วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประวัติวัดไตรมิตร พระทองคำจากวัดพระยาไกร

วัดไตรมิตร เดิมชื่อว่า วัดสามจีนเพราะมีชาวจีน 3 คนช่วยกันก่อสร้างขึ้นมา แต่เดิมนั้น สภาพบริเวณวัดเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก มีน้ำขังทั่วไป ในปีพุทธศักราช 2480 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปีพุทธศักราช 2482 มีการปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อวัดไตรมิตรวิทยาราม

สิ่งสำคัญของวัดนี้ คือ "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" หรือ "พระสุโขทัยไตรมิตร" หรือ "หลวงพ่อทองคำ" เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกในหนังสือกินเนสส์บุ๊ก ออฟเร็กคอร์ด ปี 2543 ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หนัก 5.5 ตัน

ประวัติพระพุทธรูปทองคำของวัดไตรมิตรและวัดพระยาไกรนั้นมีประวัติเกี่ยวพันกันมา นายณัฐวุฒิ เลิศวนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญ อธิบายว่าต้องย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2335 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 มีวัดอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดไผ่ล้อม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เจ้าสัวบุญมา) บูรณะวัดพระยาไกรและให้ชื่อว่าวัดโชตนาราม หลังจากนั้น ปี 2482 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 มีการรื้อที่วัดเงินบริเวณคลองเตยเพื่อสร้างท่าเรือคลองเตย จึงย้ายวัดเงินมารวมไว้ที่วัดไผ่ล้อมและกลายเป็น "วัดไผ่เงิน" ปี 2483 รวมวัดโชตนาราม (วัดพระยาไกร) เข้ากับวัดไผ่เงิน และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไผ่เงินโชตนาราม
พ.ศ.2344 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือซึ่งส่วนมากชำรุดจากศึกสงคราม เพื่อนำมาบูรณะและนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญในกรุงเทพฯ พระพุทธรูปที่อัญเชิญลงมามีจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปสำริด และพระพุทธรูปทองคำ ซึ่งพอกปิดไว้ด้วยปูนโดยอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มาไว้ที่วัดพระยาไกร

เวลาผ่านไป วัดพระยาไกรกลายเป็นวัดร้าง พ.ศ.2478 ที่ประชุมคณะสงฆ์จึงให้วัดไตรมิตรวิทยารามและวัดไผ่เงินโชตนารามไปอัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพระยาไกรไปประดิษฐานไว้ตามสมควร ทางคณะของวัดไผ่เงินได้เลือกอัญเชิญพระพุทธรูปสำริดไป ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์ที่ไม่ได้เลือกเพราะพบว่าชำรุดโดยมีรอยร้าวตั้งแต่บั้นพระเอวลงไป

พระพุทธรูปสำริดที่นำไปยังวัดไผ่เงินโชตนารามนั้นก็คือ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ นั่นเอง และต่อมาในปี พ.ศ.2525 ในโอกาสฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้มีการบูรณะและปิดทองทั้งองค์


พระพุทธรูปปูนปั้นที่เหลืออีกองค์นั้นนำไปประดิษฐานที่วัดไตรมิตร และสร้างเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้อย่างหยาบๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จ จึงอัญเชิญไปประดิษฐาน แต่ในขณะเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป เนื่องจากพระพุทธรูปมีน้ำหนักมาก สายเครื่องกว้านจึงขาดลง ทำให้พระพุทธรูปตกกระแทกพื้น ส่งผลให้ปูนที่หุ้มบริเวณพระอุระกะเทาะออก เผยให้เห็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2498 ท่านเจ้าอาวาสจึงให้ลอกปูนออกทั้งองค์ แล้วนำขึ้นประดิษฐานภายในพระวิหาร

ปี 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามให้พระพุทธรูปว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร"

วันที่ 27 ต.ค.2551 ทางวัดอัญเชิญหลวงพ่อทองคำประดิษฐานในพระมหามณฑปที่สร้างขึ้นใหม่อย่างดงามอลังการ จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยใช้ฤกษ์ 09.09 น.

พิธีสมโภชจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2552 จนถึงคืนวันที่ 1 มกราคม 2553

ขอบคุณ นสพ ข่าวสด