วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

มองญี่ปุ่นเผชิญวิกฤต มีวินัย-ติดนิสัยร่วมมือกัน ทุกคนจริงจัง-สังคมเดินหน้า

วิศวัส ปัญญาวงศ์สถาพร - รายงาน
ภาพคลื่นสึนามิสูงกว่า 10 เมตรที่ถาโถมเข้าดูดกลืนชีวิตชาวอาทิตย์อุทัยริมฝั่งทะเลเซนได สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั่วโลก ตามด้วยข่าวการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ซ้ำเคราะห์ให้ชาวปลาดิบต้องหวาดหวั่นกับมหันตภัยกัมมันตรังสีนั้น ผู้คนทั่วโลกต่างส่งกำลังใจให้ชาวญี่ปุ่น
มีวินัย-ติดนิสัยร่วมมือกัน

"ปัจจัยที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตหรือสูญเสียน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไม่ได้เกิดจากโชคชะตาหรือนิสัยตามธรรมชาติ แต่เกิดมาจากการฝึกซ้อมที่จริงจัง และสม่ำเสมอ" อ.เอกวิชญ์ นราวุฒิกุล หรือ อาจารย์เรย์ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น We กล่าว

อ.เอกวิชญ์ ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยโชคุเกียว โนเรียวคุ ไคฮัตซึ ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกๆ ปีชาวญี่ปุ่นทุกพื้นที่ ทุกเพศ ทุกวัย จะต้องซ้อมรับมือแผ่นดินไหวอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยวิทยากรจะบอกอย่างละเอียดว่าต้องทำอะไรบ้าง

อย่างแรกคือ ปิดเตาไฟและอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดประกายไฟได้ก่อน จากนั้นลงไปหลบใต้โต๊ะ เมื่อแผ่นดินไหวอ่อนกำลังลงต้องรีบเปิดหน้าต่าง การฝึกของชาวญี่ปุ่นไม่ใช่ให้หนังสือมาอ่านแล้วก็จบ แต่จะให้ฝึกด้วยตัวเอง โดยจะมีศูนย์ที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง บางครั้งจะมีเจ้าหน้าที่มาเป็นวิทยากร เผยแพร่ความรู้ และสาธิตวิธีการฝึกซ้อมตามโรง เรียนทั่วไป


"เคยมีโอกาสเข้าไปในศูนย์เพื่ออบรม พบว่าการสอนของเขาไม่ใช่การสอนภาคทฤษฎี แต่จะให้เราหยิบจับ สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นเหมือนเป็นเหตุการณ์จริงเลย เช่น เรามาจากเมืองไทยอาจจินตนาการภาพไม่ออกว่าความแรง 3 ริกเตอร์ 4 ริกเตอร์ มันแรงแค่ไหน เขาจะมีห้องจำลองการเกิดแผ่นดินไหวห้องหนึ่ง ให้เราทดสอบดูปรับระดับความแรงขึ้นเรื่อยๆ เราถึงได้รู้ความสำคัญของการซ้อม เพราะที่ความแรง 4 ริกเตอร์ เราแทบจะทรงตัวไม่อยู่แล้ว แต่ที่เรากลัวไม่ใช่การยืนไม่ได้ แต่คือความกลัวว่าจะมีอะไรหล่นมาโดนเราหรือเปล่า ซึ่งหากไม่จำลองเหตุการณ์จริงความรู้สึกแบบนี้เราคงไม่สามารถรับรู้ได้เลย"

โครงสร้างของสังคมญี่ปุ่นจะเน้นให้เรียนรู้ลึกซึ้งแต่อาจไม่รู้กว้าง เช่น ครอบครัวหนึ่งทำราเมนได้เก่งมาก ก็เก่งจริงๆ ทำกันมาหลายชั่วคน ครอบครัวไหนทำเค้กก็จะเก่งเค้กจริงๆ แต่หากให้เขาสลับไปทำอย่างอื่นเขาก็จะทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ถนัด

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงต้องมีทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง ทำงานอะไรก็ทำเป็นทีม เพราะทำคนเดียวไม่ได้ และเป็นคำตอบว่าทำไมเขาจึงเชื่อมั่นและไว้วางใจคนของเขามาก เพราะแต่ละคนล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด หากมีสิ่งไหนต้องช่วยเหลือเขาก็จะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ที่สุด คนญี่ปุ่นเลยติดนิสัยร่วมมือกัน ทำให้เขามีระเบียบวินัยและสร้างความเข้าใจตรงกัน
ทุกคนจริงจัง-สังคมเดินหน้า

นอกจากนี้ ลักษณะนิสัยการเอาจริงเอาจังของคนญี่ปุ่นเป็นในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การฝึกซ้อม หรือแม้แต่การทิ้งขยะ คนญี่ปุ่นเป็นคนละเอียดมาก และย้ำคิดย้ำทำ เรื่องธรรมดาที่เราคิดว่าไม่สำคัญ คนญี่ปุ่นจะสอนอย่างชัดเจนทุกขั้นตอน ขนาดการพับถุงใส่ขยะก็ยังสอน ทำให้เราได้ปฏิบัติจริง แต่หลังจากเราทำจนคล่องแล้ว เขาก็จะไม่คอยจู้จี้จุกจิก เขาจะเชื่อใจว่าเราทำเป็นแล้วอย่างที่สอน

เมื่อทุกคนจริงจัง สังคมจึงเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ที่คนญี่ปุ่นเห็นใครที่เหลาะแหละ เขาจะตำหนิอย่างรุนแรง เช่น ความผิดพลาดในการให้บริการ มาสายไม่ตามนัด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะตำหนิแรงมาก เพราะเขาถือว่าเขาจริงจัง ก็ควรได้รับผลที่ดีตอบแทนกลับไป

แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เราจะเห็นว่าสิ่งที่ออกมาสิ่งแรกคือการให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่การตำหนิ การหาคนผิด คนญี่ปุ่นบางคนขอบคุณด้วยซ้ำที่รัฐบาลทำหน้าที่อย่างหนักเพื่อตัวเอง เพราะลึกๆ แล้วเขาเข้าใจว่ามันเป็นภัยธรรมชาติ และอาจจะเตรียมใจที่จะรับความสูญเสียนี้ ซึ่งต้องมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง

แต่บางมุมคนญี่ปุ่นก็มีความเป็นปัจเจกชนมาก อาจจะเหมือนคนในสังคมเมืองใหญ่ๆ คนญี่ปุ่นชินกับการอยู่คนเดียวและจะไม่ค่อยฟูมฟายขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง แต่จะขอความช่วยเหลือกับคน ที่เขาควรจะขอ



เชื่อมั่นในระบบเอื้ออาทร

ด้าน อาจารย์ปภาภรณ์ ปิ่นจุฑารัตน์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาญี่ปุ่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และศิษย์เก่าดีกรีปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ สาขาวัฒนธรรมเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ธรรมชาติของคนญี่ปุ่นเกี่ยวโยงกับภูมิประเทศ ซึ่งมีพื้นที่เล็กนิดเดียว ส่วนใหญ่ยังเป็นภูเขาถึงร้อยละ 70 มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่เป็นพื้นราบ

เมื่อมองปัจจัยด้านธรรมชาติ จะพบว่าญี่ปุ่นได้รับทั้งประโยชน์และโทษจากธรรมชาติมาโดยตลอด ดินของญี่ปุ่นเป็นดินภูเขาไฟ ปลูกอะไรก็งอกงาม หวานหอมไปหมด แต่ก็ต้องผจญกับภูเขาไฟระเบิด ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายแก่ชาวญี่ปุ่นมาโดยตลอด

นี่เป็นสาเหตุที่ชาวญี่ปุ่นไม่คิดพึ่งพาธรรมชาติฝ่ายเดียว จึงมองหาสิ่งที่จะมาช่วยเหลือใหม่ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นเกาะ ติดทะเลไปทุกด้าน ไม่มีตัวช่วยไหนแล้วที่จะดีและมีประสิทธิภาพไปกว่าคนด้วยกันเอง

เมื่อการรวมตัวของคนญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเหนียวแน่น มีประสิทธิภาพและเอื้ออาทรกันระหว่างกลุ่ม ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตให้อยู่รอดในธรรมชาติที่โหดร้าย คนญี่ปุ่นจึงมีความเชื่อมั่นในระบบนี้มากขึ้น และมีจิตสาธารณะที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เพราะความเดือดร้อนของคนอื่นสุดท้ายก็จะย้อนกลับมาหาตัวเอง

เราจึงเห็นชาวญี่ปุ่นฝึกทำทุกอย่างให้เป็นตามที่รัฐบาลหรือกลุ่มแนะนำ เพราะหากตัวเองทำอะไรไม่เป็นเลย ฝึกซ้อมหนีไฟไม่เป็น แผ่นดินไหวไม่รู้จะต้องไปที่ไหน คุณจะกลายเป็นภาระของสังคม

"เคยไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น แล้วปรากฏว่าวันหนึ่งเขาประกาศเรียกให้ซ้อมหนีไฟ แต่ตัวเองโดดซ้อม หลังจากนั้นมีโทรศัพท์โทร.มาที่บ้าน ถามเลยว่าทำไม่คุณไม่ไปซ้อม ก็เลยบอกไปว่าฉันเป็นนักศึกษา ฉันมาอยู่สักแป๊บเดียวก็กลับแล้ว เขาตอบกลับมาว่า "ที่คุณทำไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่นเขา คุณจะได้ไม่เป็นภาระกับคนอื่น"

ให้กำลังใจตัวเองและคนอื่น

อ.ปภาภรณ์ กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่เห็นคนญี่ปุ่นเข้าคิวรับของบรรเทาทุกข์ เข้าแถวซื้อของในมินิมาร์ทช่วงเวลาที่ต้องดิ้นรน ถ้าถามคนญี่ปุ่น เขาคงหันกลับมาถามว่า "แล้วทำไมคุณถึงไม่ทำล่ะ" นั่นเพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นกิจวัตรประจำวันและไม่ใช่เรื่องแปลก

เท่าที่ดูทีวีช่อง NHK มีข้อสังเกตว่า ทุกคนไม่โทษคนอื่น แม้แต่ธรรมชาติ เขาก็แค่บอกว่าห่วงครอบครัวและน้ำตาไหล ทุกคนขอบคุณที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง

จุดเด่นหนึ่งที่สำคัญคือเขารู้จักการให้กำลังใจตัวเองและคนอื่น คนที่กรุงโตเกียวถูกดับไฟ เขาก็บอกว่าดี กลางคืนจะได้เห็นดาวชัดเจน ต้องอพยพย้ายถิ่น เขาก็บอกว่าดีได้ยืดแข้งยืดขาออกเดินทางบ้าง ถนนหนทาง เส้นทางรถไฟต้องหยุดให้บริการ เขาก็บอกว่าดีเหมือนกันจะได้พักผ่อนบ้าง ชาวญี่ปุ่นรู้จักการปลอบใจตัวเอง

สิ่งที่ประทับใจคือ การช่วยเหลือที่เป็นระบบตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง นายกรัฐมน ตรีของญี่ปุ่นออกมาแถลงมอบความช่วยเหลือทั้งชุดคนงาน ซึ่งหมายความว่าเขาได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือแล้ว เป็นจุดที่ซื้อใจคนญี่ปุ่นได้มากจริงๆ หลังจากนั้นไม่เกิน 10 ชั่วโมงก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นเต็มรูปแบบ ทีวีประกาศจุดช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน เห็นอย่างนี้แล้วคนญี่ปุ่นก็มีกำลังใจเพราะทุกฝ่ายได้โถมเข้ามาช่วยเหลือกัน

สำหรับสื่อมวลชนญี่ปุ่นจะเสนอข่าวเน้นการก้าวไปข้างหน้า ภาพหายนะ ภาพบ้านเรือนปลิวมาตามสายน้ำหมดไปตั้งแต่วันที่ 1-2 แล้ว เราจะเห็นแต่ภาพว่า ต่างชาติเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร จุดบรรเทาทุกข์อยู่ที่ไหน วิธีการรับมือกับสารนิวเคลียร์ที่รั่วไหล หรือนิวเคลียร์คืออะไร ซึ่งสื่อจะทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ได้เลยถ้าที่ผ่านมาไม่เคยสะสมความไว้วางใจมาจากคนในสังคม และที่ต้องชมคือจรรยาบรรณของสื่อญี่ปุ่น เราไม่เห็นภาพความสูญเสียที่สะเทือนใจ ภาพศพคนญี่ปุ่นจากสื่อของเขาเลย


Credit :http://www.khaosod.co.th