วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

"อันนั้นก็อยากกิน อันนี้ก็อยากกิน แต่...กลัวอ้วน..

300 กก.อย่างปิ๊ก น้ำหวานลดจนเหลือ 80 กว่ากก.ได้ บางคนจึงเกิดคำถามว่า ที่สุดแล้ว "มีดหมอ" ช่วยตัด(ขาด) "ไขมัน" ออกจากชีวิตได้จริงหรือไม่
"อันนั้นก็อยากกิน อันนี้ก็อยากกิน แต่...กลัวอ้วน"


 ความรู้สึกทำนองนี้ยัง "คาใจ" ใครหลายๆ คน ที่ทุกครั้งเมนูโปรดถูกวางตรงหน้า แต่ก็ต้องพะวงว่า "ไขมัน" จะทบเพิ่มขึ้นอีกแค่ไหน

บางคนถึงกับรำพึงดังๆ ว่านั่งเฉยๆ หายใจเข้ายังอ้วนเลย ...เฮ้อ

"เปิดใจ" หลัง "ตาชั่ง"

 ละมื้อเช้า ลุยข้าวเที่ยง ละเลียดของจุกจิก ก่อนจะสมทบด้วยมื้อใหญ่ในวงอาหารค่ำ ดูจะกลายเป็นสูตรสำเร็จความอ้วนของ เบลล์ - ชนิตา พลารักษ์ ทุกวันนี้ไปแล้ว


 ในวัย 23 ปี สาวคนนี้เพิ่งทำน้ำหนักตัวทะลุ หลักร้อยกิโลไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ถึงสภาพแวดล้อมที่บ้านจะอุดมไปด้วยคนอ้วนจนทำให้เข้าใจได้ว่า กรรมพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของความล้นเกินในตัวเอง แต่เมนูอาหารของมัน ของย่าง ของทอดที่เธอโปรดปรานก็ล้วนแต่เป็นแรงสนับสนุนความอ้วนทั้งนั้น เธอยอมรับว่า ล้วนต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นมาทั้งการดำเนินชีวิต และดูแลสภาพจิตใจ


 "ไปไหนก็มักจะมีคนมอง เราก็อายอยู่นะ เมื่อก่อนจะไม่ออกจากบ้านเลย เดี๋ยวนี้ก็เฉยๆ ทำเป็นไม่เห็น จะขึ้นรถเมล์ก็ไม่คล่องตัว นั่งรถแท็กซี่สะดวกกว่า ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น ยิ่งเสื้อผ้าของคนอ้วนด้วยแล้ว เดินหาสักร้อยร้านจะเจอสักร้านหนึ่ง"

 กรณีของเบลล์อาจจะต่างกับ แต้ - กิตติคุณ แซ่แต้ นักศึกษาจากรั้วหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เจ้าของน้ำหนัก 145 กิโลกรัม ตรงความมั่นใจ ถึงอย่างนั้น เขาก็รู้สึกถึงความแตกต่างจากผู้คนรอบข้างอยู่เหมือนกัน

"คนอ้วนบางครั้งมีความคิดมองโลกที่ไม่เหมือนคนอื่นคิด ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูด้วย ผมถูกเลี้ยงดูว่าให้มองโลกให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าเอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าดีหรือไม่ดี เราก็คนเหมือนกัน" เขาออกความเห็น


 แต่กับตัวของ อัฐพณ แดงค้ำคุณ หรือ ปิ๊ก น้ำหวาน ที่มาร่วมแบ่งปันโลกของคนอ้วนในงานเสวนา "ลดความอ้วนอย่างไรให้ได้ผล กับ ผ่าตัดลดความอ้วนช่วยได้แค่ไหน" ที่จัดโดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ยอมรับถึงความทรมานที่เมื่อก่อนต้องแบกน้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัมไว้กับตัวเอง ซึ่งบางครั้งแทบเอาตัวไม่รอด

 "อยู่ในสังคมยากมาก คนก็ล้อ เสื้อผ้าก็หาใส่ยาก ต้องหาที่ใหญ่กว่าคนธรรมดาสามถึงสี่เท่า ทำอะไรไม่ได้มากก็เหนื่อยแล้ว บางครั้งเหมือนเราจะขาดใจตายให้ได้ เวลาออกกำลังมากๆ ทั้งๆ ที่แค่ 5 นาทีเองนะ"


 รศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงผลกระทบทางความรู้สึกที่จะเกิดกับคนอ้วนว่า ต้องแบกรับความกดดันจากสังคมอยู่พอสมควร ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือโรคเรื้อรังตามมาในที่สุด

 "คนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนผอม โรควิตกกังวล หรือโรคเครียดเรื้อรัง ทำให้ยิ่งกินเยอะ กินมากจนควบคุมไม่อยู่จนกลายเป็นภาวะแทรกซ้อน และยิ่งส่งผลทางลบกับสุขภาพในที่สุด

คอร์ส หรือ ยา ที่หายอ้วน


 เพราะอ้วนเหมือนเป็นปัญหาโลกแตกอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิต แถมการออกกำลังกายให้ "น้ำหนักลง" ก็ยังต้องอาศัยระยะเวลา และความตั้งใจ หลักสูตรลดน้ำหนักแบบเร่งรัดต่างๆ จึงถูกนำเสนอมาให้เลือกสรรอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ส่วนผสมส่วนบุคคล ไปจนถึงสถาบันความงามทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วเมือง


  ยิ่งสภาพสังคมเน้นภาพลักษณ์ในปัจจุบัน คลินิคความงามจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งการให้ยา การฉีดเฉพาะจุด หรือการเข้าคอร์สอีกสารพัดโปรแกรม

 อย่าง คาร์บ็อกซี่ (Carboxy) อีกวิธีรักษาด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบบริสุทธิ์ ที่นิยมใช้ในทางการแพทย์ โดยฉีดเข้าไปที่ชั้นไขมันเฉพาะจุดที่ต้องการลด ซึ่งเป็นที่นิยมมากในคนทำงาน และหมู่นักศึกษา เพราะเห็นผลทันที  แตกต่างจากการรับประทานยาที่นอกจากผลจะไม่แน่นอนแล้ว อาจส่งผลเสียต่อระบบร่างกายและสมอง

 สิริเจน จันทราช พยาบาลประจำคลินิกเวชกรรมความงามมายแคร์ ย่านมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เล่าเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการลดความอ้วนที่ได้ผลว่า การรักษาที่จะได้ผลมากที่สุดก็จะขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของคนไข้ในการเข้าคอร์ส


 "ต้องมีความอดทนจริงๆ และปริมาณไขมันในร่างกายของคนไข้ ต้องดูว่ามีจำนวนมากหรือน้อย เป็นไขมันลักษณะแบบไหน ซึ่งก็ไม่สามารถบอกอย่างระบุได้ว่าจะต้องรักษากี่ครั้งจึงจะลดได้จริงและเห็นผล คนไข้จะต้องดูแลตัวเองโดยการควบคุมการรับประทานอาหาร และต้องออกกำลังกายควบคู่กันไป หากกลับไปใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมๆ ไม่ดูแลตัวเอง ก็จะกลับมาอ้วนเหมือนเดิม" เธอบอก


 ถึงแม้ว่า คอร์สลดความอ้วนจะเป็นที่นิยมใช้เพราะค่อนข้างเห็นผล ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยในกระเป๋าสตางค์ว่ามีมากน้อยเพียงใด  "ยาลดความอ้วน" จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนแต่ไม่มีเงินมากนัก เพราะราคาไม่แพง แต่ก็ต้องรับสภาพกับผลข้างเคียง ซึ่งโดยส่วนมากยาลดความอ้วนนั้นจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้ผู้รับประทานยาไม่รู้สึกอยากอาหาร เมื่อรับประทานได้น้อยลง น้ำหนักและความอ้วนก็จะลดลงตามไปด้วย

จากกรณีนี้ ปิ๊ก น้ำหวาน ที่เคยรับประทานยาลดความอ้วน แบ่งปันถึงผลต่อร่างกายของเขาในขณะนั้นว่า

 "เราจะชอบหลงๆ ลืมๆของ ส่วนกาแฟลดความอ้วน ปิ๊กก็เคยกินมาแล้ว ช่วงแรกๆมันก็จะผอมจริง แต่เมื่อหยุดกินปุ๊บก็จะเป็นโยโย่ขึ้นมาทันที คือร่างกายจะอ้วนขึ้นทุกวันๆ จนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้" นั่นยิ่งส่งผลทำให้เกิดความเครียด และน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากการพยายามลดน้ำหนัก


 แนวทางการลดความอ้วนที่ได้ผลดี และไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ผศ.นพ.มนต์ชัย ชาลาประวรรตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำหลักคิดง่ายๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับใครที่กำลังมองหาวิธีการลดความอ้วนอย่างจริงจัง ว่า" ต้องพึ่งตนเอง อย่าหวังพึ่งคนอื่น"


 "หมายถึงการออกกำลังกาย การควบคุมอาหารอย่างจริงจัง และการอดทนไม่ย่อท้อเพื่อให้ได้ซึ่งสุขภาพที่ดีในที่สุด" คุณหมอบอก



ผ่าตัด = คำตอบสุดท้าย?

 การรักษาโดยการผ่าตัดนั้นเริ่มเป็นที่นิยมและยอมรับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการรักษาโรคอ้วน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ที่เข้ารับรักษา ว่าเป็น "โรคอ้วนผิดปกติ" หรือ จะต้องมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

 ผศ.นพ. สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรักษาโรคอ้วนโดยการส่องกล้อง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเกี่ยวกับกระบวนการักษาโดยการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องว่า หลักการรักษาใหญ่ๆ มีอยู่ 2 ชนิดได้แก่ ลดขนาด และลดการดูดซึม โดยสามารถทำได้ทั้งหมด 3 วิธี คือ การรัดกระเพาะอาหาร การลดขนาดของกระเพาะอาหาร และการตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารและบายพาสลำไส้

"แต่ละวิธีนั้นจะมีขั้นตอนการรักษาที่แตกต่างกันออกไป วิธีแรกแพทย์จะลดขนาดของกระเพาะอาหารด้วยการใส่ Sag Band เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เข้าไปรัดกระเพาะอาหารทำให้เกิดกระเปาะเล็กๆ จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยอิ่มอาหารได้เร็วขึ้น ต่างจากอีกสองวิธีที่จะรักษาโดยใช้หลักการลดการดูดซึม วิธีนี้ถือว่าเป็นที่นิยมมาก โดยการลดขนาดของกระเพาะอาหาร วิธีการรักษาคือแพทย์จะใช้อุปกรณ์ผ่าตัดเฉพาะทาง เข้าไปตัดกระเพาะอาหารส่วนที่สามารถขยายได้ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อลดการขยายตัวในอนาคต

 "ในส่วนของวิธีสุดท้ายคือการทำบายพาสลำไส้ นอกจากจะช่วยให้อิ่มเร็วแล้วยังช่วยให้ความรู้สึกหิวลดน้อยลงไปด้วย แพทย์จะใช้ลวดแบ่งกระเพาะอาหารเป็น 2 ส่วน ซึ่งจะเกิดกระเปาะเล็กๆขึ้น เพื่อให้รับปริมาณอาหารได้ไม่มาก จากนั้นแพทย์จะเอาลำไส้อ้อมผ่านมาต่อกับกระเปาะเล็กนั้น ทำให้อาหารไม่ผ่านกระเปาะใหญ่" นี่คือวิธีเดียวกันกับที่ใช้รักษาปิ๊ก น้ำหวานด้วย

 เขาเล่าถึงขั้นตอนในการรักษาว่า ช่วงเวลาที่แพทย์ใช้ไปทั้งหมดในการผ่าตัดร่วม 12 ชั่วโมง จะต้องมีการวางแผนอย่างละเอียด เพื่อระวังเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่างๆในระหว่างการผ่าตัดเช่น เส้นเลือดอุดตันเนื่องจากเลือดไม่ไหลเวียน หรือแผลติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลร้าย "ถึงแก่ชีวิต" กับตัวคนไข้ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ผลการรักษาที่ได้มา นอกจากจะช่วยให้คนไข้มีน้ำหนักตัว และความอ้วนที่ลดลงแล้ว จะช่วยรักษาโรคแทรกซ้อนอย่างโรคเบาหวาน และความดัน ได้อีกด้วย

 หลังจากคนไข้ได้เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดแล้ว การดูแลตนเองถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพื่อให้การรักษาบรรลุผล หมอสุเทพเล่าถึงขั้นตอนปฏิบัติตัวที่คนไข้ต้องนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยทั้งหมดต้องดูแล "ตลอดชีวิต"

 "คนไข้จะต้องออกกำลังกายทุกวัน วันละ 30 นาที ต้องดื่มน้ำให้มากๆ งดดื่มน้ำก่อนและหลังการรับประทานอาหาร 30 นาที งดการดื่มน้ำจากหลอดให้ดื่มจากแก้วโดยตรงเพื่อป้องกันการแทรกตัวของอากาศ งดการดื่มกาแฟ ชา น้ำอัดลม น้ำหวาน ต้องรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เผื่อเอาไปใช้ในพลังงานที่ร่างกายสะสมอยู่ งดแป้ง อาหารที่มีไขมันสูง ทานอาหารช้าๆ หยุดรับประทานทันทีที่รู้สึกอิ่ม นอกจากนี้ยังต้องรับประทานวิตามินเสริมเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น" 

 นอกจากข้อควรปฏิบัติข้างต้นทั้งหมดแล้ว ยังต้องมีเป็นปัจจัยแวดล้อมที่นำไปสู่การปรับตัวของคนไข้ที่ "จำเป็น" ไม่แพ้ข้อปฏิบัติ ก็คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร สภาพแวดล้อมรอบตัวหรือครอบครัว และ พฤติกรรมส่วนตัวของคนไข้

 "ทรมานอยู่นานเหมือนกันกว่าจะปรับตัวได้" ปิ๊ก ยืนยันถึงประสบการณ์หลังผ่าตัดที่เกิดขึ้นกับตัวเอง 
 

ไม่ว่าทางเลือก หรือวิธีการในการเอาชนะ "ความอ้วน" นานับประการจะ "คลิก" กับตัวเราแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญ และทรงประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างเกราะป้องกันความอ้วนก็คือ "อย่าอ้วน"

 "ถ้าคุณยังไม่อ้วนก็อย่าอ้วน แต่ถ้าอ้วนแล้วก็อย่าให้อ้วนไปกว่านี้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการรักษาโรคอ้วนที่ดีที่สุด" นพ.สุเทพ ฟันธง

ท่าไหร่ถึงอ้วน

  Body Mass Index (BMI) เป็นสูตรวัดความอ้วน เพื่อประเมินหาไขมันส่วนเกินในร่างกาย เพื่อคำนวณความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน มีสูตรการคำนวณง่ายๆ คือ

 ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว หารด้วย ความสูง ยกกำลัง สอง

 โดยผลการคำนวณดัชนีมวลกายนี้สามารถแบ่งระดับความอ้วนทางการแพทย์ออกได้ดังนี้

 40 หรือมากกว่านี้ : โรคอ้วนขั้นสูงสุด

 35.0 - 39.9: โรคอ้วนขั้นที่ 2

 28.5 - 34.9: โรคอ้วนขั้นที่ 1

 23.5 - 28.4: น้ำหนักเกินแล้ว

 18.5 - 23.4: น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ

 น้อยกว่า 18.5: น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์