อุทัยธานีเป็นเมืองที่นักเดินทางมักมองข้าม ทั้งๆ ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวเมืองแบบเก่าให้บรรยากาศแห่งวันวาน แหล่งน้ำพุร้อนขึ้นชื่อ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
ช่วงเช้าตรู่ เราเริ่มต้นการเดินทางด้วยการไหว้เสาหลักเมืองเสริมสิริมงคล ตามตำนานเล่าว่าเมื่อก่อนเมืองอุทัยไม่มีเสาหลักเมือง จนกระทั่งมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวกรุงเทพฯ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวบอกว่ามีผู้ไปเข้าฝันว่าเสาหลักเมืองอยู่ตรงวัดหัวเมือง อำเภอหนองฉาง ให้มาตั้งเสาให้ด้วย โดยบริเวณที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นบอกเป็นเสาไม้แก่นไม้แต้ จึงทำพิธีย้ายเสาหลักเมืองแล้วสร้างศาลาคลุมไว้
ปัจจุบันเสาหลักเมืองตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี ด้านหลังเป็นแม่น้ำสะแกกรัง ผู้ที่มาสักการะนอกจากจะรู้สึกอุ่นใจที่ได้ไหว้เสาหลักเมืองอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุทัยธานียังได้ชมทัศนียภาพของริมฝั่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอุทัยด้วย
เมืองอุทัยธานีเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีถนนซับซ้อน เต็มไปด้วยตึกแถวไม้แบบโบราณให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศในอดีต บางบ้านเปิดเป็นร้านค้าที่อุปกรณ์ในร้านทั้งโหลใส่ลูกอม แก้วน้ำ หรืออุปกรณ์ตกแต่งยังเป็นแบบเก่า
ตลาดสดของที่นี่มีเสน่ห์ไม่เหมือนที่ไหน เพราะพ่อค้าแม่ขายจะตั้งแผงขายของบนถนนเลียบแม่น้ำสะแกกรัง เป็นเหมือนถนนคนเดินในทุกๆ เช้า สินค้ามีทั้งผัก ปลาแม่น้ำสดๆ หรือขนมหวาน ตรงข้ามตลาดเป็นวัดเก่าแก่นามวัดอุโปสถารามที่มีโบราณสถานทรงคุณค่ามากมาย
วัดอุโปสถาราม หรือวัดโบสถ์ เป็นวัดโบราณติดแม่น้ำสะแกกรัง สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดมีเจดีย์สามองค์สามสมัย ทั้งสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะมณฑปแปดเหลี่ยมแบบตะวันตกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคาร 2 ชั้น มีบันไดวนอยู่ภายนอก ซุ้มหน้าต่างมีลายปูนปั้นและบนผนังด้านหนึ่งมีพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่สวยงาม
ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่หาไม่ได้ในวัดไหน เป็นภาพพุทธประวัติที่เหล่ากองทัพมารขัดขวางการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้าอยู่เบื้องหลังของพระประธาน ส่วนด้านซ้ายเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมจนพวกมารต้องพ่ายแพ้ไปซึ่งวัดส่วนใหญ่จะเขียนภาพนี้ไว้ที่ผนังด้านหน้าพระประธาน นอกจากนี้ในวัดยังมีพระพุทธบาทจำลองที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 พระพุทธรูปหล่อเงินหนัก 50 ชั่งและสิ่งของพระราชทานจากพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 อีกด้วย
ที่สำคัญบริเวณหน้าวัดยังมีแพไม้โบราณเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำกับข้าวเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น ซึ่งกลายเป็นภาพตำนาน ร้านอาหารแทบทุกร้านต้องมีไว้สักการบูชา
ถัดไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสะแกกรัง จะพบวัดพิชัยปุรณาราม สันนิษฐานว่า สร้างปลายสมัยอยุธยา ภายในวัดมีวิหารเก่าสร้างสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มีพระประธานศักดิ์สิทธิ์นาม “พระพุทธชัยสิทธิ์” ซึ่งหมายถึงองค์พระพุทธรูปซึ่งสามารถอำนวยความสำเร็จแห่งชัยชนะให้มีขึ้นได้ ชาวบ้านนิยมมาขอพรให้สมความปรารถนา และประสบความสำเร็จเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ มีอำนาจวาสนา ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและเป็นที่รักชอบของบุคคลอื่น
ปิดท้ายทริปแบบที่ต้องถูกใจผู้รักษ์สุขภาพด้วยการสักการะพระพุทธรูปสีทองอร่ามขนาดใหญ่สูงกว่า 20 เมตรนามองค์หลวงพ่อพุทธโธ ที่ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต เหล่าข้าราชการนิยมมาสักการะเพราะเชื่อว่าสามารถดลบันดาลให้ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ โดยเมื่อขอพรให้เอามือไปจับบริเวณหัตถ์ของพระพุทธรูป พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณสวนสาธารณะพื้นที่กว่าสี่พันตารางเมตรที่มีบ่อน้ำพุร้อนบ้านสมอทองในโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว
น้ำพุร้อนของที่นี่เดิมเป็นแหล่งน้ำพุร้อนขนาดเล็กที่ผุดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันพัฒนาเป็นสถานที่แช่ตัว แช่เท้าและที่พักผ่อนแบบกางเต๊นท์ให้นักท่องเที่ยวใช้บริการด้วยอัตราค่าบริการที่แสนถูก แช่เท้าเพียง 10 บาท แช่ตัว 30 บาท หรือถ้าจะเหมาห้องส่วนตัวก็เพียง 200 บาทต่อชั่วโมง นักท่องเที่ยวนิยมมาใช้บริการเพราะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว แก้ปวดกระดูกและเหน็บชา ช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดี และช่วยรักษาโรคผิวหนัง
ก่อนจะเดินทางไปเที่ยวยังภาคเหนือ ลองเลี้ยวเข้ามาเที่ยวชมเมืองริมแม่น้ำสะแกกรังแห่งนี้ แล้วจะพบเสน่ห์แห่งความเรียบง่ายและงดงามไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ