วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

ตามรอยเส้นทางเดินทัพ 'สมเด็จพระเจ้าตากสิน'

ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าคำว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คำสามคำนี้มิใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนธงไตรรงค์เท่านั้น หากเป็นคำสามคำที่หลอมรวมจิตใจของชาวไทยทุกผู้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาทุกยุคทุกสมัยย้อนไปเมื่อ 200 ปีจากเหตุการณ์สูญเสียกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ. 2310 บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้ศูนย์อำนาจปกครองด้วยสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดนั้น หากไม่ได้พระมหากษัติรย์ที่ทรงมีน้ำพระทัยเด็ดเดี่ยว แกล้วกล้า และเสียสละ เยี่ยงสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้วก็จะไม่มีแผ่นดินไทยอย่างปัจจุบันนี้
    
วัดราชบัลลังค์ประดิษฐาวราราม หรือชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า วัดทะเลน้อยตามชื่อหมู่บ้านในปัจจุบัน ตั้งอยู่หมู่ 6 ต.บ้านนา อ.แกลง จ.ระยอง สันนิษฐานว่าแรกเริ่มเป็นวัดที่ พระเจ้าตากสิน ให้ชาวบ้านสร้างขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต วีรกรรมทุ่งเพลงบ้านทะเลน้อย ในครั้งก่อนเข้าตี เมืองจันทบูร ราวเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากทรงช้างพระที่นั่ง คีรีบัญชร พร้อมพลทหารล้อมทหารยกทัพออกจากเมืองระยอง มาตั้งค่ายพักที่ วัดเนินสระ (วัดราชบัลลังค์) เมืองแกลง ณ ที่แห่งนี้ พระเจ้าตาก ได้ทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อ กอบกู้บ้านเมืองและแผ่นดิน เป็นนิมิตหมายอันดีในการที่จะเริ่มภารกิจแรก ซึ่งเป็นภารกิจชี้ชะตา ชี้เป็นชี้ตายที่สุดในครั้งนี้นั่นคือ “การทุบหม้อข้าวหม้อแกง แล้วเข้าตีเมืองจันทบูร” หลังจากพระเจ้าตากสินได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวงมีพระภิกษุจำพรรษา มีพระผู้ใหญ่หลายรูป  จวบจนปี พ.ศ. 2325 สิ้นยุคกรุงธนบุรี ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป
    
วัดเนินสระ (วัดราชบัลลังค์ ) ณ บ้านตอกตากสิน ชื่อนี้สถานที่นี้ตลอดระยะเวลา 300 ปี ที่ผ่านมาแทบไม่มีคนรู้จัก เนื่องจากไม่มีบันทึกในพงศาวดาร ประวัติศาสตร์  เนื่องด้วยสถานที่นี้เก็บงำความบางอย่างที่คนรุ่นหลังอาจจะไม่มีทางได้รู้ ฉะนั้นเป็นเรื่องยากที่จะหาข้อมูลอะไรมาบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของวัดซึ่งอยู่ในสายตาของต้นราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 สิ้นยุคกรุงธนบุรี นักรบกู้ชาติชาวตะวันออก จากเมืองชลบุรี ระยอง แกลง จันทบูร และตราด ซึ่งติดตามรับใช้ พระเจ้าตากสิน เดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อประกอบอาชีพตามเดิม บ้างก็ถือศีลกินเจ บ้างก็ออกบวชตลอดชีวิต หนึ่งในนั้นคือ บิดาของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นคนบ้านกร่ำ เมืองแกลง 
    
ปี พ.ศ. 2350 ยุคสมัย รัชกาลที่ 1 สุนทรภู่ ขณะนั้นอายุราว 20 ปี ได้รับคำสั่งจากเจ้านายชั้นสูงวังหลังให้รีบออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลงด้วยภารกิจบางอย่าง บังเอิญครั้งนั้นสุนทรภู่ได้เขียนนิราศขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตนั่นคือ นิราศเมืองแกลง เพื่อเป็นการขอโทษหญิงสาวคนที่รักที่ต้องจากไปโดยไม่ทันลา ในนิราศเมืองแกลงได้บรรยายความนัยไว้หลายอย่าง ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าสุนทรภู่เดินทางมาปฏิบัติราชการ (ลับ)ที่เมืองแกลง ณ วัดเนินสระ (วัดราชบัลลังค์) และอยู่ถือศีลกินเจร่วมทำบุญกับบิดาซึ่งเป็น พระสังฆาธิการ เมืองแกลง ในพิธีสวดบำเพ็ญกุศลงานศพงานหนึ่งเป็นเวลาร่วม 3 เดือน
    
สำหรับสิ่งก่อสร้างโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่คือ พระอุโบสถเก่า และเจดีย์เก่าแก่พระอุโบสถเก่าสร้างขึ้นใน สมัยกรุงธนบุรี เป็นผนังก่ออิฐก่อปูน ซุ้มประตูหน้าต่างปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องถ้วยลายคราม กล่าวว่าเป็นผลงานสถาปัตยกรรมวัดกึ่งไทยกึ่งจีนที่วิจิตรงดงามมากแห่งหนึ่งในยุคนั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัยทำด้วยโครงหวายฉาบปูนเป็นพระประธาน (หลวงพ่อโครงหวาย) เชื่อกันว่าสร้างโดยพวกมอญที่อพยพที่เมืองราชบุรี (เกาะมอญ) สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีช่างมอญผู้มีฝีมือเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปโดยใช้หวายเส้นใหญ่สานเป็นโครงสร้างและใช้หวายเส้นเล็กสานเป็นรูปร่างแล้วใช้ปูนเปลือกหอยโบกทับโครงหวายแล้วค่อยตกแต่งใหม่อีกครั้ง เดิมทีวัดเนินสระ (วัดราชบัลลังค์) มีโรงเลี้ยงช้าง โรงทึม ศาลาเปรียญ และกุฏิสงฆ์ สร้างด้วยเสาไม้ตะเกาขนาดใหญ่ ยาวกว่า 10 เมตร เป็นจำนวนนับร้อยเสา แต่ละต้นเหลาโดยรอบขัดมันจนเป็นเสากลมวาดลวดลายจิตรกรรมไทย เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่วัดที่ชาวบ้านท้องถิ่นในยุคนั้นจะทำได้เจดีย์เก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลังพระอุโบสถ เจดีย์ทรงลังกาสูงกว่า 10 เมตร เดิมมีเสาไม้สูงปลายยอดเสาเป็นตัวหงส์ประดับ จำนวน 4 เสา ตั้งอยู่ล้อมรอบเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ โบราณเคยมีป้ายเขียนไว้เป็นคำกลอน มีคนเก่าแก่จำได้เพียงบางส่วนว่า สี่เสาขุนนางกราบไหว้ ทั้งหมดจึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าก่อนปี พ.ศ. 2350 ทุ่งเพลงต้องมีคนอาศัยอยู่มาก แต่ภายหลังชาวบ้านเชื่อกันว่าเกิดโรคระบาดอหิวาตกโรค (ห่า) หรือไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก หรือคนที่ยังมีชีวิตอยู่กลัวตายจึงอพยพไปอยู่ที่อื่น วัดเนินสระจึงปล่อยทิ้งร้าง มีหลักฐานอยู่บ้างก็คือ มีกระดูกคนที่เผาในป่าช้ายังเหลืออยู่บ้าง เพราะที่นั่นมิได้ทำนา ส่วนที่ต่ำลงไปก็เป็นที่นาทั้งสิ้น องค์การบริหารส่วนตำบลทางเกวียน สภาวัฒนธรรมตำบลทางเกวียนสภาวัฒนธรรมอำเภอแกลง จังหวัดระยองและวัดราชบัลลังค์ประดิษฐาวราราม จัดพิธีบรวงสรวงดวงวิญญาณ เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในวันที่ 28 ธันวาคมของทุก ๆ ปีอย่างยิ่งใหญ่มาโดยตลอด
ถ้ามีโอกาสเดิทางไปวัดราชบัลลังค์จะพบกับโบราณวัตถุ อาทิ อุโบสถเก่าแก่กว่าอายุ 300 ปี ศาลพระเจ้าตาก และศาลาที่พักรวมพลทหารพ่อสินริมแม่น้ำประแสร์ ที่พักอู่เรือทหาร บัลลังก์ที่ประทับจำลองแทนบัลลังก์เก่าที่นำไปไว้ที่พิพิธิภัณฑสถานแห่งชาติ เครื่องลายคราม ถ้วยชามไท และอื่น ๆ อีก มากมาย นับว่าเป็นอีกหนึ่งร่องรอยแห่งประวัติของ “พระเจ้าตากสินมหาราช”.


ขอบคุณพิเศษ นสพ เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th