ค่ายรถตีปีกปี′53โกยยอดขาย 8 แสนคัน โต 45% ′โตโยต้า′นำโด่ง3.2แสนคัน
ตลาดรถยนต์ปี′53 พุ่งกระฉูด กวาดยอดขายรวมกว่า 8 แสนคัน ขยายตัวถึง 45% "โตโยต้า"นำโด่ง3.2แสนคัน เหตุเศรษฐกิจฟื้น ดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลดีต่อธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ แถมมีรถรุ่นใหม่ เก๋งเล็ก ออกตลาดตลอดทั้งปี บิ๊กโตโยต้าคาดปีนี้ขายได้8.6แสนคัน โต7.4%
เมื่อวันที่ 18ม.ค.2554 มร.เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ประจำปี 2553 ว่ามีปริมาณการขาย 800,357 คัน เพิ่มขึ้น 45.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งการทำสถิติใหม่ของตลาดรถยนต์ จากยอดขายตลาดรวมที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้น 50.7% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 42.3% เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ โดยรวม การไหลเข้าของเงินทุน ที่ทำให้มีปริมาณเงินในระบบมากขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลดีต่อการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงความนิยมในตลาดรถยนต์นั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์นั่งขนาดเล็ก การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ และรุ่นพิเศษ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งปี
โดยโตโยต้าได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในทุกๆด้านเช่นกัน ทั้งจากยอดขายในประเทศรวมทั้งสิ้น 326,007 คัน ซึ่งเป็นสถิติยอดขายใหม่ ทั้งในตลาดรถยนต์นั่ง และรถกระบะขนาด 1 ตัน โดยรถยนต์นั่ง มียอดขาย 141,733 คัน รถกระบะขนาด 1 ตันมียอดขาย 164,795 คัน ซึ่งเป็นยอดขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นปี ที่ 6ของทั้ง 3 ตลาด (Triple Crown)
ส่วนการส่งออกในปีที่ผ่านมา โตโยต้าได้สร้างสถิติใหม่ในการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ด้วยยอดรวม ที่ 334,124 คัน เพิ่มขึ้นถึง 40% คิดเป็นมูลค่า 140,495 ล้านบาท ตลอดจนการส่งออกชิ้นส่วน มูลค่า 49,086 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการส่งออกที่นำรายได้กลับสู่ประเทศไทยเป็นเงินทั้งสิ้น 189,581 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มของตลาดรถยนต์ของปี 2554 มร.ทานาดะ กล่าวว่า จากสถิติการขายแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลบวกต่อตลาดรถยนต์ในปีที่ผ่านมาจะเป็นแรงบวกต่อเนื่องในปี 2554 จึงคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ในปีนี้ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดรถยนต์นั่งและตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยจะมีปริมาณการขาย 860,000 คัน เติบโต 7.4% แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 385,200 คัน เพิ่มขึ้น 11.1% ในขณะที่ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ คาดว่าประมาณ 474,800 คัน เพิ่มขึ้น 4.6% โดยแบ่งเป็น รถกระบะขนาด 1 ตันประมาณ 375,000 คัน เพิ่มขึ้น 7.9%
สำหรับโตโยต้าในปี 2554 นี้ เราตั้งเป้าหมายการขายที่ 360,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 42% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 162,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 42.1% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 198,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 41.7% โดยเป็นรถกระบะ 1 ตัน 179,000 คัน
ส่วนเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปีนี้อยู่ที่ 364,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 139,000 ล้านบาท และชิ้นส่วนมูลค่า 59,900 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 198,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”
นอกจากเป้าหมายการขายในปีนี้ เรายังได้พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอันเป็นความท้าทายใหม่หลายประการเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ เริ่มจากการขยายการผลิต เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้การผลิตมาตรฐานโลกของโตโยต้า โดยโครงการขยายการผลิตที่โรงงานบ้านโพธิ์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 เป็นต้นไป การสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าที่โตโยต้าได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จโดยได้รับรางวัลเจดีเพาเวอร์ติดต่อกัน 4 ปี การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นปรับปรุงโฉม และรุ่นพิเศษต่างๆ การมุ่งเน้นกิจกรรมการตลาด อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ รถยนต์ไฮบริด อาทิ โตโยต้า พริอุส และ คัมรี ไฮบริด ตลอดจนโครงการรถยนต์ใช้แล้ว คุณภาพดี โตโยต้า ชัวร์ โดยเพิ่มเป้าหมายการขายเป็น 20,000 คัน จากยอดขายในปีที่ผ่านมาที่ระดับ 15,000 คัน โดยมีการเพิ่มโชว์รูมจาก 56 แห่ง เป็น 70 แห่ง ภายในปีนี้” มร.ทานาดะกล่าว
นอกจากนี้โตโยต้ายังพร้อมที่จะตอบสนองนโยบายของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทย และนำรายได้สู่ประเทศ
ที่สำคัญ โตโยต้าได้มุ่งมั่นในกิจกรรมส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การสร้างความสุข อย่างยั่งยืนแก่สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีนี้จะเป็นปีที่มุ่งไปสู่การครบรอบ 50 ปีของบริษัทฯ ในปี2555 โดยเริ่มจาก การรณรงค์ความปลอดภัยบนท้องถนนภายใต้โครงการถนนสีขาว ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กว่า 22 ปี การดำเนินกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม องค์กร ตลอดจนห่วงโซ่ธุรกิจจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ โดยเริ่มจากผู้ผลิตชิ้นส่วน สู่กระบวนการผลิตของโตโยต้า และไปสู่ผู้แทนจำหน่ายที่จะส่งมอบความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรไปยังลูกค้า เครือข่ายและชุมชน นับเป็นปณิธาน ในการสร้างประโยชน์ และความสุข ให้แก่สังคม ที่โตโยต้า ยึดถือตลอดมา
ขอบคุณ นสพ ประชาชาติธุรกิจ :http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1295340013&grpid=02&catid=no