วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ณ เมืองฮาบิน สาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งที่ 3 แกะสลัก 'แปลงโฉมหิมะประติมากรรมไทยครองแชมป์!

อวดความเป็นไทยสร้างชื่ออีกครั้ง สำหรับ การแกะสลักหิมะสร้างสรรค์งานประติมากรรมที่มีความโดดเด่นถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็นอุณหภูมิติดลบ
    
การแกะสลักแปลงโฉมหิมะร่วมชิงชัยกับนานาประเทศที่จัดขึ้น ณ เมืองฮาบิน สาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 โดยล่าสุดทีมนักศึกษาอาชีวะของไทย ซึ่งประกอบด้วย  นักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา วิทยาลัยอาชีว ศึกษาสระบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองอีกครั้งติดต่อกันเป็นปีที่ 2
รวมทั้งคว้ารางวัลป๊อปปูลาร์โหวตและรางวัลที่ 2 สำหรับอีกทีมที่เข้าร่วมแข่งขันด้วย โดยรูปแบบการแกะสลักหิมะที่พิชิตรางวัลชนะเลิศนั้นได้ แนวคิดมาจากงานประเพณีแห่เทียนพรรษาในวันเข้าพรรษา 


ด้วยมนต์เสน่ห์ของการแกะสลักน้ำแข็งซึ่งมีเอกลักษณ์สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น อีกทั้งยังสร้างความท้าทายให้กับผู้สร้างสรรค์ซึ่งกว่าจะได้ประติมากรรมน้ำแข็งที่สวยสดงดงามสักชิ้น บุญธรรม รัตนวงกต อาจารย์แผนกวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา หนึ่งในครูผู้ควบคุมทีมเล่าว่า การแกะสลักน้ำแข็งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจิตรศิลป์ซึ่งงานลักษณะดังกล่าวก็จะมีจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ซึ่งการแกะสลักก็จะเป็นเรื่องของประติมากรรมก่อ จะมีทั้งงานปั้น งานหล่อ การแกะสลัก แต่การแกะรูปแบบนี้อาจจะแตกต่างจากการแกะวัสดุอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักหินอ่อน แกะสลักสบู่ ผักผลไม้ ฯลฯ


วัสดุที่เป็นน้ำแข็งจะมีความใสโปร่งแสงมองทะลุได้เป็นประกายเมื่อต้องแสงซึ่งในเนื้อนั้นมีความสวยงามความโดดเด่น แต่บางครั้งการจะเก็บรายละเอียดบางอย่างมากเกินไปก็ไม่ได้ ผู้ที่แกะสลักสร้างสรรค์ผลงานจะสร้างลายรูปแบบซึ่งก็เป็นอีกเสน่ห์เอกลักษณ์หนึ่งของงานประเภทนี้ 
    
“การสลักน้ำแข็งเป็นที่นิยมมายาวนานโดยมากจะนำมาประดับตกแต่งในงานมงคลสมรส ตกแต่งในห้องจัดเลี้ยงภายในอาคาร ซึ่งจะมีหลากหลายรูปแบบลวดลาย ที่คุ้นชินตาก็จะมีรูปหงส์ ปลา หัวใจ ตัวอักษร ฯลฯ สามารถสร้างสรรค์เนรมิตรูปต่าง ๆ ได้มากมาย  อีกทั้งยังเป็นงานตกแต่งพื้นที่ไปในตัวอีกด้วยจากความสำเร็จของฝีมือเด็กไทยในการแข่งขันแกะสลักในต่างประเทศก็เป็นที่ประจักษ์ปรากฏให้ติดตามมาโดยตลอด เช่นเดียวกับทีมนักศึกษาอาชีวะของไทยที่ล่าสุดได้รับชัยชนะอีกครั้งต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และเราก็เป็นประเทศเดียวที่ไม่มีหิมะ แต่ก็สามารถพิชิตรางวัลชนะเลิศ  มาได้”
การแกะสลักครั้งนี้ นักศึกษาได้นำความรู้จากการเรียนประติมากรรมทั้งในเรื่องของมิติ ความกว้างความลึกมาปรับใช้ในการแกะสลักน้ำแข็ง เรียนรู้ในเรื่องของการใช้เครื่องมือการแกะน้ำแข็งซึ่งก่อนจะลงสนามแข่งขันกับทีมจากประเทศยุโรปและเอเชีย ที่ผ่านมาทั้งสองทีมได้ฝึกซ้อมอย่างหนัก ฝึกการแกะสลักกับดินเหนียว
    
“การแกะสลักเป็นงานศิลปะอีกแขนงที่เกี่ยวเนื่องกับงานทางด้านวิจิตรศิลป์ซึ่งก่อนจะเรียนรู้ถึงการปั้นก็จะต้องฝึกการดรอว์อิ้งเรียนรู้การเขียนรูปรู้ในเรื่องของมิติก่อน จากนั้นฝึกฝนการปั้นซึ่งในระหว่างนี้ก็จะสอนในเรื่องของการแกะสลักรวมอยู่ด้วยซึ่งในวิธี    
การปั้นนั้นจะเป็น   การบวก คือ บวกดินเข้าไปเรื่อย ๆ แต่การแกะสลักจะตรงข้ามกันเป็นวิธีลบ อย่างเช่น ถ้าแกะสลักไม้ก็จะค่อย ๆ นำออกไปจนกระทั่งได้รูปทรงที่ต้องการ เช่นเดียวกับการปั้นด้วยดินถ้าต้องการรูปทรงที่ต้องการก็จะ     ค่อย ๆ เอาดินออกไปน้ำแข็ง เป็นวัสดุที่มีความใส โปร่ง อีกทั้งมีความเปราะบาง  ในขั้นตอนการแกะก็ต้องใช้ทักษะความระมัดระวังในการสลักเนื่องจากแตกได้ง่ายแม้จะนำมาต่อเชื่อมติดใหม่ได้แต่อาจจะมีริ้วรอย ส่วนข้อจำกัดของงานประติมากรรมน้ำแข็งที่โดดเด่นเป็นเรื่องของความร้อนและลม ซึ่งมีส่วนทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น  รูปทรงที่เซาะไว้เป็นรูปเป็นเหลี่ยมก็จะหายไป 


แต่อย่างไรแล้วในศิลปะแขนงนี้นั้นก็มีความสวยทั้งในเวลาที่น้ำแข็งยังไม่ละลายยังคงมีลวดลายสมบูรณ์คมชัด  ขณะที่เมื่อเริ่มละลายก็จะมีความงามอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า เปลี่ยนแปลงความสวยไปเรื่อย ๆ
    
ส่วนในความคงอยู่ยาวนานของประติมากรรมน้ำแข็งสำคัญสุดเป็นเรื่องของอุณหภูมิซึ่งถ้าอยู่ภายในห้องจัดเลี้ยงก็จะอยู่ได้ยาวนานกว่านอกอาคาร ขณะที่การใส่เกลือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาความเย็นของน้ำแข็ง
    
นอกจากนี้ในการแกะสลักน้ำแข็งหากเกิดแตกหักก็สามารถซ่อมแซมได้ อย่างบางครั้งใช้ฝอยละเอียดของน้ำแข็งหรือที่เรียกว่า     สโนว์ มาผสาน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ต้องปรับผิวหน้าให้เรียบ
    
“ในการแกะสลักหิมะจะมีความต่างจากการแกะสลักน้ำแข็งอยู่บ้าง ซึ่งวิธีการจะใกล้เคียงกันใช้เครื่องมือเดียวกัน ซึ่งก็จะมีสิ่ว ตัววี เลื่อย ฯลฯ แต่ถ้าเป็นระดับมืออาชีพก็จะมีเลื่อยไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าเข้ามาร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นระดับนักศึกษาจะใช้อุปกรณ์ธรรมดาไม่มีไฟฟ้า
    
ในการแกะสลักหิมะจะแกะได้ง่ายกว่าน้ำแข็ง เพราะหิมะจะยุ่ยกว่า การใช้แรงก็จะน้อยกว่า และในการต่อเชื่อมน้ำแข็งก็จะมีความยากลำบากกว่าหิมะ 

อย่างหิมะนั้นในการต่อเชื่อมสามารถที่จะใช้น้ำเป็นตัวเชื่อมผสานซึ่งในเสน่ห์ของหิมะเป็นในเรื่องของสีซึ่งมีความขาวซึ่งจะไม่ขาวใสแต่จะเป็นขาวขุ่น เมื่อต้องแสงก็สามารถเป็นประกายได้เช่นเดียวกันก็จะมีความงามอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในการแข่งขันก็จะมีการสร้างสรรค์ที่หลากหลายทั้งรูปธรรมนามธรรมไม่ว่าจะเป็นภาพสัตว์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ”


ส่วนการนำเสนอของเราเป็นการนำศิลปะความเป็นไทยไปถ่ายทอด โดยครั้งนี้นำเสนอประเพณีแห่เทียนพรรษาซึ่งมีรูปครุฑอยู่ด้านหน้าและต้นเทียนอยู่ด้านหลังเป็นผลงานขนาดใหญ่ที่มีความโดดเด่น  ขณะที่อีกทีมแกะสลักครุฑมีลวดลายไทยอ่อนช้อยและมีความละเอียดในการแกะสลักเช่นเดียวกัน  
    
จากความสำเร็จของทีมนักศึกษาอาชีวะซึ่งสร้างชื่อให้กับประเทศและในความงามชวนประทับใจของศิลปะจากน้ำแข็งที่ผ่านการแกะสลัก ในความโดดเด่นเหล่านี้   อีกด้านหนึ่งยังถ่ายทอดให้เห็นถึงเส้นทางอาชีพที่สดใส... เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนรักการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนหิมะและน้ำแข็งที่มีความสวยงามไม่ซ้ำแบบใคร.

ทีมวาไรตี้


กว่าจะถึงเส้นชัย
ผลงานการแกะสลักของคนไทยหลายต่อหลายครั้งได้สร้างชื่อเสียง ประจักษ์ถึงฝีมือการสร้างสรรค์
    
ความละเอียดประณีต ก่อนถึงเส้นชัยในการแกะสลัก เสียงหนึ่งจาก วิษณุ โพธิ์วิเชียร นักศึกษาแผนกวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา หนึ่งในสมาชิกทีม 1 ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งจากหิมะนานาชาติบอกเล่าว่า การแกะสลักเป็นอีกรูปแบบการสร้างสรรค์ศิลปะที่น่าสนใจมีเสน่ห์ทั้งในด้านความงามและความท้าทายในการทำงาน   
    
การทำงานศิลปะส่วนมากมีในเรื่องของการวาด การปั้น  แต่การแกะสลักน้ำแข็งมีความแปลกใหม่  มีความสนุกในตัวเองไม่จำเจกับรูปแบบเดิม  ตอนแรก ๆ ก็ไม่ได้สนใจอะไรแต่พอได้เห็นในเว็บไซต์เรียนรู้ด้วยตนเองและมีโอกาสฝึกหัดจริงกับผู้ที่มีประสบการณ์ ได้รับคำแนะนำก็นำกลับมาฝึกฝนทดลอง


“การแกะสลักอย่างที่ทราบสามารถแกะลงบนวัสดุหลากหลายก็เป็นอีกความต่างในการทำงานศิลปะ อย่างการแกะสลักน้ำแข็ง แกะสลักหิมะก็มีความท้าทายทั้งเรื่องความหนาวเย็น ความเปราะบางของน้ำแข็งก็ต้องเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของร่างกายและการฝึกฝน”
    
การดรอว์อิ้งมองว่ามีความสำคัญต้องแม่นยำ เช่นเดียวกับพื้นฐานทางศิลปะต้องหมั่นฝึกฝนไม่เช่นนั้นสัดส่วน โครงร่างจะไม่สมบูรณ์ ในความแม่นยำเหล่านี้เป็นเหมือนการสร้างแบบการแกะสลักที่ดี อีกทั้งขณะทำงานก็จะมองเห็นภาพเห็นแบบที่จะแกะสลักชัดขึ้น  
    
นอกจากนี้การเรียนรู้การใช้เครื่องมือก็มีความสำคัญ  แม้จะมีไม่กี่ชิ้นแต่ทุกชิ้นต้องใช้อย่างถูกต้องซึ่งหากมีความสนใจตั้งใจก็ต้องหมั่นฝึกฝนให้แม่นยำในพื้นฐานศิลปะและการวาดภาพ ส่วนอีกมุมมอง ณัฐพล ทรัพย์ศรี  หนึ่งในสมาชิกทีมที่ 2 เพิ่มเติมว่า จากที่ เห็นการแข่งขันการสลักน้ำแข็งซึ่งสร้างสรรค์เป็นสิ่งต่าง ๆ ได้  การ ได้ทดลองฝึกแกะสลักสิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจทำให้สนใจ  
    
พื้นฐานการปั้น การดรอว์อิ้งมีความสำคัญทำให้เห็นภาพการแกะสลักได้ชัดเจนขึ้น การทำงานกับน้ำแข็งต้องแข่งกับเวลา  มีความท้าทาย น่าทึ่งและลุ้นไปกับการทำงานซึ่งการสลักน้ำแข็งกับหิมะจะมีความต่างกัน โดยเนื้อของน้ำแข็งจะแข็งกว่าหิมะ  การแกะก็จะซับซ้อนกว่า การให้รายละเอียดถ้าเป็นน้ำแข็งหากมีรายละเอียดมากเวลาที่ถูกแสงก็จะเป็นประกายโดดเด่น   
    
“ช่วงที่ฝึกหัดใหม่อุปสรรคเป็นเรื่องของเครื่องมือซึ่งยังไม่เคยใช้ก็จะมีปวดมือบ้าง  แต่พอคุ้นเคยก็จะเริ่มคล่องตัวมากขึ้น  การฝึกฝนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราถึงเส้นชัย  การที่เรามองทะลุก้อนน้ำแข็งซึ่งมีความใสหากมองเห็นภาพที่เราจะสร้างขึ้นได้อย่างชัดเจนก็จะทำให้งานชิ้นนั้นเสร็จได้อย่างรวดเร็ว”  
    
ดังนั้นหากมีความชอบสนใจในสิ่งไหนก็คงต้องตั้งใจหมั่นฝึกฝน  มีความพยายามที่จะฝ่าฟันอุปสรรคให้ผ่านพ้นไปก็จะประสบความสำเร็จถึงเส้นชัยได้
.


ขอบคุณ นสพ เดลินิวส์

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=117011