วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

คนไทยพลัดถิ่น แม่สอด-แม่ระมาด

วิภาวี จุฬามณี


ลองคิดว่า ลำพังแค่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนติดตัวสักระยะหนึ่ง จะทำอะไรก็ติดขัดพอสมควร แต่สำหรับชาวบ้านจำนวนไม่น้อย ที่ อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชนแม้สักใบ ด้วยเหตุที่ทางการยังไม่รับรอง "ความเป็นคนไทย" ให้พวกเขา ตลอดชีวิตที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้จึงขาดสิทธิที่พึงมีพึงได้หลายประการ

"การที่เราไม่มีสัญชาติเป็นอุปสรรคหลายอย่าง เด็กๆ จะไม่ได้รับการศึกษา สิทธิการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรค บางคนก็ใช้ได้ บางคนก็ใช้ไม่ได้ คนส่วนใหญ่ที่ทำเกษตรก็ไปขึ้นทะเบียนรับค่าชดเชยไม่ได้ แม้แต่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผมเคยไปถามเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่า ยังไม่ได้สัญ ชาติไทย เลยยังไม่ให้เบี้ยยังชีพ"

นายตา ธรรมะใจ ประธานเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น อ.แม่สอด-แม่ระมาด จ.ตาก เล่าถึงปัญหาที่คนไทยพลัดถิ่นต้องประสบ แล้วอธิบายเพิ่มเติมว่า คนไทยพลัดถิ่นที่อยู่แถบ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นคนไทยทางภาคเหนือ บริเวณ จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.แพร่ จ.น่าน



ต่อมา พ่อแม่พาไปทำมาหากินอีกฝั่งของแม่น้ำเมย ที่บ้านห้วยส้าน จ.เมียวดี ประเทศพม่า แล้วอพยพกลับมาเมื่อปี 2516-2517 หรือ 30 กว่าปีก่อน แต่เมื่อกลับมาแล้ว ปรากฏว่ารัฐไม่ได้ให้สถานะ ทั้งที่คนพวกนี้เป็นคนไทย

ในพื้นที่ 2 อำเภอ เดิมทีมีคนไทยพลัดถิ่นประมาณ 4,000 ราย ขณะนี้ได้รับสัญชาติไทย มีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว 1,040 ราย เหลือ 2,200 ราย ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ
นอกจากนี้ ยังมีคนกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น กลุ่มบัตรสีเหลืองขอบน้ำเงิน (ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เชื้อสายไทย) กลุ่มบัตรสีชมพู (ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า) คนเหล่านี้มักไปทำงานตามต่างจังหวัดไกลๆ เมื่อถึงเวลาที่ทางราชการมาสำรวจจึงติดต่อกันไม่ได้ ทำให้กลายเป็นกลุ่ม "ตกสำรวจ"

แต่ปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ประธานเครือข่ายฯ บอกว่า คือผู้ที่ได้รับการสำรวจไปเมื่อหลายปีก่อน จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่า ทางการจะพิจารณาให้สัญชาติแก่พวกเขาหรือไม่

"เรายื่นเรื่องขอแปลงสัญชาติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2541 แต่ถ้านับตั้งแต่เริ่มสำรวจก็ปี พ.ศ.2519 ถึงตอนนี้รัฐก็ยังดำเนินการเรื่องสัญชาติไม่แล้วเสร็จ มีเพียง 1,040 รายที่ได้ถ่ายบัตรประชาชนแล้ว"



เรื่องทั้งหมดเราส่งไปตามขั้นตอน คือ ส่งไปอำเภอ ให้อำเภอส่งต่อไปจังหวัด จังหวัดส่งต่อไปกระทรวง แต่ไม่ทราบว่าไปติดขัดตรงไหน เราดำเนินการขอแปลงสัญชาติมาหลายปีแล้ว แต่หน่วยงานปกครองไม่เคยแจ้งเลยว่า เรื่องไปถึงไหน ติดขัดอะไร พอมีคนไปถามที่อำเภอ เขาก็บอกว่า เขาส่งไปส่วนกลางแล้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่าไปติดอยู่ตรงไหน"

นั่นเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องออกมาทวงถาม

เมื่อเร็วๆ นี้ คนไทยพลัดถิ่นกว่า 1,000 ชีวิต จึงรวมตัวกันที่ วัดพระธาตุสิริมงคล อ.แม่สอด เพื่อยื่นเรื่องต่อคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ฟ้องร้อง รมว.มหาดไทย กรณียื่นเรื่องขอสัญชาติไทย แล้วไม่ได้รับการดำเนินการใดๆ จากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นเวลากว่า 10 ปี



นายอ้าย ธรรมบ้าน อายุ 54 ปี ชาวบ้านแม่กึ๊ดหลวง อ.แม่สอด บอกว่า แม้พ่อแม่จะเคยไปทำงานในพม่า แต่ก็ย้ายกลับมากว่า 40 ปีแล้ว ปัจจุบันมีลูกที่เกิดในเมืองไทย และได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ขณะที่ตัวเองยังเป็นคนไร้สัญชาติ ทำให้ทำมาหากินลำบาก ได้แต่ทำไร่ ทำนา มีรายได้พอกินไปวันๆ

"อยากให้รัฐบาลช่วยคนพลัดถิ่น อย่างน้อยที่สุดจะได้ไปทำมาหากินง่ายหน่อย คนยากจนทำนาทำไร่ก็อยากไปทำงานในกรุงเทพฯ จะได้หาเงินมาใช้ พอไปเจอตม. (ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) เขาก็จับส่งกลับบ้าน ใช้ชีวิตลำบาก"

เช่นเดียวกับ นางจันส่ง กองแก้ว อายุ 49 ปี ชาวบ้านวังผา อ.แม่ระมาด ปัจจุบันยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน มีเพียงทะเบียนบ้าน ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ที่ไปไหนมาไหนต้องพกติดตัวไปตลอด


"เฮาเป็นคนไทย ปู่ย่าตายายเกิดที่ อ.เถิน จ.ลำปาง แต่แม่พาไปทำมาหากินที่ฝั่งพม่า แล้วก็กลับมาอยู่ที่วังผา แต่ก็ไม่ได้สัญชาติเลย เฮาไม่มีหลักฐานการเกิด เปิ้นเลยว่าเฮาเป็นคนไทยพลัดถิ่น" 

"เฮายื่นเอกสารไปตลอดตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตอนนี้อายุ 49 ปีแล้ว ยังไม่ได้ เปิ้นก็บอกว่าเปิ้นจะทำ เฮาก็รอไปอีก คราวที่แล้วเปิ้นบอกว่า ที่แม่ระมาดจะได้ช่วงเดือนธ.ค.53 ก็รอมาจนถึง ม.ค.54 ตั้งแต่ยื่นเรื่อง ทำพิธีสาบานตน เปิ้นบอกว่า 3 เดือนจะรู้เรื่อง นี่อยู่มา 5 ปีแล้ว เปิ้นก็ยังไม่ทำให้" จันส่ง เล่าด้วยสำเนียงภาคเหนือ 

ก่อนตัดพ้อว่า รอจนเปลี่ยนผู้ใหญ่บ้านมา 5-6 คนแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า

ไม่ต่างกับ นางตา ปู่ตาลดำ อายุ 42 ปี ชาวบ้านแม่กึ๊ดหลวง บอกว่า ยื่นเรื่องไปตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน ทำพิธีสาบานตนไปแล้ว 2 รอบ แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการตอบรับ หรือปฏิเสธจากหน่วยงานราชการ

"2-3 ปีก่อน เขาให้สาบานตนว่า เราจะไม่ทำร้ายประเทศ จะซื่อ สัตย์ต่อประเทศไทย ไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย เราก็สาบานไปแล้ว 2 รอบ ถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมเรื่องถึงช้า เจ้าหน้าที่ที่อำเภอบอกว่าจะได้ตามรายชื่อ กระทรวงเขาให้มาอย่างนี้ ให้เราใจเย็นๆ"

"บางทีก็น้อยใจที่ไม่ได้สัญชาติ คนอื่นเขาได้แต่ทำไมเราไม่ได้ ผู้ใหญ่บ้านเรียกไปกี่ทีๆ ไม่เคยมีชื่อเรา หรือต้องรอจนแก่ จนเฒ่า จนตาย ก็ไม่รู้"

เสียงของชาวบ้านเหล่านี้ สะท้อนความ "พิลึกพิลั่น" ในประเทศไทย 

ดังข้อสังเกตว่า ชนกลุ่มน้อย หรือชนเผ่าในภาคเหนืออยากเป็นคนไทย แต่รัฐกลับไม่ยอมให้สัญชาติไทย ขณะที่ชาวบ้าน 3 จังหวัดภาคใต้ รัฐกลับบังคับให้ถือสัญชาติไทย



ขอบคุณพิเศษ นสพ ข่าวสด

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNakl6TURFMU5BPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE1TMHdNUzB5TXc9PQ==