เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินปลูกป่าชายเลน ครั้งแรก ณ บริเวณค่ายพระรามหก
โดยทรงปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ จำนวน 202 ต้น เป็นปฐมฤกษ์
หลังจากนั้นหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน
ได้มาร่วมสนองพระราชดำริในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน
ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์
เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของสัตว์น้อยใหญ่
มีความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดเป็นห้องเรียนธรรมชาติ
ต่อมากองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริและมูลนิธิพระราช
นิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ได้ร่วมกันจัดตั้งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ ณ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ
จังหวัดเพชรบุรี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ ในปีพุทธศักราช 2546
และได้รับพระราชทานนามว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” (The
Sirindhorn International Environmental Park)
มีแนวทางในการดำเนินงานให้อุทยานเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ตลอดจนเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถ
ในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม
ภายในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรมีกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์
พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย
ประกอบด้วยศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ค่ายอนุรักษ์พลังงาน
ห้องสมุดพลังงานและสิ่งแวดล้อม นิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียง
และกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติ เช่น
ศูนย์การเรียนรู้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์
ศูนย์เรียนรู้ด้านการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
กล่าวว่าช่วงนี้ส่วนของกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาตินั้นจะมีสิ่งมีชีวิตทั้งพืช
และสัตว์มากมายหลากหลายประเภทและสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน
ป่าบกและป่าชายหาด
โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี
จะมีนกอพยพหลากหลายกลุ่มเข้ามาพักอาศัยและหาอาหารในบริเวณอุทยานก่อนย้ายไป
ทางตอนใต้ของประเทศไทย อาทิ กลุ่มนกนางนวล
กลุ่มนกเหยี่ยวขนาดกลางและขนาดเล็ก กลุ่มนกยาง กลุ่มนกชายเลน
นอกจากนี้ยังสามารถพบนกประจำถิ่นที่มีตลอดปี เช่น นกกะรางหัวขวาน
ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือสามารถแผ่ขนที่หัวและหางได้สวยงามมาก
ภายในอุทยานฯ ยังมีกิจกรรม “นักสืบชายหาด”
ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เรียนรู้สิ่งมีชีวิตในทะเล
ด้วยการสำรวจความหลากหลายของสัตว์ทะเล เช่น เม่นทะเล เพรียง ไส้เดือนทะเล
ไรทะเล ปูทะเล ปูม้า ปลา กุ้ง หอย นานาชนิดรวมถึงซากเกยหาด ซากเปลือกหอย
“กิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอุทยานฯ
ทำให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของห่วงโซ่อาหาร
การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย การปรับตัวของสิ่งมีชีวิต
อันนำไปสู่การมีทัศนคติในการร่วมกันอนุรักษ์ ปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
รศ.ดร.เสรี กล่าว
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตั้งอยู่ที่ ค่ายพระรามหก ตำบลชะอำ
อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เปิดบริการทุกวัน (จันทร์– อาทิตย์) เวลา
08.30–15.00 น.
Credit : http://www.dailynews.co.th/article/728/18756