วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

เที่ยวนครเขื่อนขันธ์ รอยรามัญที่พระประแดง

พูดถึง 'พระประแดง' จังหวัดสมุทรปราการ ถิ่นนี้มีเรื่องราว ความเป็นมา วิถีชีวิต

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เกินไปจนนักเที่ยวนึกไม่ถึง ทั้งที่พระประแดงมีเรื่องราวและสถานที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรม 'มอญ' เพราะพระประแดง เป็นถิ่นฐานคนมอญในสยามมานานนับร้อยปี

 ในหนังสือเรื่อง 'ภูมิศาสตร์สยาม' ของกรมตำรากระทรวงธรรมการ กล่าวถึงประวัติเมืองพระประแดงไว้ว่า เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำพระประแดงฝั่งซ้าย เป็นเมืองปากน้ำตั้งแต่ครั้งขอมเป็นใหญ่ คำว่า 'ประแดง' มาจากภาษาขอมว่า 'บาแดง' แปลว่า คนเดินหมาย คนนำข่าวสาร ซึ่งก็หมายความว่า เมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่าน มีหน้าที่ต้องแจ้งข่าวสารไปให้ราชธานีขอมที่ลพบุรี (ละโว้) นั่นเอง

            ต่อมาแผ่นดินงอกออกไป เมืองพระประแดงห่างจากปากน้ำออกไปทุกที จึงมีการโยกย้ายตั้งเมืองปากน้ำขึ้นใหม่เกิดเป็นเมืองสมุทรปราการ ต่อมาความจำเป็นทางการเมือง และความปลอดภัยของประเทศชาติมีมากขึ้น จึงมีการตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ กล่าวได้ว่า จังหวัดสมุทรปราการหรือเมืองปากน้ำ มีประวัติและอาณาเขตของเมือง สามเมืองรวมกันคือ เมืองพระประแดง เมืองนครเขื่อนขันธ์ และเมืองสมุทรปราการ ซึ่งล้วนเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญทางทะเลมาแต่ครั้งอดีต  

 เราเริ่มการเดินทางเที่ยวถิ่นพระประแดงทีนี้ที่ ป้อมแผลงไฟฟ้า เป็นป้อมปราการสร้างขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะรุกล้ำเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริว่า การป้อมปราการป้องกันข้าศึกจากปากน้ำหลายแห่งตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 นั้นยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี สมควรจะสร้างให้เสร็จและเห็นควรตั้งเมืองขึ้นเพื่อเป็นด่านป้องกันพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปกำกับการก่อสร้างเมืองและป้อมปราการขึ้น และรวมท้องที่แขวงพระนครและเมืองปากน้ำมาตั้งเมืองใหม่ชื่อ 'นครเขื่อนขันธ์' ให้สมิงทอมา เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์

 "สมัยก่อนเรามีการติดต่อทางทะเล มีการล่าอาณานิคม มีสงครามกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 จากบางกอกถึงปากน้ำมีการสร้างป้อมปราการถึง 24 ป้อม

 อาทิ ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร และบูรณะป้อมวิทยาคมที่สร้างครั้งรัชกาลที่ 1 ฝั่งตะวันตกสร้างป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรดและป้อมพระอาทิตย์-ป้อมพระจันทร์ เพื่อติดตั้งปืนใหญ่ในการต่อสู้ข้าศึกทางทะเล บริเวณริมแม่น้ำทำลูกทุ่นสายโซ่ขึงขวางแม่น้ำ เวลาปกติก็จะปล่อยให้โซ่จมน้ำไว้เพื่อให้เรือผ่านไปได้ แต่ถ้ามีเรือข้าศึกล้ำเข้ามาก็จะกว้านโซ่ให้ตึงเพื่อกันไม่ให้เรือข้าศึกล่วงล้ำเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยาได้" จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยามัคคุเทศก์ประจำทริป บอกเบาๆ

 ป้อมแผลงไฟฟ้า วันนี้หมดหน้าที่ในการป้องกันบ้านเมืองทางทะเล ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และทางเทศบาลเมืองพระประแดงได้ซ่อมแซมให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน (ขอกระซิบตรงนี้ว่าซ่อมเสียอีกทีให้เรียบร้อยก็จะดีไม่น้อย
ออกจากบรรยากาศยุทธนาวี เราเดินทางต่อไปหาความสงบที่ วัดประเสริฐสุทธาวาส เป็นวัดเก่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่องเก่าเล่ากันว่า เคยมีชาวจีนเลี้ยงหมูในแถบนั้นไปเก็บผักมาเลี้ยงหมู พบเงิน 3 ตุ่มจึงนำเงินนั้นมาบูรณปฏิสังขรณ์วัด จากนั้นจึงถวายวัดแด่รัชกาลที่ 3 ตามจารึกในพระอุโบสถเมื่อปี พ.ศ.2381 สันนิษฐานว่าจีนผู้นั้นคงจะเป็นคนเดียวกับพระประเสริฐวานิช (โป้) โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เมื่อคราวที่สร้างวัดเสร็จนั่นเอง

 สิ่งที่น่าสนใจในวัดคือ พระอุโบสถศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นศิลปะแบบจีน หน้าบันสวยงามลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กเขียนรอบผนัง 4 ด้าน

 ส่วนพระวิหารเป็นทรงโบราณแต่ปฏิสังขรณ์ใหม่ ที่หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบเช่นเดียวกับพระอุโบสถ พระประธานในพระวิหารเป็นพระพุทธรูป ศิลาทรายสีแดงลงรักปิดทองปางมารวิชัย มีนามว่า 'พระสร้อยสุวรรณรัตน์' และยังมีพระพุทธรูปโบราณศิลปะอยุธยาตอนปลายอีกหลายองค์

   ชมวัดเรียบร้อย ก่อนจากเราแวะไปที่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตราษฎร์บูรณะ ตั้งอยู่ภายในเขตโรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาสนั่นเอง เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมพื้นที่ไม่มาก แต่จัดบอกเล่าวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นของเขตราษฎร์บูรณะได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การตั้งถิ่นฐาน เรื่องของ 'สวนหมาก' เรื่องของย่านการค้า ที่มาของโกดังและท่าเรือ มาจนถึงการสร้างสะพานพระรามเก้าที่นำความเป็นชุมชนเมืองมาสู่ท้องถิ่น สิ่งที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ เทวรูปโบราณศิลปะลพบุรีและโบราณวัตถุสมัยลพบุรี รวมถึงบรรดาข้าวของเครื่องใช้โบราณที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน

  ถึงเช้านี้จะตื่นเช้าไปหน่อย แต่อากาศดี ลมไม่แรง แดดไม่ร้อน เลยยังไม่เหนื่อยไม่เมื่อยกันง่ายๆ เราไปต่อกันที่ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร วัดงามอีกแห่งในพระประแดง วัดไพชยนต์พลเสพย์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ประมาณ พ.ศ.2362 โดยกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้นริมคลองลัด

 สำหรับ ชื่อของ 'วัดไพชยนต์พลเสพย์' นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า คงจะเป็นนามใหม่ เดิมแรกเริ่มสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นเห็นจะเรียกกันว่า 'วัดกรมศักดิ์' หรือ 'วัดปากลัด' ถึงรัชกาลที่ 3 คนทั้งหลายคงจะเรียกว่า 'วัดวังหน้า' มาในรัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานนามว่า 'วัดไพชยนต์พลเสพย์' โดยคำว่า 'ไพชยนต์' น่าจะหมายถึง บุษบกยอดปรางค์ ซึ่งโปรดให้เป็นที่ประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถ และคำว่า 'พลเสพย์' มาจากสร้อยพระนามกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ผู้ทรงสร้างวัดและถวายบุษบกในสมัยรัชกาลที่ 3

 เที่ยววัดนี้ก็จะได้ชมความงามของพระอุโบสถและพระวิหารศิลปกรรมแบบจีน ที่หน้าบันรวมไปถึงซุ้มประตูและหน้าต่างใช้จาน ถ้วย ชามลายคราม กระเบื้องเคลือบ ประดับเป็นลวดลายดอกไม้อย่างวิจิตร ของเด็ดที่ 'วัดไพชยนต์พลเสพย์' แห่งนี้ ได้แก่ บุษบก มีลักษณะศิลปกรรมแบบรัตนโกสินทร์ฝีมือช่างวังหน้า บุษบกนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์มาก่อน ส่วนพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นบุทองปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนบุษบกจตุรมุขยอดปรางค์

 ยังไม่เหนื่อยกับการชมวัด เราเดินทางต่อไปยัง วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สร้างเมื่อ พ.ศ.2365 ในสมัยรัชกาลที่ 2 ผู้สร้างคือพระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ต้นสกุลเกตุทัต เดิมที่นั้นมีศาลาอยู่หลังหนึ่งติดกับปากคลองของเมือง ไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัยคงมีแต่พระพุทธรูป ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า 'วัดปากคลอง' ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้มาสร้างกุฏิอีก 1 คณะด้านทิศเหนือ และสร้างหอระฆังริมคลองลัดหลวง

 ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระอุโบสถมุงกระเบื้องมอญของเก่าทรงจีนไม่มีช่อฟ้าระกา หน้าบันประดับด้วยจานเครื่องลายคราม ภายในมีพระประธานปางมารวิชัย พระปางห้ามญาติ พระปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ

 ที่สำคัญ ที่นี่มีภาพจิตรกรรมของ 'ขรัวอินโข่ง' ช่างเขียนชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เป็นผู้ริเริ่มการเขียนภาพแบบตะวันตกเป็นคนแรกๆ และยังมีภาพจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่เคยถูกซ่อนในช่องตามผนังพระอุโบสถ เพิ่งมาค้นพบภายหลัง ถัดจากพระอุโบสถเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปั้นลงรักปิดทองขนาดใหญ่ ฝั่งตรงข้ามพระอุโบสถมีพระมณฑปกลางน้ำ พระประธานในพระมณฑปเป็นปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร สร้างจากศิลาแลง และมีรอยพระพุทธจำลองประดับมุกของเก่า บริเวณรอบพระมณฑป มีเก๋งจีนรอบเรียงราย และภายในเก๋งจีนมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ และมีพระปรางค์อยู่ระหว่างมุมทั้ง 4 มุม บริเวณภายนอกพระมณฑปมีสระน้ำล้อมรอบ

 ยังอยู่ที่วัด แต่เป็น 'วัด' ในคริสต์ศาสนา วัดดวงหทัยนิรมลของแม่พระ ดูสบายตาด้วยรูปแบบอาคารและการตกแต่งด้วยกระจกสี ตามประวัติบอกว่าในอดีตเคยมีคริสตังชาวจีนหลายครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากลัดโดยยึดอาชีพประมงและค้าขาย ต่อมาคุณพ่อดานิแอล เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ เคยมาเยี่ยมและประกาศพระวรสารในหมู่คนจีนเหล่านี้ ท่านได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งไว้และได้สร้างวัดหลังแรกเป็นวัดไม้ไผ่ในปี ค.ศ.1866 และให้วัดนี้อยู่ในความปกครองดูแลของวัดกาลหว่าร์

 กระทั่งในปี ค.ศ.1878-1907 คุณพ่อแดซาลล์เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์มาปกครอง ได้ติดต่อขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัด ซึ่งสำเร็จลุล่วงในปี ค.ศ. 1880 จึงได้รับพระราชทานที่ดิน และได้สร้างวัดเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงแข็งแรง หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงตัวอาคารเรื่อยมา จนถึงปี ค.ศ.1989 มีการจัดปรับปรุงพระแท่นและด้านหน้าของวัดด้วยหินอ่อนอย่างในปัจจุบัน

 ปิดท้ายรายการในบรรยากาศวัดมอญที่ วัดทรงธรรม พระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร วัดนี้เป็นวัดรามัญมาแต่เดิม รัชกาลที่ 2 โปรดให้กรมพระราชบวรมหาเสนานุรักษ์สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2357-2358 เพื่อให้ชาวรามัญที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลทางศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวรามัญเหล่านั้นด้วย พระราชทานนามว่า 'วัดทรงธรรม' เดิมวัดอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมามีการสร้างป้อมปราการริมน้ำชื่อว่า 'ป้อมเพชรหึง' จึงโปรดให้ย้ายวัดทรงธรรมเข้ามาอยู่ในเขตกำแพงเมืองเมื่อปี พ.ศ.2361

 ครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทรงทอดผ้าพระกฐิน ทรงเห็นว่าวัดชำรุดทรุดโทรมมากจึงโปรดให้ทำการปฏิสังขรณ์เสียใหม่ โดยรื้อกุฏิ รื้อพระอุโบสถเดิมสร้างใหม่เป็นแบบก่ออิฐถือปูน

 ที่เห็นเด่นเป็นสง่าบนลานวัด คือ 'พระมหารามัญเจดีย์' ฐานกว้าง 10 วา 2 ศอก สูง 10 วา 3 ศอก รายรอบด้วยโคมไฟรูป 'หงส์' สื่อถึงตำนานหงส์คู่เล่นน้ำที่ได้รับพุทธทำนายถึงการตั้งเมืองหงสาวดี ดินแดนมอญ สิ่งที่สนใจภายในวัดคือพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ และพระพุทธรูปยืนศิลปะล้านช้างในพระวิหาร และยังมีพระพุทธรูปโบราณที่งดงามด้วยพุทธศิลป์อีกหลายองค์

 ลมเริ่มรอน แดดเริ่มรา เป็นสัญญาว่าใกล้จะหมดวัน การเดินทางเก็บกลิ่นอายรามัญในนครเขื่อนขันธ์จึงยุติลงโดยปริยาย...เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้