วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

เทสต์ คาร์ เชฟโรเลต ครูซ ตอบสนองทุกความต้องการ

คอลัมน์ เทสต์ คาร์

โดย อมร พวงงาม


กลางสัปดาห์ก่อน "คุณพี่จอย" ศศินันท์ ออลแมนด์ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขนทัพนักข่าวกว่า 80 ชีวิตไปร่วม ทดสอบเชฟโรเลต ครูซ คอมแพ็กต์ซีดานรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งตั้งใจเอามาแทนเชฟโรเลต ออพตร้า ที่จังหวัดเชียงใหม่ผมเองก็ไม่พลาดโอกาสที่จะไปร่วมสัมผัสและเรียนรู้ถึงสมรรถนะเจ้าครูซตัวนี้ เนื่องจากเป็นของใหม่เอี่ยมอ่อง หรือจะบอกว่า "สด" ที่สุดในตลาดตอนนี้เลยก็ไม่ผิด
และที่สำคัญรถคันนี้ยังได้รับการพัฒนาโดยทีมงานจีเอ็มและเชฟโรเลตจากทั่วโลก ภายใต้แนวคิด "โกลเบิล คอมแพ็กต์ คาร์" พร้อมการันตีความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัลต่าง ๆ กว่า 40 รางวัล 
ว่ากันว่าก่อนที่จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในบ้านเรา "ครูซ" ได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่น ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นจากยอดขายมากกว่า 2,000 คันคุณพี่จอยบอกว่า ที่เลือกโลเกชั่นทดสอบพื้นที่ภาคเหนือ ก็เพราะที่นี่มีเส้นทางหลากหลายที่ครบทุกความท้าทาย

เริ่มจากถนนในตัวเมืองที่การจราจรค่อนข้างคับคั่ง ลัดเลาะออกนอกตัวเมืองด้วยเส้นทางหลวงสู่ความท้าทายของถนนทางชันขึ้น-ลงภูเขา ที่พร้อมให้เหล่านักทดสอบและผู้สื่อข่าวทุกคนได้ทดสอบสมรรถนะของเชฟโรเลต ครูซ ทั้งอัตราเร่งและระบบกันสะเทือนกันอย่างเต็มที่ ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายของขุนเขาอันงดงามตามเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่


การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 เส้นทางหลัก คือ การทดสอบบนเส้นทางตัวเมืองเชียงใหม่-สะเมิง สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 2.0 ลิตร และการทดสอบบนเส้นทางตัวเมืองเชียงใหม่-แม่แตง สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร ทั้งสองเส้นทางต้องการให้ผู้ทดสอบได้ทราบถึงจุดขายของเชฟโรเลต ครูซ ตั้งแต่ขุมพลัง ระบบกันสะเทือน ระบบส่งกำลังที่โดดเด่น โดยเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ที่มาพร้อม DSC-Driver Shift Control สามารถปรับเปลี่ยนเกียร์ได้แบบเกียร์ธรรมดา 
เราปล่อยสตาร์ตกันที่ "ดิ ออฟฟิศ" ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมือง ใกล้ ๆ หัวสนามบินเชียงใหม่ ผมได้กรุ๊ปแรกจำนวน 10 คัน เป็นเครื่องดีเซล 2.0 ลิตร เส้นทางทดสอบก็ต้องไปขึ้นเขากันละครับ ปล่อยให้กรุ๊ปหลังเครื่องเบนซินอีก 10 คันไปโลดแล่นกันในเมือง

หลังจากเปิดประตูรถ สัมผัสแรกที่ได้เห็น ยก "นิ้วโป้ง" ให้เลยครับ ไม่ใช่โกรธนะ แต่ไม่อยากเชื่อ หันไปพูดกับเพื่อน นักข่าวอีกฉบับว่า "เดี๋ยวนี้อเมริกันที่เอะอะอะไรก็เลือกผลิตของใหญ่เทอะทะไว้ก่อน วันนี้เขาดีไซน์รถได้สวยงามเยี่ยงนี้เชียวหรือ ?"

ไล่เรียงมาตั้งแต่หน้าปัดทรงกลม แดชบอร์ดที่ต่อเชื่อมกับแผงข้างประตู และคอนโซลกลางได้อย่างลงตัว สวิตช์ควบคุมต่าง ๆ ใช้งานง่าย พวงมาลัยทรงสปอร์ตสวยบาดตาบาดใจ วัสดุที่ใช้ก็เนียนมาก แถมมีดีไซน์ด้วยสีสัน ซึ่งโดนใจวัยรุ่น

จะมีต้องติบ้างนิดหน่อย เช่น ขาดที่พักเท้า ทำให้เวลาขับบาลานซ์ตัวยังไม่ดีเท่าที่ควร สวิตช์ควบคุมพัดลมแอร์ชิด ขาซ้ายมากไป จังหวะเลี้ยวหรือโยนตัวหัวเข่าไปถูก ทำให้ความแรงลมเปลี่ยนแปลงบ่อย 
และที่น่าตีมากที่สุดก็คือ ตำแหน่งก้านไฟเลี้ยว ปกติรถอเมริกัน ยุโรป ก็เป็นที่คุ้นเคยกันว่าต้องใช้มือซ้าย แต่ครูซตัวนี้อยากเอาใจคนไทยที่ติดมือขวากับรถญี่ปุ่น ก็เลยย้ายข้างซะ กว่าจะคุ้นก็เล่นเอาปัดน้ำฝนทำงานไปหลายสิบเที่ยว

ฟิลลิ่งการขับขี่ คะแนนเต็ม 10 ผมให้ 8-9 แต้มเลยนะครับ ทะมัดทะแมงดีมาก แฮนด์ลิ่งไปได้ตามสั่ง ระบบช่วงล่างก็หนึบเอาเรื่อง ยิ่งได้เสี่ยป็อด ประภาฬ ม้ามณี วางเส้นทาง โหย...สนุกมือดีจริง ๆ 

เส้นทางจากแม่ริมขึ้นสะเมิง หลายคนคงรู้ว่ามีเป็นร้อย ๆ โค้ง ทั้งขึ้นเขายาวต่อเนื่องสลับหัวศอกขวา หักศอกซ้าย และปักหัวลงแบบน่ากลัว แต่ "ครูซ" ตัวนี้ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ได้ยอดเยี่ยม เครื่องยนต์ดีเซล 2 ลิตรดีเซล พร้อมเทอร์โบแปรผัน VGT พ่วงไปกับเทคโนโลยีหัวฉีด VCDi ที่มีแรงดันสูงถึง 1,600 บาร์ ควบคุมการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อม อินเตอร์คูลเลอร์ขนาดใหญ่ รีดกำลังสูงสุดได้ถึง 150 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที 



แรงบิดจำนวนมหาศาลที่ 320 นิวตันเมตร ซึ่งมาในรอบ ต่ำ ๆ เพียง 2,000 รอบ/นาที ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดได้อย่างลงตัว แต่บางช่วงที่ต้องการ ความต่อเนื่องของกำลังเครื่องยนต์ แนะนำให้ใช้วิธีโยกปรับเปลี่ยนเกียร์แบบแมนวล ซึ่งเชฟโรเลตเรียกระบบนี้ว่า DSC หรือ Driver Shift Control จะทำให้การเรียกกำลังได้ ต่อเนื่องและราบรื่นกว่าเยอะเลย เพราะหากปล่อยให้อยู่ในโหมด D ซึ่งปรับเปลี่ยนเอง ต้องบอกว่า "ช้า" ไม่ทันใจวัย รุ่นเอาเสียเลย 

นอกจากพละกำลัง การขับขี่ได้อย่างตื่นเต้นแล้ว ด้านระบบความปลอดภัยก็มีมาครบเพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์การขับขี่ ทั้งป้องกันเชิงรุกและเชิงรับ ด้วยตัวถังแบบ Body Frame Integral ซึ่งเป็นเหล็กกล้า high strength steel กว่า 65%

ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม ABS ป้องกันล้อล็อกขณะเบรกฉุกเฉิน มีระบบกระจายแรงเบรก ช่วยให้เบาแรงและรักษาสมดุล มีระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP และป้องกันล้อหมุนฟรี traction control เป็นอุปกรณ์มาตรฐานยกเว้นรุ่น 1.6 ลิตรเบนซิน

ส่วนรุ่นเบนซิน 1.8 ลิตร ก็สนุกด้วยอัตราเร่งจี๊ดจ๊าดใช้ได้ 141 แรงม้าที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดที่ 177 นิวตันเมตรที่ 3,800 รอบ/นาที ตัวนี้มีเกียร์ธรรมดา 5 สปีดให้เลือก 

ขณะที่รุ่นเบนซิน 1.6 ลิตร ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบ multi-point พร้อมระบบปรับระยะทางเดินท่อไอดีแบบแปรผัน รีดแรงม้าได้ 109 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที ขับสนุกแบบประหยัด รุ่นนี้ก็มีระบบเกียร์ธรรมดา 5 สปีดให้เลือกด้วย

สนนราคาเริ่มต้นที่ 7.3 แสน ไปจนถึงตัวท็อป 1.165 ล้านบาท จัดเป็นเก๋งขนาดกลางที่สาวกรถอเมริกันห้ามมองข้าม เด็ดขาด


Credit : http://www.prachachat.net