วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

'ตุ๊กตายางพารา' ทักษะ+ไอเดีย...ขายเป็นเงิน

อาชีพงานประดิษฐ์ ผลิตงานฝีมือ ทักษะและความรู้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งประกอบเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ก็ยิ่งทำให้เกิดการต่อยอดสินค้าออกไปได้เรื่อย ๆ อย่างเช่นงานประดิษฐ์ “ตุ๊กตา” จากน้ำยางพารา ของ “ภัคจิรา ถนอมเงิน” ที่ต่อยอดจากความรู้ที่มีอยู่ มาเป็นอาชีพ ที่อาจจะเป็นตัวอย่าง “ช่องทางทำกิน” ให้ใครอีกหลายคน...
ภัคจิรา ถนอมเงิน เจ้าของผลงาน เล่าว่า อดีตทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จึงมีความรู้เรื่องของวัตถุดิบชนิดนี้ ต่อมามองว่าอยากจะออกมาทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่เป็นของตัวเอง จึงมองว่ายางพาราสามารถที่จะนำมาประดิษฐ์เป็นสินค้าชนิดต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับของตกแต่ง ของขวัญ ของที่ระลึก โดยสามารถนำทักษะและความรู้ทางด้านศิลปะที่ร่ำเรียนมา มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ จึงตัดสินใจออกมาเปิดธุรกิจนี้ขึ้น 
    
“ลองผิดลองถูกอยู่ 1 ปี กว่าจะลงตัวจนสามารถต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างที่เห็น ปัจจุบันนอกจากผลิตขายเองแล้ว ยังผลิตตามคำสั่งซื้อลูกค้าด้วย มีตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ อย่างพวงกุญแจ ที่ติดตู้เย็น ไปจนถึงชิ้นใหญ่ ๆ เช่น ที่ครอบห้องเครื่องจักรยานยนต์ เพื่อป้องกันการกระแทกระหว่างขนส่ง รวมถึงหุ่นปลอมตัวใหญ่ ๆ” เจ้าของชิ้นงานระบุ 
    
ทุนเบื้องต้น ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์และเครื่องมือหลัก ๆ ที่    จำเป็นต้องใช้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 40,000 บาท ทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ 50% จากราคาขาย รายได้ อยู่ที่ชิ้นละ 15 บาทขึ้นไป ขึ้นกับขนาดและความยากง่ายของสินค้า 
    

อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ประกอบด้วย เครื่องพ่นสี (แอร์บรัช), เครื่องตีส่วนผสม (แบบเดียวกับที่ใช้ในการทำเบเกอรี่), ช้อนสำหรับ ตวง, กล่องพลาสติกใส สำหรับผสมปูนและน้ำยาง, ภาชนะสำหรับเก็บส่วนผสมพร้อมใช้, ถังสำหรับอบแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์, เตาแก๊สหุงต้ม สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง, กรรไกร, สีสำหรับระบายยางพารา, สีอะคริลิก, พู่กันขนาดต่าง ๆ, ปืนยิงกาว และ กาวร้อน 
    
ส่วนผสมและวัตถุดิบ สูตรนี้ใช้ทำ “ตุ๊กตายางพารา” ได้ประมาณ 30 ชิ้น ประกอบด้วย น้ำยางพาราข้น 167 กรัม, โพแตสเซียมโอลิเอต 15 กรัม, กำมะถัน 4 กรัม, แซดดีอีซี 2 กรัม, แซดเอ็มบีที 2 กรัม, วิงสเตย์แอล 2 กรัม, ซิงค์ออกไซด์ 10 กรัม, ดีพีจี 2 กรัม และเอสเอสเอฟ 8 กรัม โดยสารเคมีส่วนประกอบเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์การทำเรซิ่น ส่วนน้ำยางสามารถสอบถามได้จากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร 
    
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการทำแม่พิมพ์ ใส่น้ำลงกล่องพลาสติกใสครึ่งหนึ่ง จากนั้นนำปูนปลาสเตอร์เทลงไปจนปูนและระดับน้ำอยู่ระดับเดียวกัน คนให้ผสมกัน นำปูนปลาสเตอร์ที่ได้มาทาบนตุ๊กตาที่จะนำมาทำเป็นแม่แบบ สาเหตุที่ต้องทาบนตุ๊กตาเพื่อเวลาที่กดตุ๊กตาลงไปในน้ำปูนปลาสเตอร์จะได้ไม่เกิดฟองอากาศ
    
จากนั้นนำตุ๊กตากดลงในกล่องพลาสติก ไม่ต้องกดให้มิด แต่ให้เหลือเนื้อที่ด้านหลังตุ๊กตาไว้สำหรับการติดแม่เหล็ก เมื่อปูนปลาสเตอร์แห้งจึงแกะออกจากแม่พิมพ์ ใช้พู่กันปัดไล่ฟองอากาศ แล้วนำแม่พิมพ์ไปตากแดดทิ้งไว้ 1-2 วัน เพื่อไล่ความชื้น จึงจะใช้งานได้
     
ลำดับต่อไป ผสมยางพาราและสารเคมีที่เตรียมไว้ตามสัดส่วน ตีให้เข้ากันด้วยเครื่องตีจนเกิดฟอง นำไปหยอดลงแม่พิมพ์ที่ทำไว้ โดยหยอดได้ครั้งละ 30 ตัว มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดตุ๊กตา นำแม่พิมพ์ที่หยอดไปอบในถังอบ หากเป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ใช้เวลาอบราว 45 นาที ส่วนตัวใหญ่ใช้เวลาอบประมาณ 2 ชั่วโมง เสร็จแล้วจึงแกะออกจากแม่พิมพ์ ใช้กรรไกรตัดตกแต่งเอาขี้ยางออก นำไปผึ่งลมหรือแดดให้แห้ง อย่าตากแดดนาน เพราะตุ๊กตาจะเป็นสีเหลือง ทำให้ลงสียาก
    
จากนั้นนำมาลงสีโดยใช้เครื่องพ่นแอร์บรัช ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้ทำอาจต้องมีทักษะการใช้เครื่องพ่นสีแอร์บรัชบ้าง ลงสีตามต้องการเสร็จแล้ว ถ้าทำเป็นที่ติดตู้เย็นก็นำมาติดแม่เหล็กที่หลังตัวตุ๊กตา และบรรจุใส่หีบห่อตามต้องการ 
    
“เหตุที่ไม่ใช้พู่กันลงสี เพราะจะได้สีผิวที่ไม่เนียน ซึ่งงานประดิษฐ์จากยางพาราสามารถนำไปประดิษฐ์งานอื่น ๆ ต่อยอดได้อีกมากมาย ขึ้นกับไอเดียและจินตนาการเป็นสำคัญ” เจ้าของผลงานตุ๊กตายางพาราระบุ

.....................
ใครสนใจติดต่อ ภัคจิรา ถนอมเงิน ติดต่อได้ที่ 19/53 หมู่ 2 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทร. 08-1776-1705 ส่วนถ้าใครสนใจอยากจะรู้ข้อมูลลึก ๆ มากกว่านี้ ก็ลองติดต่อสอบถามจากเจ้าของงานโดยตรง.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ - พลอย พิมพ์ศิริ : เรื่อง-ภาพ


ขอบคุณพิเศษhttp://www.dailynews.co.th