วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

"รางวัลศิลปินแห่งชาติ ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ


"รางวัลศิลปินแห่งชาติเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่สูงสุดในชีวิต และเป็นเกียรติประวัติของตระกูลก็ว่าได้"

คำกล่าวของ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ คนล่าสุด ปี 2553 นางประนอม ทาแปง ในงาน "สัปดาห์ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2554" ที่กระทรวงวัฒน ธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดขึ้นเพื่อยก ย่องเชิดชูเกียรติ 9 ศิลปินแห่งชาติ ใน 3 สาขา พร้อมเผยแพร่ผลงานของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง

แม่ประนอม วัย 56 ปี เป็นชาวบ้านนามน ต.หัวทุ่ง อ.ลอง จ.แพร่ เริ่มทอผ้าตั้งแต่อายุ 12 ปี ครูคนแรกคือมารดา นางแก้วมูล ต่อมาได้เรียนรู้การทอผ้าตีนจกโบราณเมืองลอง จากป้า นางบุญยวม อุปถัมภ์

เธอมีความมานะพยายาม และมีความสามารถด้านการทอผ้าเป็นเลิศ โดยเฉพาะผ้าตีนจกที่งดงาม ทั้งยังอนุรักษ์ลวดลายโบราณ และคิดค้นเทคนิคใหม่มาถ่ายทอดให้ผู้เรียนเข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย เช่น การใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เขาฟืม ในการเก็บลายตีนจก ทำให้ลายโบราณตกทอดมาจนถึงปัจจุบันมากมาย เช่น ลายผักแว่น ลายขอไล่ ลายงวงน้ำคุ ลายนกกินน้ำต้น ฯลฯ ซึ่งเป็นลวดลายของเมืองลองแท้ๆ ทั้งยังประยุกต์นำลวดลายของจังหวัดทางภาคเหนืออื่นๆ เข้ามาอย่างกลมกลืน
และด้วยมีการสร้างสรรค์ผลงานที่อ่อนช้อยงดงาม ไม่ซ้ำแบบใคร งานศิลป์จากสองมือแม่ประนอม ได้รับการยอมรับแถมยังคว้ารางวัลมากมายเป็นเครื่องการันตี ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีเธอยังคงเดินหน้าอนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าตีนจกอย่างแข็งขัน

"นอกจากลวดลายและสีสันที่มีเสน่ห์ของผ้าทอแล้ว ผู้ทอได้ส่งจิตวิญญาณ ความตั้งใจสู่ผืนผ้า ถ้าไม่มีสมาธิความตั้งใจก็จะไม่สำเร็จเป็นผืนที่งดงาม นี่เป็นความภูมิใจและคุณค่าที่แฝงอยู่ในผ้าไทยของเรา" แม่ประนอม บอกเล่า พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์ผ้าทอในปัจจุบันว่า

มีผ้าทอเครื่องที่เป็นอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่งานฝีมือมากยิ่งขึ้น แต่เราก็ต้องทำให้เห็นความแตกต่างของผ้าทอมือกับผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักร นอกจากการอธิบายให้เห็นความต่างแล้ว เราต้องสร้างสรรค์ลวดลายให้โดดเด่นและวิจิตรพิสดารมากยิ่งขึ้น

แม่ประนอมที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้อนุรักษ์สืบสานและพัฒนาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านครบวงจร ด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกคราม ทอผ้า ย้อมสีเอง รวมถึงการออกแบบตัดเย็บสร้างรายได้ให้กับชุมชน กล่าวต่อว่า ตลาดผ้าทอยังไปได้เรื่อยๆ และตอนนี้การย้อมด้วยสีธรรมชาติยังได้รับความนิยมอยู่ ไม่ซบเซา สีที่มาจากธรรมชาติได้มาจากต้นไม้ เปลือกไม้ สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว โดยไม่ต้องไปลงทุนซื้อสารเคมีมาใช้ ส่วนใหญ่จะปลูกเอง ทำเอง เศรษฐกิจพอเพียง ปลอดสารพิษปลอดภัยกับผู้สวมใส
ศิลปินแห่งชาติ กล่าวต่อว่า โครงการกลุ่มสตรีทอผ้าเกิดขึ้นได้และเป็นที่รู้จัก ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริม เริ่มแรกที่ทำอยู่พอทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จฯ แจกธงลูกเสือชาวบ้านที่จ.แพร่ ก็ไปเฝ้าฯ รับเสด็จและนำผ้าทอทูลเกล้าฯ ถวาย ท่านตรัสถามว่า เป็นของเมืองแพร่เองหรือ ใครสอน ชอบทำไหม จะส่งลายสวยๆ มาให้ เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำขึ้นและถ่ายทอด


หลังเสด็จฯ กลับ คณะผู้แทนพระองค์นำผ้าที่เราถวายมาบอกว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงโปรดให้ทอกันเยอะๆ จะรับซื้อ พร้อมให้เงินผู้ใหญ่บ้านไว้ 2,000 บาท จึงจัดตั้งกลุ่มเริ่มแรก คือ "กลุ่มสตรีทอผ้าตีนจก" ปี 2523 มีชาวบ้านสมาชิกรวมตัวกัน 12 คนเท่านั้น สอนทอและส่งเข้าไปในวังก็ส่งเงินมาให้ สมัยนั้นชาวบ้านยากจนมาก พอท่านส่งเสริมชาวบ้านก็มีรายได้ มีงานทำ เลี้ยงชีพได้ ส่งลูกส่งหลานให้ได้เรียนหนังสือ งานฝีมือตรงนี้ถ้าได้ทำไม่อดตายจริงๆ เหมือนที่ทำอยู่ ถ้าทำด้วยใจรักสิ่งเหล่านี้จะมาเอง

ถ้าเราคิดท้อยามใด ก็คิดถึงครั้งที่พระองค์ท่านช่วยเหลือพวกเรา เราก็ต้องช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ มีงานทำ เราเองก็ภาคภูมิใจที่นอกจากได้ช่วยเหลือชุมชนแล้วยังสนองพระมหากรุณาธิคุณอีกด้วย

คนที่ทำงานด้วยใจรักจะไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะเป็นงานที่รักที่ชอบ จึงตั้งใจทำและเลือกที่จะทำ และไม่ได้ทำแบบหักโหม"

ปัจจุบันแม่ประนอม ยังคงมุ่งมั่นถ่าย ทอดภูมิปัญญามรดกทางวัฒนธรรมของคนเมืองลอง ที่ "ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง และการย้อมผ้าสีครามธรรมชาติ" ให้ผู้สนใจรวมถึงเด็กและเยาวชน

และสิ่งที่ยังคงทำอยู่สม่ำเสมอคือ การทอผ้าจกผืนที่ยาวที่สุด ศิลปินแห่งชาติ เล่าว่า เริ่มแรกผ้ามีลายโบราณติดอยู่ซึ่งไม่เต็มดอก จึงคิดลวดลายเพิ่ม พอทำขึ้นมาแล้วสวยงามจึงตั้งใจจะทำไปตลอดชีวิต ทำไปเรื่อยๆ ตอนนี้ความยาวอยู่ที่ 120 เมตร ใช้เวลาทอประมาณ 30 กว่าปีแล้ว

ทั้งยังตั้งใจว่า ต้องถ่ายทอดผลงานให้คนรุ่นหลังรู้คุณค่าผ้าไทยของเรา ช่วยกันสืบทอดอนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นของดีของบ้านเราซึ่งต่างประเทศไม่มีที่ไหนเหมือน เป็นงานฝีมือที่ละเอียดอ่อนสวยงาม ต้องช่วยกันรักษาสืบทอด อย่าให้สูญหาย "แม่ยินดีถ่ายทอดให้คนที่สนใจมาเรียนรู้ได้"

ถามว่ารางวัลครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จหรือยัง

แม่ประนอม บอกว่า "ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุด แต่เราต้องไขว่คว้าที่จะเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าอยู่อีกมาก ไม่ได้จบแค่นี้ เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือยิ่งต้องหาความรู้และถ่ายทอดเพื่อให้อยู่คู่บ้านเมืองเราต่อไป"































http://www.khaosod.co.th