วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

กระเบื้องเชื่อมอดีต ตอกย้ำคอนเซ็ปต์ที่ว่า "กระเบื้องซีกรีต เชื่อมอดีต ชิดปัจจุบัน"

 แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปแต่ความนิยมกระเบื้องโบราณกลับไม่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฏการณ์โหยหาอดีตของผู้คนในสังคม ที่ไขว่คว้าหาความรื่นรมย์ในชีวิต ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของความต้องการสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจ จึงเป็นที่มาของการพัฒนากระเบื้องมุงหลังคาแบบดั้งเดิม ของ บริษัทสินพงศธร จำกัด 
 
Retro ไม่มีวันตาย
 "ผมตัดสินใจทำตลาดย้อนยุค เอากระเบื้องสมัยโบราณอย่างกระเบื้องว่าว มาออกแบบใหม่ ถึงตลาดเล็ก แต่ก็เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง  คู่แข่งรายใหญ่ไม่ลงมาเล่น" ประยุทธ โศภิษฐ์พงศธร กรรมการผู้จัดการบริษัท สินพงศธร จำกัด ผู้สานต่อธุรกิจรุ่นที่ 2  กล่าว
 "อะไรที่เป็นของย้อนยุค ไม่ใช่แฟชั่นหวือหวา ก็จะไม่มีวันตาย กระแสจะมาเป็นช่วงๆ ยกตัวอย่างปี 2525 เฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี รัฐบาลสมัยนั้นปรับปรุงอาคารโบราณต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว จึงจุดพลุให้กระเบื้องว่าวกลับมาได้รับความนิยม จากนั้นหายไปแต่ก็กลับมาเป็นระยะๆ ตามกระแสย้อนยุค"
 บทสรุปที่ชัดเจนของกระเบื้องมุงหลังคา "ซีกรีต" ถึงความสำเร็จจากการรีดีไซน์กระเบื้องยุคเก่า แล้วนำมาต่อยอดแนวคิดค้นนวัตกรรมกระเบื้องลายโบราณให้มีมูลค่าเพิ่ม
 "สินพงศธร" บริษัทผู้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาและกระเบื้องปูพื้นโบราณแบรนด์ "ซีกรีต"  ใช้เวลาตลอด 70 ปีที่ผ่านมา คิดหาวิธีสร้างมูลค่าให้กระเบื้องปูน แทนการผลิตกระเบื้องจากดิน ซึ่งเป็นทางเลือกที่แปลกและแตกต่างจากคู่แข่ง บริษัทผลิตกระเบื้องได้นาทีละประมาณ 4 แผ่น หากเทียบกับรายใหญ่มีกำลังผลิตนาทีละ 100 แผ่น ถือเป็นมวยคนละรุ่น

ดีไซน์บวกฟังก์ชัน
 กระเบื้องลายไทย อย่าง เกล็ดปลา หางเหยี่ยว เป็นลายที่ถูกนำมาชุบชีวิตใหม่ โดยคงลวดลายแบบโบราณอยู่ แต่ออกแบบให้มุงง่ายขึ้นด้วยการนำกระเบื้องเดี่ยวมาเชื่อมติดกันเป็นคู่ ลบข้อเสียของกระเบื้องโบราณ ที่มุงยาก เปราะแตกหักง่าย ทำให้ช่างไม่สามารถขึ้นไปเหยียบเพื่อมุงหลังคา หรือซ่อมแซมได้เลย ที่ผ่านมาจะเลือกใช้วิธีการสอด หรือมุงจากใต้หลังคาแทน
 "เราเอามารีดีไซน์คู่กัน พร้อมทั้งเพิ่มคันกันน้ำย้อน ปีกข้างกันรั่วตามแนวกระเบื้องทับซ้อนและคันบังใบกันน้ำ ช่วยป้องกันน้ำรั่วเมื่อมีฝนตกหนักได้ แทนกระเบื้องแบบเดิมที่ต้องมุงให้ลึกเพื่อป้องกันการรั่วซึม"
 นวัตกรรมดังกล่าวเหมาะใช้กับบ้านในสไตล์โอเรียลทัลหรือบ้านในสไตล์รีสอร์ท เช่น บ้านไทย บ้านบาหลี บ้านเมดิเตอร์เรเนียน บ้านญี่ปุ่นและบ้านจีน ที่เริ่มกลับมาได้รับความสนใจของผู้คนอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่หวือหวามากนัก

นวัตกรรมลบจุดอ่อน
 ถึงกระนั้นวิศวกรรุ่นลายครามผู้นี้ ไม่ได้หยุดนิ่งในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่าง การพัฒนาด้านเทคนิคโดยใช้เซรามิกเคลือบบนกระเบื้องซีเมนต์ ที่เขาใช้เวลาลองผิดลองถูกนานกว่า 5ปี กระทั่งสามารถนำกระบวนการเผาเนื้อเซรามิกมาทำพร้อมกับกระเบื้องซีเมนต์ ทำให้เนื้อเซรามิกหลอมละลายเคลือบผิวหน้าของกระเบื้องซีเมนต์ได้สำเร็จ
 จากอดีตที่วัสดุซีเมนต์ไม่สามารถทนความร้อน แต่แล้วเขาสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ให้สามารถเผาซีเมนต์ไปพร้อมๆ กับแก้วเซรามิก ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ทำให้กระเบื้องซีเมนต์มีสีที่คงทนตลอดอายุการใช้งาน
 "ผมขายดีไซน์ย้อนยุค แต่บวกวิธีการสมัยใหม่ ตลาดก็ยอมรับได้ แต่สินค้าทุกตัวย่อมมีวัฏจักรของตัวเอง พอถึงจุดสูงสุดแล้วก็ค่อยลดลง เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ อย่างกระเบื้องว่าวก็มีขึ้นมีลง ขึ้นอยู่กับว่าเวลาของมันจะมาเมื่อไหร่ ซึ่งทายได้ยากเพราะเป็นเรื่องของอารมณ์คน ไม่รู้จะเกิดอารมณ์แบบนี้เมื่อไหร่ อย่างช่วงนี้ความนิยมของกระเบื้องว่าวเริ่มจางลง ผมก็ต้องหากระเบื้องตัวอื่นมาเสริม"
 กระเบื้องโบราณคลาสสิก เป็นตัวอย่างการยืนหยัดต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงมากมาย และรอคอยที่จะฉกฉวยโอกาส เมื่อถึงจังหวะที่ "ใช่" โดยคงยึดแนวทางการตลาดที่ไม่เคยคิดว่าจะมีวันตาย ตราบใดที่อารมณ์ของคนยังหวนคิดถึงวันวานเก่าๆ อยู่ไม่รู้ลืม ทำให้โรงกระเบื้องแห่งนี้สามารถเอาชนะกาลเวลา หยัดยืนอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ตอกย้ำคอนเซ็ปต์ที่ว่า "กระเบื้องซีกรีต เชื่อมอดีต ชิดปัจจุบัน"