วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

รู้เคล็ดลับฉบับผอมเพรียวเสมอต้นเสมอปลาย สไตล์ ‘หมอปู’

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมดุลชีวิต พิชิตพุง

 วิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน บวกกับกระแสสังคมและโลกสมัยใหม่ทำให้ทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเร่งรีบ ทำทุกอย่างเพื่อแข่งกับเวลาที่ดูเหมือนว่าจะมีไม่เคยพอในแต่ละวัน เพื่อแสวงหาความมั่นคงทางการงานและการเงิน จนภาวะ “ไม่มีเวลา” กลายเป็น ‘ภาวะจำยอม’ และข้ออ้างติดปากคนยุคนี้ไปแล้ว เป็นเหตุให้เราๆท่านๆนอกจากจะ ‘ไม่มีเวลา’ แล้ว ยังพาลป่วยใจ (เครียด) และป่วยกาย (เป็นได้สารพัดโรค รวมทั้งโรคอ้วน) ตามมาด้วย
   ปัญหาที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือการ “มี” แต่ “เวลารับประทาน” กับเวลาทำงาน จนพาลไม่มีเวลาออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่ร่างกายได้รับเข้าไป ดังนั้นจะไปโทษความผิดปกติของฮอร์โมน เช่นในกรณีของผู้ป่วยซึ่งต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ เป็นเหตุให้อัตราการเผาผลาญอาหารลดลงจนเกิดเป็นภาวะน้ำหนักเกินตามมานั้น คงจะไม่ได้ เนื่องจากกรณีเช่นนี้มีให้เห็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ครั้นจะหันไปโทษอาหาร จำเลยขาประจำของภาวะโรคอ้วน ก็คงจะต้องย้อนถามกันซื่อๆว่า “อาหารเดินเข้าปากเราเองได้ด้วยหรือ?” สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคอ้วนจึงมีต้นตอมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุล
   ทันตแพทย์หญิง อัชญา แย้มสุคนธ์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ว่าเราจะได้รับข้อมูลหลากหลายเกี่ยวกับหลักโภชนาการและความสำคัญของการออกกำลังกาย หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความอยาก’ ไม่เข้าใครออกใคร คนส่วนใหญ่จึงมักตกอยู่ในวังวนของการรับประทานตามใจ ‘อยาก’ อย่างมีความสุขสลับกับความทุกข์จากการพยายามลดน้ำหนักอย่างสุดโต่ง เมื่อพบว่ากางเกงยีนส์ตัวเก่งนั้นเล็กไปสำหรับรอบเอวของเราเสียแล้ว!
   สภาพเช่นนี้ชวนให้นึกถึงภาพของตัวเองเมื่อตอนที่หันหลังให้กับวงการยิมนาสติกลีลาใหม่ หลังจากที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักยิมนาสติกไทยไปแข่งขันในระดับเอเชี่ยนเกม เมื่อปี 2541
   ด้วยความที่ต้องสะกดกลั้น ‘ความอยาก’ (อาหาร) มาตลอดช่วงอายุการเป็นนักกีฬายิมนาสติกระดับนานาชาติ เพราะรูปร่างสำคัญไม่แพ้ฝีมือเลยทีเดียวสำหรับกีฬาประเภทนี้ ประกอบกับวินัยด้านการบริโภคและการฝึกซ้อม ตลอดจนบทลงโทษที่เข้มงวดมาก ทำให้ทั้งตัวหมอ และเพื่อนนักกีฬารุ่นเดียวกันถึงกับตะบะแตก กระโดดเข้าใส่อาหาร โดยเฉพาะขนมหวานและขนมขบเคี้ยวทุกประเภท ที่ไม่เคยได้แตะมาก่อนในชีวิตการเป็นนักกีฬาทันทีที่หันหลังให้กับกีฬาประเภทนี้
    พฤติกรรมการบริโภคและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และวินัยที่หย่อนยานลงนี้เองทำให้น้ำหนักตัวของหมอและเพื่อนๆพุ่งพรวดขึ้นมาจากน้ำหนักตัวเดิมร่วมสิบกิโลกรัมภายในระยะเวลาเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ผลกระทบที่ตามมาแบบติดๆคือสุขภาพและสมรรถภาพทางกายที่ถดถอยลง รวมถึงสุขภาพจิตที่พลอยย่ำแย่ตามไปด้วย เพราะความเครียดอันเนื่องมาจากสภาพร่างกายที่เริ่มจะย้วย และความต้องการที่จะลดน้ำหนักลงมาให้ได้เท่าเดิม ซึ่งเมื่อคำณวนจากปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับจากพฤติกรรมการบริโภคตาม ‘ใจอยาก’ ของตัวเอง และพลังงานที่เผาผลาญได้ในแต่ละวันแล้ว การจะลดน้ำหนักลง และคงน้ำหนักตัวในระดับที่สมดุลไว้นั้นถือเป็น ‘Mission Impossible’ เลยก็ว่าได้
    ต่อเมื่อหยุด และพิจารณาดูพฤติกรรมของตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรม จึงตระหนักได้ว่าการบริโภคและใช้วิถีชีวิตอย่างสมดุลย์โดยยึด ‘ทางสายกลาง’ เป็นที่ตั้งต่างหาก คือ สูตรสำเร็จแห่งการบริหาร ‘ความอยาก’ อาหาร ซึ่งมักจะสวนทางกับ ‘ความอยาก’ มีรูปร่างและสุขภาพที่ดี อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้อง ‘ทนอด’ หรือโหมลดน้ำหนักให้หนักใจ
ดังนั้นริจะ Enjoy Eating ทั้งที ก็ต้องปรับวิถีชีวิตให้สมดุลย์กับพลังงานจากอาหารที่เราเลือกรับประทานด้วย จึงจะเพรียวลมเสมอต้นเสมอปลายได้ อย่างมีสุขภาพ