หมุนก่อนโลก
วิทยา ผาสุก wittayapasuk@hotmail.com
โลกนี้ไม่มีของฟรี เป็นสัจธรรมที่จริงแท้แน่นอนที่สุด
เหมือนกับบริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดัง 'เฟซบุ๊ก' (เอฟบี) ที่เปิดให้ใช้งานฟรีนั่นไง
ถามว่าบรรดาข้อมูลภาพ ข้อความ ไฟล์มัลติมีเดีย การเขียนสถานะ บันทึก การแจ้งพิกัดที่อยู่ ข้อมูลส่วนตัว ฯลฯ ที่เราเผยแพร่ผ่าน 'เฟซบุ๊ก' นั้นเอาเข้าจริงแล้วมันเป็น 'ของเรา' หรือของ 'เฟซบุ๊ก' กันแน่
คำถามข้างต้นนี้ ถ้าเราอ่าน-สังเกต terms of service หรือเงื่อนไขการใช้บริการให้ดี จะพบเลยว่า
ทางบริษัท 'เฟซบุ๊ก' จะมีสิทธิ์นำเอาข้อมูลต่างๆ ที่เรา หรือที่คุณผู้ผ่านโพสต์ลงไปบนเว็บ 'เฟซบุ๊ก' ไปใช้งานอย่างไรก็ได้!
ยกตัวอย่างเช่นล่าสุด เอฟบีคิดค้นโปรแกรม 'หาเงิน' ใหม่เอี่ยม เรียกว่า 'sponsored stories' (เรื่องจากสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนเว็บไซต์) ซึ่งเป็นระบบขายโฆษณาอัตโนมัติที่ 'เฟซบุ๊ก' เริ่มทดลองขายไปแล้วให้กับบริษัทดังๆ หลายแห่ง ทั้งธุรกิจกาแฟ กางเกงยีนส์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
สำหรับระบบดังกล่าว ทำงานโดยการควานหา "ข้อมูล" สารพัดความเคลื่อนไหวที่เราโพสต์ หรือแสดงผ่านเอฟบี อาทิ ถ้าเราพิมพ์คำว่า 'กาแฟยี่ห้อเอ' แล้วพอดีกาแฟยี่ห้อนี่มาซื้อพื้นที่โฆษณาของเอฟบี...
ภาพใบหน้า รวมถึงชื่อของเราที่ใส่ไว้ในโปรไฟล์ ก็จะถูก "ดึง" ไปโชว์ในหน้าโฆษณากาแฟยี่ห้อเอทันที พร้อมกับไปโผล่อยู่ตามหน้าเว็บเอฟบีของเพื่อนๆ หรือถ้าเราเปิดโหมดใช้งานเอฟบีผ่านมือถือและอนุญาตให้มีการแสดงพิกัดที่อยู่แล้วเราเดินเข้าไปในร้านกาแฟเอ ระบบก็จะทำงานในลักษณะเดียวกัน
วิธีการ 'ป้องกัน' ก็พอมีอยู่ครับ นั่นคือ การติดตั้งโปรแกรมปลั๊กอิน 'uProtect.it' ซึ่งการใช้งานไม่ซับซ้อน เข้าไปโหลดได้เลยผ่านเว็บ http://uprotect.it โดยจะช่วย "เข้ารหัส" สิ่งที่เราโพสต์ลงเอฟบี
จากนั้น "คนนอก" จะอ่านหรือเห็นข้อมูลได้เฉพาะ "เพื่อน" ที่เราอนุญาตให้ "ถอดรหัส" เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การลง 'uProtect.it' คงช่วยป้องกันได้แค่ระดับหนึ่ง ดีที่สุดคืออย่านำ "ข้อมูลสำคัญ-ข้อมูลส่วนตัวจริงๆ" ไปโพสต์ไว้ตามเว็บไซต์ทั้งหลายแหล่เด็ดขาดครับ
http://www.khaosod.co.th