วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

รถไฟความเร็วสูงจากโตเกียวเข้าสู่เขตพื้นที่ของจังหวัดนีกาตะ

โดย...ปวีณา สิงห์บูรณา
หิมะโปรยปรายต้อนรับทีมงานโลก 360 องศา ทันทีที่ชินคันเซ็น รถไฟความเร็วสูงจากโตเกียวเข้าสู่เขตพื้นที่ของจังหวัดนีกาตะจุดหมายปลายทางของพวกเราในครั้งนี้ ภาพที่เห็นคือ พื้นที่โดยรอบถูกปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลนทั้งบ้านเรือน ต้นไม้ ทุ่งนา ราวกับว่าเป็นดินแดนแห่งเทพนิยายเลยทีเดียว

เมื่อลงจากชินคันเซ็น พวกเราได้รับการทักทายจากละอองหิมะ ความงามที่มาพร้อมกับความหนาวเย็น เสน่ห์ในแบบของนีกาตะ จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าหิมะตกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

การเดินทางของโลก 360 องศาในครั้งนี้ พวกเรามาประเทศญี่ปุ่น โดยเลือกจังหวัดนีกาตะ ซึ่งอาจไม่ใช่ชื่อแรกๆ ในใจของใครหลายคน พวกเราไม่ไปยังเมืองท่องเที่ยว เช่น โตเกียว เกียวโต โอซากา หรือว่าเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ที่หลายท่านคุ้นเคย และเห็นภาพหรือว่าบรรยากาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นกันอยู่บ่อยๆ นั่นเพราะว่าพวกเราต้องการรู้จักญี่ปุ่นให้มากขึ้นกว่าที่เราเคยรับรู้

สำหรับระบอบการครองของประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการแบ่งออกเป็นภาคต่างๆ ตามลักษณะของภูมิประเทศ โดยนีกาตะนั้นตั้งอยู่ในภูมิภาคจูบุ หรือในเขตภาคกลางของประเทศ อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 300 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเลญี่ปุ่นยาวที่สุดในประเทศ ซึ่งมีความยาวมากถึง 240 กิโลเมตร
การเรียกชื่อจังหวัด Niigata หากว่าออกเสียงเป็นภาษาไทยหรือว่าภาษาอังกฤษ ออกเสียงช้าๆ ชัดๆ อ่านว่า “นิอิกาตะ” หรือ “นีกาตะ” แต่หากว่าออกเสียงเป็นแบบภาษาญี่ปุ่น จะต้องเรียกว่า “นีงาตะ”
ลักษณะภูมิประเทศของนีกาตะเป็นภูเขาสลับกับพื้นราบ จัดว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ที่สุดในเขตภาคกลางของญี่ปุ่น มีคุณภาพของพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ดินดำ น้ำชุ่ม ดินดี น้ำดี มากที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ

เพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำส่งผลให้ข้าวนีกาตะเป็นผลผลิตที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และเป็นข้าวชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำไปบริโภคทั้งในรูปแบบของข้าวสวย และการนำไปทำซูชิ หรือข้าวปั้นหน้าปลาดิบ อาหารยอดนิยมของคนญี่ปุ่น รวมถึงการนำไปผลิตสาเก เครื่องดื่มยอดนิยม ซึ่งสาเกจากนีกาตะถือว่าคุณภาพเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น
จังหวัดแห่งนี้ไม่ได้มีดีเพียงแค่เรื่องข้าวเท่านั้น หากแต่ว่ายังมีชื่อเสียงในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทะเลอีกด้วย ถือเป็นแหล่งประมงที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น จึงมีตลาดขายอาหารทะเลอยู่หลายแห่ง เมื่อพวกเราสำรวจในร้านขายอาหารทะเล ก็พบว่ามีความหลากหลายของสัตว์ทะเลอย่างมาก ซึ่งทุกชนิดล้วนมีคุณภาพสะอาด สดใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหากอาหารทะเลของที่นี่จะมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมสำหรับการบริโภคภายในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว เขาจะมีบริการที่เรียกว่า Hamoyaki การปิ้ง ย่าง ให้กับลูกค้าที่หน้าร้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้ลิ้มลองรสชาติอาหารทะเลที่สดใหม่
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจดูเหมือนว่าอาจจะเป็นความขัดแย้งระหว่างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในเรื่องของการเกษตรและการประมง คือ การเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่สุดในโลก ถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกส่งไปขายให้กับเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจคือ โตเกียว
โรงไฟฟ้า อยู่ในเขตพื้นที่ของสองเมือง คือคาชิวาซากิ และคาริวะ ซึ่งทั้งสองเมืองถือเป็นเมืองที่มีขนาดเล็ก ประชากรรวมกันไม่ถึงแสนคน แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นด้วยกันเองอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไป แต่ชาวบ้านที่อาศัยที่นี่เขามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เมืองของพวกเขาสามารถที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อที่จะเอาไปเลี้ยงดูเมืองใหญ่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ
ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น และถูกรายล้อมไปด้วยทุ่งนาข้าว ตลาดขายอาหารทะเลสด รวมถึงบ้านเรือนประชาชน เป็นการอยู่ร่วมในลักษณะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

จากการพูดคุยสนทนากับชาวเมืองคาชิวาซากิและคาริวะ พวกเขาบอกว่าถือเป็นเกียรติอย่างมากสำหรับเมืองเล็กๆ ริมทะเลที่มีส่วนร่วมหล่อเลี้ยงเมืองสำคัญของประเทศ และยังสามารถพัฒนาเมืองของตัวเองได้ทัดเทียมกับเมืองใหญ่ที่มีผู้คนนับสิบล้านคน ด้วยผลตอบแทนในรูปแบบเงินภาษีอากรจากการขายไฟฟ้ากว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ที่ถูกนำมาพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น ทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง การปลูกต้นไม้ชายฝั่งเพื่อป้องกันคลื่นลมจากทะเล รวมถึงการบริการสาธารณประโยชน์หลากหลายรูปแบบ

สำหรับในส่วนของชาวบ้านที่เคยมีความสงสัย หรือความกังวลใจเกี่ยวกับนิวเคลียร์ก็มีทัศนคติที่เปลี่ยนไป เพราะการดำรงอยู่ของโรงไฟฟ้ากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ เมื่อปี 2550 ก็ตาม และตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็มีการจ้างงานกับคนในท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีการพัฒนาขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น ไม่มีคนย้ายออกจากพื้นที่ เด็กๆ ที่ไปเรียนในเมืองใหญ่ก็กลับมาทำงานในบ้านเกิด ทุกคนเชื่อว่าโรงไฟฟ้ามีส่วนที่ให้เมืองพัฒนาขึ้น และภูมิใจที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
การเดินทางมาที่จังหวัดนีกาตะทำให้โลก 360 องศา เรียนรู้ได้ว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยีนั้น หากจัดการอย่างเหมาะสมก็สามารถอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนและสมดุล
ยังมีเรื่องราวความน่าประทับใจและมิตรภาพในสายลมหนาวท่ามกลางหิมะโปรยปรายในนีกาตะ รวมถึงเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมาย ติดตามชมได้ในรายการโลก 360 องศา ทุกวันเสาร์ เวลา 21.20 น. ทาง ททบ.5


ขอบคุณพิเศษ นสพ โพสต์ ทูเดย์


หมายเหตุ หลายภาพที่มา จากหลายเวบไซต์ ไม่สามารถลง Credit ได้ทุกภาพต้องขออภัยด้วยค่ะ