วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

'ผ้าขาวม้า'สารพัดประโยชน์


 ความชอบในลายตาราง หรือลายสก็อตแบบไทยๆ บนผืนผ้าขาวม้า ทำให้ทายาทร้านตัดเย็บเสื้อผ้าตัดสินใจฉีกกรอบผ้าขาวม้าคาดพุง ดีไซน์ให้กลายเป็นความ "ชิค" ผสานความเป็นไทยที่หญิงสาวสามารถหยิบใช้
 ฉัตรี ชุติสุนทรากุล พนักงานบริษัทที่ทั้งชีวิตคุ้นเคยกับผ้าหลากรูปแบบ ด้วยกิจการครอบครัวที่เปิดเป็นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า จึงไม่แปลกที่เธอจะหลงใหลเสน่ห์ผ้าไทย โดยเฉพาะลายตารางของผ้าขาวม้า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น "ลายสก็อตสไตล์ไทย" และนำมาสู่การค้นคว้าหารายละเอียดในเชิงลึก
 "ผ้าขาวม้ามีความเป็นเอกลักษณ์" ฉัตรีค้นพบว่าผ้าขาวม้าในภาคต่างๆ จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน และมีอยู่หลายเกรดตามคุณภาพเนื้อผ้าและลวดลาย
 ฉัตรีผสานความหลงใหลในลายสก็อตของผ้าขาวม้า กับทักษะการตัดเย็บที่รับถ่ายทอดมาจากครอบครัว เพื่อแปลงโฉมผ้าขาวม้าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงหรือหยิบใช้ได้ในโอกาสต่างๆ นอกเหนือจากใช้คาดพุง โดยเลือกที่จะออกแบบเป็นกระเป๋าและย่ามมากกว่าเครื่องแต่งกาย ที่ต้องใช้ทักษะด้านการออกแบบสูง ซึ่งเธอยอมรับว่าไม่ใช่สิ่งที่ถนัด

ผ้าขาวม้าไม่คาดพุง
  กระเป๋าทรงย่ามลายสก็อตสไตล์ไทย ตัดเย็บจากผ้าขาวม้า จึงเป็นการผสมผสานกระแสไทยนิยมและแบรนด์นิยม แต่ในขณะเดียวกัน ลวดลายของผ้าขาวม้าที่มากจนลายตา ทำให้หญิงสาวเลือกหยิบไปใช้ได้ยาก โดยเฉพาะถ้าต้องแต่งชุดที่มีลวดลาย อีกทั้งสีสันที่ทึบทึม ไม่สดใส ก็เป็นปัญหาในใจที่จะต้องผ่านไปให้ได้
 กระทั่งเมื่อเธอเดินมาที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และพบกับโครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่ทางทีซีดีซีร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดขึ้น เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
 หลังจากติดโผ 1 ใน 100 คนที่ผ่านเข้ารอบเวิร์คชอป นำโจทย์จากผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าขาวม้าทรงย่ามธรรมดามาตีให้แตก โดยเริ่มจากการเลือกหยิบผ้าขาวม้าสีสันสดใสมาใช้
 "เดิมเราจะเห็นแค่ผ้าขาวม้าที่สีดูตุ่นๆ ทึมๆ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตเริ่มทำให้มีสีสันสดใสมากขึ้น ลวดลายตารางในขนาดต่างๆ เพียงแค่เลือกสีและรูปแบบตาราง ก็สามารถตัดเย็บประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ได้" ไอเดียนี้ถูกใจคณะกรรมการ และทำให้ฉัตรีเข้ารอบ 50 คน
 รอบนี้เธอต้องคิดโจทย์ใหม่ นั่นก็คือ การนำผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้าไปยังกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสใช้ผ้าขาวม้าน้อยที่สุด
 "เราตั้งเป้าที่จะทำเป็นกระเป๋าและอุปกรณ์เสริม (แอคเซสซารี่) แต่ด้วยลวดลายทำให้จับคู่กับการแต่งกายได้ลำบาก จึงได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของทีซีดีซี ในการผสานผ้าแคนวาสสีสดกับผ้าขาวม้า เสริมด้วยผ้าลูกไม้และเลื่อมให้ดูหวานแบบผู้หญิงมากขึ้น" ฉัตรีอธิบาย
 การใช้สีพื้นของผ้าแคนวาสเป็นการลดทอนลายของผ้าขาวม้า ที่อาจมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการจับคู่กับเสื้อผ้าของสาวๆ บวกกับผ้าลูกไม้และเลื่อมที่ทำให้กระเป๋าไม่เรียบจนเกินไป ตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าขาวม้าได้ในที่สุด
แบรนด์ nim’s จำให้แม่น
 ปัจจุบันแนวคิดกระเป๋าผ้าขาวม้าของฉัตรีชัดเจนแล้ว และยังพัฒนารูปแบบออกมาอย่างต่อเนื่องภายใต้แบรนด์ nim’s พร้อมทั้งขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับเทรนด์ โดยเฉพาะเทรนด์ไอที ซึ่งเธอได้พัฒนากระเป๋าโน้ตบุ๊ค ซึ่งใช้ผ้าแคนวาสผสมกับผ้าขาวม้าทั้งสีสดและสีทึม ให้ใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงแนวทางในการพัฒนาสินค้าเป็นหมวดหมู่ มีทั้งกระเป๋าขนาดเล็ก ใหญ่ หรือกระเป๋าสะพายพร้อมกระเป๋าเงิน เป็นต้น
 "เรามีแผนที่จะเปิดตัวในการออกบูทงานแสดงสินค้า ของขวัญและของใช้ภายในบ้าน (BIG&BIH) ที่จะมีขึ้นในเดือน เม.ย. 2554 โดยได้สมัครเป็นสมาชิกสมาคมของขวัญและของชำร่วยประเทศไทยแล้ว และอยู่ระหว่างการรอขอพื้นที่ภายในงาน" ฉัตรีอธิบาย
 ฉัตรีคาดหวังว่า ภายใน 3 ปี กระเป๋าผ้าขาวม้าภายใต้แบรนด์ nim’s จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะหากได้ออกบูทงานใหญ่ๆ ซึ่งจะสร้างกระแสการรับรู้ที่ดี นอกจากนี้ เธอจะเดินหน้าร่วมโรดโชว์ผลงานในต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ตัวผลิตภัณฑ์ เป็นประตูสู่การทำตลาดต่างประเทศต่อไป
 "งานดีไซน์สร้างความแตกต่าง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก โอกาสที่จะแข่งกับรายใหญ่ได้เราต้องแตกต่าง โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอตัวตนของผู้ใช้ได้ เพื่อให้คนยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าของเรา" ข้อคิดจากฉัตรี
 กระเป๋าผ้าขาวม้า nim’s จึงเสนอตัวตนของคนที่ชอบความเป็นตะวันออกในแบบที่ยังคงทันสมัย เหมือนนางแบบท็อปโมเดลสวมชุดผ้าไหมไทยหรือชุดผ้าขาวม้าดีไซน์เก๋นั่นเอง