หากเอ่ยถึงประเทศ ภูฏาน หรือ ราชอาณาจักรภูฏาน คนส่วนใหญ่จะคิดถึงภาพ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดี องค์ที่ 5) ครั้งเสด็จมาเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2549 ขณะนั้นดำรง พระยศมกุฎราชกุมาร ทรงมี พระสิริโฉมที่งดงาม และทรงเป็นกันเอง กับประชาชน ขณะที่อีกมุมหนึ่งนึกถึง ภาพดินแดนที่เต็มไปด้วยความ สวยงามของธรรมชาติ โดยเฉพาะเทือกเขาน้อยใหญ่ สลับกับแม่นํ้าลำธารที่ใสสะอาด ไร้ซึ่งมลพิษ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา คุณ สมทรง สัจจาภิมุข ผู้จัดการทั่วไป บริษัทโอเรียวลี่ แทรเวิล แอนด์ ทัวร์ จำกัด ตัวแทนสายการบิน ดรุคแอร์ สายการบินแห่งชาติภูฏาน ประจำประเทศไทย เชิญสื่อมวลชนร่วมบินลัดฟ้าไปสัมผัสความสวยงามของ “ภูฏาน” ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างประเทศอินเดียกับจีน ชื่อในภาษาท้องถิ่นคือ ดรุก ยุล (Druk Yul ) แปลว่า ดินแดนของมังกรสายฟ้า
ขณะใกล้ถึงจุดหมาย มองผ่านหน้าต่างเครื่องบินออกไป เห็นภาพที่สวยสดงดงามอย่างยิ่ง เทือกเขาหิมาลัย ปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน เป็นแนวยาวทอดผ่านแผ่นดินสุดลูกหูลูกตา นักท่องเที่ยวรีบคว้ากล้องถ่ายรูปออกมาเก็บภาพกันอย่างตื่นเต้น ทั้งนี้หลังใช้เวลาอยู่บนเครื่องบิน 4 ชั่วโมง ก็มาถึง สนามบินพาโร เมืองพาโร ต้องบอกว่าลุ้นกันตัวโก่ง ขณะเครื่องบินลงจอด กลัวปีกจะไปเฉี่ยวกับภูเขา ที่อยู่เรียงรายรอบ ๆ สนามบินฯเต็มไปหมด แต่ด้วยความชำนาญ เก่ง และมี ทักษะสูง ของกัปตัน ทำให้นกเหล็กสามารถแตะพื้นได้อย่างปลอดภัย
สิ่งแรกที่สัมผัสเมื่อลงจากเครื่องฯ คืออากาศบริสุทธิ์ ที่มาพร้อมกับความหนาวเย็น ทำให้รู้สึกถึงความสดชื่นกับสภาพอากาศของที่นี่ขึ้นมาทันที หลังเสร็จพิธีการตรวจคนเข้าเมือง หัวหน้าคณะทัวร์จัดแจงกางแผนที่เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง ซึ่งจะใช้รถตู้เป็นยานพาหนะ นำเข้าสู่ เมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เดินทางผ่าน ไหล่เขาที่คดเคี้ยว ไปมาน่าหวาดเสียว โดยมี ฉากธรรมชาติ คือขุนเขาสลับกับแม่นํ้าลำธารน้อยใหญ่เบื้องล่างที่สวยงามประทับใจ สมกับที่ได้รับการขนานนามว่า “สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย”
และแล้วก็มาถึงจุดหมาย ซึ่งหลากหลายสถานที่ที่ได้เดินทางไปสัมผัส ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น จุดชมวิว “ทาชิโชซอง” สัญลักษณ์ของเมืองทิมพูมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงามและใหญ่โต ปัจจุบันถูกใช้แยกเป็นส่วน ต่าง ๆ ตื่นตาตื่นใจกับ มหาสถูป ที่ยิ่งใหญ่, ศูนย์หัตถกรรมพื้นเมืองรัฐบาล, พิพิธภัณฑ์ผ้าทอแห่งชาติ, จุดชมวิว “ดอร์ชูลา” ซึ่งมีความสูง 3,150 เมตรเหนือระดับนํ้าทะเล มีลักษณะเป็นช่องเขาที่สามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัย, ปูนาคาซอง ที่พำนักของพระสังฆราชในฤดูหนาว โดยด้านหน้าปูนาคาซองเป็นจุดที่แม่นํ้าโพ และแม่นํ้าโม ซึ่งหมายถึงแม่นํ้าพ่อ และแม่นํ้าแม่ ไหลมาบรรจบกันพอดี
ต่อกันที่ วัดคิชู เป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าเซินกัมโป กษัตริย์แห่งทิเบต โดยศาสนิกชนลัทธิลามะจะมากราบแบบนอนราบกับพื้น อันเป็นการแสดงการคารวะสูงสุดเรียกว่า อัษฎางคประดิษฐ์ จากนั้นไปเยี่ยมชม โรงงานทำกระดาษ ซึ่งใช้เฉพาะแรงงานคน แวะเยี่ยมชมโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ตามเมืองสำคัญต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดของการเดินทางครั้งนี้ อันเป็นสิ่งที่ทุกคนปลาบปลื้มใจอย่างสุดซึ้ง ก็คือ พระราชินีในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ) พระบิดา สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5) ทรงโปรดให้คณะทัวร์จากไทยเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ด้วย
ทั้งนี้จุดท่องเที่ยวที่ได้ไปสัมผัสชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ ซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมืองทิมพู วังดิโปดรัง ปูนาคา และพาโร ต้องบอกว่าแต่ละแห่งไม่ได้ไปถึงกันง่าย ๆ การเดินทางต้องผ่านถนนที่คดเคี้ยวคับแคบรถสวนกันไปมาตลอดทั้งวัน ทำเอาท้องไส้ปั่นป่วน แต่เมื่อไปถึงจุดหมายทุกคนถึงกับ ลืมความเหนื่อยล้า ไปทันที ถือเป็นประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่งก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามหากใครจะเดินทางไป “ภูฏาน” ควรมี ยาแก้เมารถ ติดตัวไปด้วยจะช่วยได้มาก
สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูฏานนั้น สังคมภูฏานเป็น สังคมเกษตร กรรม ประชาชนดำเนินชีวิตตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายาน ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน บ้านเรือน ร้านค้า มีการตกแต่งขอบประตู-หน้าต่าง ด้วยลวดลายวิจิตรเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงแต่งกายด้วย ชุดประจำชาติ (ผู้ชายแต่งชุดเรียกว่า โค ผู้หญิงเรียกว่า คีรา) เดินจับจ่ายซื้อของกันอย่างเรียบง่าย คนบางกลุ่มยังนิยมการ กินหมาก หาซื้อจากร้านขายของชำทั่วไป ขณะที่ ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า-ประปา และการสื่อสาร ภูฏานถือว่าสร้างระบบได้ดีมาก ถึงจะมีบ้านเรือนอยู่บนภูเขาสูง แต่ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้า-นํ้าประปาเข้าถึงอย่างไม่ขาดแคลน
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากพระราโชบายของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ที่ต้องการให้ภูฏานอนุรักษ์ประเพณีของตนไว้ เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนภูฏานใส่ชุดประจำชาติ, การอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น และสถาปัตยกรรมแบบภูฏาน แม้จะมีนโยบายเปิดประเทศ แต่ภูฏานก็สามารถอนุรักษ์จารีตประเพณีทางสังคมไว้ได้ อีกทั้งพระองค์ยังเป็น กษัตริย์นักพัฒนา และความเป็นกันเองของพระองค์ในการเสด็จเยี่ยมราษฎร การเข้าถึงประชาชน ทำให้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์ของประชาชน”
อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภูฏานให้เป็นสังคมสมัยใหม่ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้หลัก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” แทนการ วัดการพัฒนาจากอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ทรงเห็นว่าประเทศจำนวนมากเข้าใจว่าการพัฒนา คือการแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศเหล่านั้นต้องแลกความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสูญเสียวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีทางธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งหลายประเทศพิสูจน์แล้วว่า ประชาชนไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง ส่งผลทำให้รัฐบาลภูฏาน และภาคเอกชน ให้ความสำคัญ ร่วมมือพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว มีการวางระบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องสมดุลกับสภาพภูมิประเทศได้อย่างลงตัว
ถึงแม้สภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ การแต่งกาย อาหารการกินจะ แตกต่าง จากเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวภูฏานเหมือนกับบ้านเรามากคือ มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ ประชาชนเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ร้านค้า หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน จะแสดงความจงรักภักดี โดยมี ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์วังชุก ติดไว้ที่ฝาผนังทุกหนทุกแห่ง เหมือนกับบ้านเราที่พสกนิกรชาวไทยแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่สุดเช่นเดียวกัน
ต้องบอกว่าการไปเยือนภูฏานทริปนี้ นอกจากจะได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ สัมผัสธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของคนที่นี่ หวังว่าอนาคตข้างหน้า “ภูฏาน” จะสามารถ รักษาเอกลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม ความงดงามทางธรรมชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี สุดท้ายก็คงต้องกล่าวคำว่า ลกเซเก คูซูซังโป ซึ่งแปลว่า แล้วพบกันใหม่ สวัสดี.
ขอบคุณพิเศษ นสพ เดลินิวส์
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=116679