม กล่าวว่าเป็นผลงานสถาปัตยกรรมวัดกึ่งไทยกึ่งจีนที่วิจิตรงดงามมากแห่งหนึ่งในยุคนั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัยทำด้วยโครงหวายฉาบปูนเป็นพระประธาน (หลวงพ่อโครงหวาย) เชื่อกันว่าสร้างโดยพวกมอญที่อพยพที่เมืองราชบุรี (เกาะมอญ) สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีช่างมอญผู้มีฝีมือเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปโดยใช้หวายเส้นใหญ่สานเป็นโครงสร้างและใช้หวายเส้นเล็กสานเป็นรูปร่างแล้วใช้ปูนเปลือกหอยโบกทับโครงหวายแล้วค่อยตกแต่งใหม่อีกครั้ง เดิมทีวัดเนินสระ (วัดราชบัลลังค์) มีโรงเลี้ยงช้าง โรงทึม ศาลาเปรียญ และกุฏิสงฆ์ สร้างด้วยเสาไม้ตะเกาขนาดใหญ่ ยาวกว่า 10 เมตร เป็นจำนวนนับร้อยเสา แต่ละต้นเหลาโดยรอบขัดมันจนเป็นเสากลมวาดลวดลายจิตรกรรมไทย เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่วัดที่ชาวบ้านท้องถิ่นในยุคนั้นจะทำได้เจดีย์เก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลังพระอุโบสถ เจดีย์ทรงลังกาสูงกว่า 10 เมตร เดิมมีเสาไม้สูงปลายยอดเสาเป็นตัวหงส์ประดับ จำนวน 4 เสา ตั้งอยู่ล้อมรอบเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ โบราณเคยมีป้ายเขียนไว้เป็นคำกลอน มีคนเก่าแก่จำได้เพียงบางส่วนว่า สี่เสาขุนนางกราบไหว้ ทั้งหมดจึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าก่อนปี พ.ศ. 2350 ทุ่งเพลงต้องมีคนอาศัยอยู่มาก แต่ภายหลังชาวบ้านเชื่อกันว่าเกิดโรคระบาดอหิวาตกโรค (ห่า) หรือไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก หรือคนที่ยังมีชีวิตอยู่กลัวตายจึงอพยพไปอยู่ที่อื่น วัดเนินสระจึงปล่อยทิ้งร้าง มีหลักฐานอยู่บ้างก็คือ มีกระดูกคนที่เผาในป่าช้ายังเหลืออยู่บ้าง เพราะที่นั่นมิได้ทำนา ส่วนที่ต่ำลงไปก็เป็นที่นาทั้งสิ้น องค์การบริหารส่วนตำบลทางเกวียน สภาวัฒนธรรมตำบลทางเกวียนสภาวัฒนธรรมอำเภอแกลง จังหวัดระยองและวัดราชบัลลังค์ประดิษฐาวราราม จัดพิธีบรวงสรวงดวงวิญญาณ เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในวันที่ 28 ธันวาคมของทุก ๆ ปีอย่างยิ่งใหญ่มาโดยตลอด
ถ้ามีโอกาสเดิทางไปวัดราชบัลลังค์จะพบกับโบราณวัตถุ อาทิ อุโบสถเก่าแก่กว่าอายุ 300 ปี ศาลพระเจ้าตาก และศาลาที่พักรวมพลทหารพ่อสินริมแม่น้ำประแสร์ ที่พักอู่เรือทหาร บัลลังก์ที่ประทับจำลองแทนบัลลังก์เก่าที่นำไปไว้ที่พิพิธิภัณฑสถานแห่งชาติ เครื่องลายคราม ถ้วยชามไท และอื่น ๆ อีก มากมาย นับว่าเป็นอีกหนึ่งร่องรอยแห่งประวัติของ “พระเจ้าตากสินมหาราช”.


ขอบคุณพิเศษ นสพ เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

เที่ยวนครเขื่อนขันธ์ รอยรามัญที่พระประแดง

พูดถึง 'พระประแดง' จังหวัดสมุทรปราการ ถิ่นนี้มีเรื่องราว ความเป็นมา วิถีชีวิต

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เกินไปจนนักเที่ยวนึกไม่ถึง ทั้งที่พระประแดงมีเรื่องราวและสถานที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรม 'มอญ' เพราะพระประแดง เป็นถิ่นฐานคนมอญในสยามมานานนับร้อยปี

 ในหนังสือเรื่อง 'ภูมิศาสตร์สยาม' ของกรมตำรากระทรวงธรรมการ กล่าวถึงประวัติเมืองพระประแดงไว้ว่า เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำพระประแดงฝั่งซ้าย เป็นเมืองปากน้ำตั้งแต่ครั้งขอมเป็นใหญ่ คำว่า 'ประแดง' มาจากภาษาขอมว่า 'บาแดง' แปลว่า คนเดินหมาย คนนำข่าวสาร ซึ่งก็หมายความว่า เมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่าน มีหน้าที่ต้องแจ้งข่าวสารไปให้ราชธานีขอมที่ลพบุรี (ละโว้) นั่นเอง

            ต่อมาแผ่นดินงอกออกไป เมืองพระประแดงห่างจากปากน้ำออกไปทุกที จึงมีการโยกย้ายตั้งเมืองปากน้ำขึ้นใหม่เกิดเป็นเมืองสมุทรปราการ ต่อมาความจำเป็นทางการเมือง และความปลอดภัยของประเทศชาติมีมากขึ้น จึงมีการตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ กล่าวได้ว่า จังหวัดสมุทรปราการหรือเมืองปากน้ำ มีประวัติและอาณาเขตของเมือง สามเมืองรวมกันคือ เมืองพระประแดง เมืองนครเขื่อนขันธ์ และเมืองสมุทรปราการ ซึ่งล้วนเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญทางทะเลมาแต่ครั้งอดีต  

 เราเริ่มการเดินทางเที่ยวถิ่นพระประแดงทีนี้ที่ ป้อมแผลงไฟฟ้า เป็นป้อมปราการสร้างขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะรุกล้ำเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริว่า การป้อมปราการป้องกันข้าศึกจากปากน้ำหลายแห่งตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 นั้นยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี สมควรจะสร้างให้เสร็จและเห็นควรตั้งเมืองขึ้นเพื่อเป็นด่านป้องกันพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปกำกับการก่อสร้างเมืองและป้อมปราการขึ้น และรวมท้องที่แขวงพระนครและเมืองปากน้ำมาตั้งเมืองใหม่ชื่อ 'นครเขื่อนขันธ์' ให้สมิงทอมา เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์

 "สมัยก่อนเรามีการติดต่อทางทะเล มีการล่าอาณานิคม มีสงครามกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 จากบางกอกถึงปากน้ำมีการสร้างป้อมปราการถึง 24 ป้อม

 อาทิ ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร และบูรณะป้อมวิทยาคมที่สร้างครั้งรัชกาลที่ 1 ฝั่งตะวันตกสร้างป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรดและป้อมพระอาทิตย์-ป้อมพระจันทร์ เพื่อติดตั้งปืนใหญ่ในการต่อสู้ข้าศึกทางทะเล บริเวณริมแม่น้ำทำลูกทุ่นสายโซ่ขึงขวางแม่น้ำ เวลาปกติก็จะปล่อยให้โซ่จมน้ำไว้เพื่อให้เรือผ่านไปได้ แต่ถ้ามีเรือข้าศึกล้ำเข้ามาก็จะกว้านโซ่ให้ตึงเพื่อกันไม่ให้เรือข้าศึกล่วงล้ำเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยาได้" จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยามัคคุเทศก์ประจำทริป บอกเบาๆ

 ป้อมแผลงไฟฟ้า วันนี้หมดหน้าที่ในการป้องกันบ้านเมืองทางทะเล ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และทางเทศบาลเมืองพระประแดงได้ซ่อมแซมให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน (ขอกระซิบตรงนี้ว่าซ่อมเสียอีกทีให้เรียบร้อยก็จะดีไม่น้อย
ออกจากบรรยากาศยุทธนาวี เราเดินทางต่อไปหาความสงบที่ วัดประเสริฐสุทธาวาส เป็นวัดเก่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่องเก่าเล่ากันว่า เคยมีชาวจีนเลี้ยงหมูในแถบนั้นไปเก็บผักมาเลี้ยงหมู พบเงิน 3 ตุ่มจึงนำเงินนั้นมาบูรณปฏิสังขรณ์วัด จากนั้นจึงถวายวัดแด่รัชกาลที่ 3 ตามจารึกในพระอุโบสถเมื่อปี พ.ศ.2381 สันนิษฐานว่าจีนผู้นั้นคงจะเป็นคนเดียวกับพระประเสริฐวานิช (โป้) โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เมื่อคราวที่สร้างวัดเสร็จนั่นเอง

 สิ่งที่น่าสนใจในวัดคือ พระอุโบสถศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นศิลปะแบบจีน หน้าบันสวยงามลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กเขียนรอบผนัง 4 ด้าน

 ส่วนพระวิหารเป็นทรงโบราณแต่ปฏิสังขรณ์ใหม่ ที่หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบเช่นเดียวกับพระอุโบสถ พระประธานในพระวิหารเป็นพระพุทธรูป ศิลาทรายสีแดงลงรักปิดทองปางมารวิชัย มีนามว่า 'พระสร้อยสุวรรณรัตน์' และยังมีพระพุทธรูปโบราณศิลปะอยุธยาตอนปลายอีกหลายองค์

   ชมวัดเรียบร้อย ก่อนจากเราแวะไปที่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตราษฎร์บูรณะ ตั้งอยู่ภายในเขตโรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาสนั่นเอง เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมพื้นที่ไม่มาก แต่จัดบอกเล่าวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นของเขตราษฎร์บูรณะได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การตั้งถิ่นฐาน เรื่องของ 'สวนหมาก' เรื่องของย่านการค้า ที่มาของโกดังและท่าเรือ มาจนถึงการสร้างสะพานพระรามเก้าที่นำความเป็นชุมชนเมืองมาสู่ท้องถิ่น สิ่งที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ เทวรูปโบราณศิลปะลพบุรีและโบราณวัตถุสมัยลพบุรี รวมถึงบรรดาข้าวของเครื่องใช้โบราณที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน

  ถึงเช้านี้จะตื่นเช้าไปหน่อย แต่อากาศดี ลมไม่แรง แดดไม่ร้อน เลยยังไม่เหนื่อยไม่เมื่อยกันง่ายๆ เราไปต่อกันที่ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร วัดงามอีกแห่งในพระประแดง วัดไพชยนต์พลเสพย์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ประมาณ พ.ศ.2362 โดยกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้นริมคลองลัด

 สำหรับ ชื่อของ 'วัดไพชยนต์พลเสพย์' นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า คงจะเป็นนามใหม่ เดิมแรกเริ่มสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นเห็นจะเรียกกันว่า 'วัดกรมศักดิ์' หรือ 'วัดปากลัด' ถึงรัชกาลที่ 3 คนทั้งหลายคงจะเรียกว่า 'วัดวังหน้า' มาในรัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานนามว่า 'วัดไพชยนต์พลเสพย์' โดยคำว่า 'ไพชยนต์' น่าจะหมายถึง บุษบกยอดปรางค์ ซึ่งโปรดให้เป็นที่ประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถ และคำว่า 'พลเสพย์' มาจากสร้อยพระนามกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ผู้ทรงสร้างวัดและถวายบุษบกในสมัยรัชกาลที่ 3

 เที่ยววัดนี้ก็จะได้ชมความงามของพระอุโบสถและพระวิหารศิลปกรรมแบบจีน ที่หน้าบันรวมไปถึงซุ้มประตูและหน้าต่างใช้จาน ถ้วย ชามลายคราม กระเบื้องเคลือบ ประดับเป็นลวดลายดอกไม้อย่างวิจิตร ของเด็ดที่ 'วัดไพชยนต์พลเสพย์' แห่งนี้ ได้แก่ บุษบก มีลักษณะศิลปกรรมแบบรัตนโกสินทร์ฝีมือช่างวังหน้า บุษบกนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์มาก่อน ส่วนพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นบุทองปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนบุษบกจตุรมุขยอดปรางค์

 ยังไม่เหนื่อยกับการชมวัด เราเดินทางต่อไปยัง วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สร้างเมื่อ พ.ศ.2365 ในสมัยรัชกาลที่ 2 ผู้สร้างคือพระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ต้นสกุลเกตุทัต เดิมที่นั้นมีศาลาอยู่หลังหนึ่งติดกับปากคลองของเมือง ไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัยคงมีแต่พระพุทธรูป ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า 'วัดปากคลอง' ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้มาสร้างกุฏิอีก 1 คณะด้านทิศเหนือ และสร้างหอระฆังริมคลองลัดหลวง

 ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระอุโบสถมุงกระเบื้องมอญของเก่าทรงจีนไม่มีช่อฟ้าระกา หน้าบันประดับด้วยจานเครื่องลายคราม ภายในมีพระประธานปางมารวิชัย พระปางห้ามญาติ พระปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ

 ที่สำคัญ ที่นี่มีภาพจิตรกรรมของ 'ขรัวอินโข่ง' ช่างเขียนชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เป็นผู้ริเริ่มการเขียนภาพแบบตะวันตกเป็นคนแรกๆ และยังมีภาพจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่เคยถูกซ่อนในช่องตามผนังพระอุโบสถ เพิ่งมาค้นพบภายหลัง ถัดจากพระอุโบสถเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปั้นลงรักปิดทองขนาดใหญ่ ฝั่งตรงข้ามพระอุโบสถมีพระมณฑปกลางน้ำ พระประธานในพระมณฑปเป็นปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร สร้างจากศิลาแลง และมีรอยพระพุทธจำลองประดับมุกของเก่า บริเวณรอบพระมณฑป มีเก๋งจีนรอบเรียงราย และภายในเก๋งจีนมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ และมีพระปรางค์อยู่ระหว่างมุมทั้ง 4 มุม บริเวณภายนอกพระมณฑปมีสระน้ำล้อมรอบ

 ยังอยู่ที่วัด แต่เป็น 'วัด' ในคริสต์ศาสนา วัดดวงหทัยนิรมลของแม่พระ ดูสบายตาด้วยรูปแบบอาคารและการตกแต่งด้วยกระจกสี ตามประวัติบอกว่าในอดีตเคยมีคริสตังชาวจีนหลายครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากลัดโดยยึดอาชีพประมงและค้าขาย ต่อมาคุณพ่อดานิแอล เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ เคยมาเยี่ยมและประกาศพระวรสารในหมู่คนจีนเหล่านี้ ท่านได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งไว้และได้สร้างวัดหลังแรกเป็นวัดไม้ไผ่ในปี ค.ศ.1866 และให้วัดนี้อยู่ในความปกครองดูแลของวัดกาลหว่าร์

 กระทั่งในปี ค.ศ.1878-1907 คุณพ่อแดซาลล์เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์มาปกครอง ได้ติดต่อขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัด ซึ่งสำเร็จลุล่วงในปี ค.ศ. 1880 จึงได้รับพระราชทานที่ดิน และได้สร้างวัดเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงแข็งแรง หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงตัวอาคารเรื่อยมา จนถึงปี ค.ศ.1989 มีการจัดปรับปรุงพระแท่นและด้านหน้าของวัดด้วยหินอ่อนอย่างในปัจจุบัน

 ปิดท้ายรายการในบรรยากาศวัดมอญที่ วัดทรงธรรม พระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร วัดนี้เป็นวัดรามัญมาแต่เดิม รัชกาลที่ 2 โปรดให้กรมพระราชบวรมหาเสนานุรักษ์สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2357-2358 เพื่อให้ชาวรามัญที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลทางศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวรามัญเหล่านั้นด้วย พระราชทานนามว่า 'วัดทรงธรรม' เดิมวัดอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมามีการสร้างป้อมปราการริมน้ำชื่อว่า 'ป้อมเพชรหึง' จึงโปรดให้ย้ายวัดทรงธรรมเข้ามาอยู่ในเขตกำแพงเมืองเมื่อปี พ.ศ.2361

 ครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทรงทอดผ้าพระกฐิน ทรงเห็นว่าวัดชำรุดทรุดโทรมมากจึงโปรดให้ทำการปฏิสังขรณ์เสียใหม่ โดยรื้อกุฏิ รื้อพระอุโบสถเดิมสร้างใหม่เป็นแบบก่ออิฐถือปูน

 ที่เห็นเด่นเป็นสง่าบนลานวัด คือ 'พระมหารามัญเจดีย์' ฐานกว้าง 10 วา 2 ศอก สูง 10 วา 3 ศอก รายรอบด้วยโคมไฟรูป 'หงส์' สื่อถึงตำนานหงส์คู่เล่นน้ำที่ได้รับพุทธทำนายถึงการตั้งเมืองหงสาวดี ดินแดนมอญ สิ่งที่สนใจภายในวัดคือพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ และพระพุทธรูปยืนศิลปะล้านช้างในพระวิหาร และยังมีพระพุทธรูปโบราณที่งดงามด้วยพุทธศิลป์อีกหลายองค์

 ลมเริ่มรอน แดดเริ่มรา เป็นสัญญาว่าใกล้จะหมดวัน การเดินทางเก็บกลิ่นอายรามัญในนครเขื่อนขันธ์จึงยุติลงโดยปริยาย...เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้