เมืองน่าน เป็นชุมชนเมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของตอนกลางแม่น้ำน่าน เคยเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการและแหล่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นศูนย์รวมของคนน่านมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งสมัยเมืองนันทบุรี หรือ วรนคร นครรัฐอิสระในสมัยสุโขทัยและกรุงอยุธยา ต่อมาถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามในต้นรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก็มีเจ้าผู้ครองนครน่านปกครองตนเองจนกระทั่งตำแหน่งเจ้าเมืองถูกยุบไปในสมัยรัชกาลที่ 7 บริเวณกลางเมืองน่านมีสถาน ที่สำคัญ ๆ เก่าแก่และทรงคุณค่าหลายแห่ง อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ซึ่งเคยเป็นคุ้มเจ้าผู้ครองนครน่าน วัดช้างค้ำวรวิหาร อันเป็นพระอารามหลวง วัดภูมินทร์ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันมีชื่อ และกำแพงเมืองเก่า เป็นต้น ทำให้บริเวณนี้ได้รับการประกาศเป็น “เขตอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า” เมื่อปี 2548 เราจึงไม่พบเห็นอาคารสูงและสายไฟฟ้าระเกะระกะสายตาเนื่องจากถูกนำลงใต้ดิน และยังพบเห็นรั้วรูปไข่ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ได้รับการส่งเสริมให้อนุรักษ์ไว้
จากการพัฒนาเมืองที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต วัฒนธรรม และสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งชุมชน ประชาสังคม ภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน มีคณะกรรมการและกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเมืองอย่างแข็งขัน อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยว คณะกรรมการอนุรักษ์เมืองเก่า คณะกรรมการชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีการผลัดเปลี่ยนคณะผู้บริหารเมือง แต่กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ยังยึดมั่นและสืบสานงานต่อไปกว่าหนึ่งปีแล้วที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเมืองนี้ พบว่าคนเมืองน่านมีความสนใจต่อการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนตนเอง ในตอนเช้า ๆ แทบจะทุกหลังคาเรือนจะเปิดวิทยุฟังข้อมูลข่าวสารท้องถิ่นจาก “รายการที่นี่เมืองน่าน” แทนการรับสื่อที่ส่งไปจากกรุงเทพฯ
สิ่งที่น่าประทับใจอีกประการ ก็คือ ความสะอาดของเมืองตั้งแต่ถนนสายหลักจนถึงก้นซอย โดยจะไม่มีเจ้าหน้าที่เทศกิจกวาดถนนในตอนเช้าอย่างเมืองอื่น ๆ เพราะที่นี่เขาให้ชุมชนต่าง ๆ ช่วยดูแลรักษาความสะอาด เทศบาลเมืองน่านจะเป็นผู้คอยสนับสนุนและอำนวยความสะดวก มีการจัดกิจกรรมบริเวณ “ข่วงเมือง” อยู่เสมอ โดยมักจะจัดงานเพื่อคนน่านเสียมาก กว่าจัดเพื่อหารายได้ ส่วนการขับรถบนท้องถนนซึ่งอาจติดขัดบ้างในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ก็ไม่เห็นการแสดงกิริยาอันไม่พึงประสงค์ บางครั้งต่างก็จอดรอให้อีกฝ่ายหนึ่งไปก่อนด้วยซ้ำ
เมืองน่านแห่งนี้ยังเป็นห้องรับแขกให้นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศได้มาตั้งหลักและมีข้อมูลก่อนที่จะเดินทางไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ นอกเมือง โดยมี “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว” ตั้งอยู่ใจกลางเมือง หากต้องการชมเมืองน่านก็จะมีรถรางชมเมืองไว้บริการ
หากจะประกาศว่าเมืองนี้เป็นเมืองน่าอยู่และน่าไปเยือน โดยใช้ตัวชี้วัดที่ยิ่งใหญ่ คือ ความภาคภูมิใจและรอยยิ้มของคนน่าน และความสุขของผู้ไปเยือนอย่างเราและท่าน ก็คงไม่จะแปลกกระมัง
เบญจมาส โชติทอง
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ขอบคุณ นสพ เดลินิวส์
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=515&contentId=116700