วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

ลองขับ : เชฟโรเลต ครูซ อนาคตแห่งเชฟโรเลต

โดย...นิธิ ท้วมประถม   
ลองขับเชฟโรเลต ครุซ เรือธงตัวใหม่จากค่ายเชฟโรเลต ที่ยัดออปชันมาเต็มเหนี่ยวพร้อมเครื่องเบนซินและดีเซล เพื่อท้าชนเจ้าตลาดอย่าง ซีวิค และ อัลติสโดยเฉพาะ
ไปลองขับ เชฟโรเลต ครูซ มาแล้วครับ รถยนต์นั่งสุดฮอต ที่ใครต่อหลายคนอยากทราบเหลือเกินว่าเป็นอย่างไร เพราะถือเป็นรถยนต์ขนาดกลางที่อยู่ในความสนใจของวงการรถยนต์ไม่ใช่น้อยทีเดียว
แถมยังเป็นรถยนต์นั่งที่ประกาศท้าชนเจ้าตลาดอย่าง ฮอนด้า ซีวิค และโตโยต้า อัลติส 2 ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งเชฟโรเลตก็ต้องมั่นใจไม่น้อยว่าตัวเอง “มีดี” พอที่จะขอท้าชนรุ่นพี่แบบนี้
ซึ่งหากมองเฉพาะรูปร่างหน้าตาแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า เชฟโรเลต ครูซ ก็มีดีพอที่จะแข่งกับซีวิค และอัลติส เหมือนกัน เพราะดูดุดัน ในแบบเท่ๆ ดูเป็นแมนดีครับ ขณะที่ซีวิคจะดูโฉบเฉี่ยว อ้อนแอ้น สาวๆ ชอบ ส่วนอัลติสนั้นอนุรักษนิยมขนานแท้ ไม่เน้นแฟชั่น ขอไปแบบเรื่อยๆ ไม่หวือหวา ซึ่งก็แล้วแต่ลูกค้าเลือกว่าจะชอบแบบไหน

ผมเชื่อว่ารูปร่างหน้าตาของเชฟโรเลต ครูซ นั้นน่าจะ “โดนใจ” ใครหลายๆ คนทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระจังหน้า 2 ชั้นที่เชฟโรเลตเรียกว่า “ดูอัลพอร์ตดีไซน์” และโลโก้ “โบว์ไท” ขนาดใหญ่ ทำให้เชฟโรเลต ครูซ ดูแมนไม่น้อยทีเดียว ไฟหน้าออกจะยาวๆ แปลกตาดี ด้านท้ายรถถูกออกแบบให้สั้นลง เพื่อให้ดูเป็นรถ 4 ประตูคูเป้
ไฟท้าย 2 ดวง แยกส่วนกัน พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 ที่ใช้หลอด LED 12 ดวง เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนที่ขับตามหลังได้เห็นไฟเบรกชัดขึ้น และเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในเชฟโรเลต ครูซ ครบทั้ง 7 รุ่น เหมือนกับระบบเบรกเอบีเอส และระบบช่วยเพิ่มแรงกดเบรก หรือ EBD ก็เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่นครับ
ระบบเบรกเอบีเอสที่เชฟโรเลตใช้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในครูซทั้ง 7 รุ่น รวมไปถึงรุ่นต่ำสุดคือรุ่น 1.6 MT หรือรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เกียร์ธรรมดานั้นเป็นเรื่องที่น่ายกย่องอย่างมาก และน่าจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการรถยนต์เมืองไทยให้ใส่ใจกับความปลอดภัยของผู้ขับขี่ทุกคน ไม่ว่ารถรุ่นนั้นจะเป็นรุ่นถูกหรือรุ่นแพง “ลูกค้าทุกคน มีค่าเสมอ”
เชฟโรเลตรู้ตัวดีอยู่แล้วว่าการก้าวเข้ามาในสมรภูมิรถยนต์นั่ง 4 ประตูขนาดกลาง หรือที่เรียกกันว่า B Segment นั้น ต้องเหนื่อยไม่น้อยกับการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากซีวิค และอัลติส เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เชฟโรเลตจำเป็นต้องทำนอกเหนือจากรูปร่างหน้าตาใหม่แล้ว ก็คือต้องสร้างความ “คุ้มค่า” ให้กับเชฟโรเลต ครูซ ให้ได้มากที่สุด และนั่นทำให้เชฟโรเลต ครูซ นั้นมีออปชัน ที่เรียกว่ามากมายก่ายกอง ถึงขนาดที่ว่าอาจทำให้ลูกค้าสับสนได้ หากไม่ศึกษาวิธีการใช้ให้ดีๆ
เชฟโรเลต ครูซ มีเครื่องยนต์ให้เลือกทั้งหมด 3 ประเภท คือ เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.6 ลิตร เบนซิน 1.8 ลิตร และเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร โดยราคาขายไล่ระดับกันไปตั้งแต่ 7.35 แสนบาท ถึง 1.165 ล้านบาท ตามขนาดของเครื่องยนต์และออปชันที่ติดมาให้

ช่วงแรกผมมีโอกาสได้ขับเชฟโรเลต ครูซ ตัวท็อปสุด คือ 2.0 LTZ AT หรือเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของผมอย่างแรง ที่อยากรู้ว่า เมื่อเชฟโรเลตนำเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร ที่ใส่ไว้ในเชฟโรเลต แคปติวา มาใส่ในเชฟโรเลต ครูซ ซึ่งตัวเล็กกว่าตั้งเยอะแล้วจะเป็นอย่างไร
เข้ามาในห้องโดยสารก็ต้องร้อง “โอ๊ะ” กับเขาเหมือนกัน เพราะภายในของครูซนั้นเท่มากๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยหนัง 3 ก้านแบบมัลติฟังก์ชัน มาตรวัดทรงกลมขนาดใหญ่ 3 วง หลังพวงมาลัย ดูลงตัวดีมาก คอนโซลหน้าสีแดงเลือดหมู กับสีดำ เข้ากับเบาะหนังสีดำแดงอย่างลงตัว และดูสปอร์ตมากขึ้นอีกโขทีเดียว
คุณภาพการประกอบ รวมถึงคุณภาพของอุปกรณ์ภายในถือว่าดูดีทีเดียว เรียกใครขึ้นมานั่งด้วยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนติโน่นตินี่ให้เสียความมั่นใจ
อีกอย่างที่ต้องชมคือความกว้างขวางภายใน ถือว่ากว้างมาก ยืดแข้งยืดขาได้เต็มที่หายห่วง รวมถึงความสูงภายในห้องโดยสารก็สูงเอาการอยู่ แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นรูปทรงลิ่ม แต่เมื่อเข้ามานั่งแล้วรับรองได้ว่า นั่ง 4 คน (รวมคนขับ) ไม่อึดอัดแน่นอน ฟันธง!!
กดปุ่มสตาร์ตรถ เสียงเครื่องยนต์ดังขึ้นเบาๆ ไม่ดังเหมือนกับในแคปติวา แถมเครื่องยังนิ่งกว่าด้วย ก็ต้องถือว่าเชฟโรเลตทำการบ้านสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่เอามาใส่ในครูซไว้ค่อนข้างดี
ยังไม่ทันได้ออกตัว ก็ต้องมาวุ่นวายอยู่กับออปชันของเชฟโรเลต ครูซ ที่จะต้องเข้าไปปรับบริเวณหน้าจอแสดงผลข้อมูลที่อยู่ตรงกลางคอนโซลครับ เริ่มตั้งแต่ปรับตั้งภาษา ซึ่งทางโรงงานจะตั้งเป็นภาษาอังกฤษมาให้ แต่ถ้าใครอยากแปลกไม่เหมือนใคร ก็ปรับเป็นภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาอื่นๆ ก็ไม่ผิดกติกาอะไร
เราสามารถปรับระบบต่างๆ ได้ “เยอะ” มากครับ มีตั้งแต่ปรับระบบส่องสว่างภายใน ภายนอกห้องโดยสาร ปรับระบบล็อกประตู โดยสามารถตั้งให้ปลดล็อกทั้ง 4 บาน 2 บาน หรือ 1 บาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ ซึ่งเจ๋งมากๆ ผมยังไม่เคยเห็นในรถรุ่นไหนนะครับ ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับเจ้าของรถดีทีเดียว

นอกจากนี้ยังสามารถปรับระดับเสียงเตือนรีโมต ให้เสียงเบา-ดังได้ ดังได้กี่ครั้ง หรือจะไม่ให้มีเสียงเตือนมีแต่ไฟกะพริบก็ได้เหมือนกัน ลูกเล่นเพียบใช้ได้!
ลองขับเลยดีกว่าครับ เครื่องยนต์ดีเซล ให้การตอบสนองต่อการขับขี่ใช้ได้ทีเดียว แรงม้า 150 แรงม้า ที่รอบเครื่องยนต์ 4,000 รอบต่อนาที กับแรงบิดที่ 320 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ 2,000 รอบต่อนาที ทำงานได้ดีมากสำหรับการใช้งาน
อัตราเร่งดีทีเดียวทันใจแน่นอน มุดซ้ายมุดขวาไม่มีปัญหา เสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามาในห้องโดยสารไม่มากนัก ไม่ถึงขนาดน่ารำคาญ แต่ก็ไม่ถือว่าเก็บเสียงได้สนิท
ทางเชฟโรเลตจัดเส้นทางทดลองขับสำหรับรุ่น 2.0 LTZ นี้ให้ขับลัดเลาะเลียบเขา มีคดโค้ง และทางลาดชันไม่น้อย เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงอัตราเร่ง และแรงบิดของเครื่องยนต์ดีเซลแบบเทอร์โบแปรผัน VGT นั้นก็เห็นผลงานครับ เพราะอัตราเร่งทางคดโค้งบนเขาทำได้ดีพอสมควร แต่น่าแปลกใจก็ตรงที่เวลาขึ้นเนินชันๆ ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำ กำลังเครื่องยนต์หายไปเฉยๆ เลยครับ ต้องเร่งเครื่อง “หนัก” พอสมควรถึงจะเรียกแรงบิด หรืออัตราเร่งกลับมาได้ ทั้งๆ ที่ตามสเปกเครื่องยนต์บอกว่า แรงบิดทำงานที่รอบเครื่องยนต์เพียง 2,000 รอบต่อนาทีเท่านั้น ก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรกับอัตราเร่งของเครื่องยนต์ดีเซลตัวนี้ ถ้าถามว่าปรู๊ดปร๊าดหรือไม่ บอกได้เลยว่ายังไม่ถึงใจ แต่ก็ไม่ขี้เหร่ ส่วนเรื่องความประหยัดนั้น อยู่ที่ประมาณ 16 กิโลเมตรต่อลิตร ตามจอแสดงผลบนคอนโซลนะครับ ซึ่งต้องขอลองขับเต็มๆ อีกครั้งแล้วจะมารายงานให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบอีกที
หันมาที่เครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร ที่มี 141 แรงม้า ที่ 6,200 รอบต่อนาที และแรงบิด 177 นิวตันเมตร ที่ 3,800 รอบต่อนาที นั้นทำงานได้ดีใช้ได้ การเร่งแซงไม่มีปัญหา แต่บอกไว้ก่อนเลยว่า เจ้าเชฟโรเลต ครูซ เครื่องยนต์เบนซินนั้นเป็นรถที่ชอบลากเครื่องยนต์จัดๆ ถึงจะขับสนุก แต่ก็ต้องทนฟังเสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามาในห้องโดยสารหน่อย
ถือว่าเชฟโรเลต ครูซ นั้นเป็นรถที่มีเครื่องยนต์ที่ขับสนุกใช้ได้ทีเดียว ทั้งเครื่องยนต์ดีเซล และเบนซิน เลยทีเดียว แต่จะสู้คู่แข่งได้หรือเปล่าอีกไม่นานเกินรอผมจะลองขับเปรียบเทียบให้เห็นครับ
นอกจากนี้ เรื่องของเครื่องยนต์แล้ว ต้องชมในเรื่องของความนุ่มนวลของระบบช่วงล่าง ซึ่งน่าจะทำให้ทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสารได้รับความสบายตลอดการเดินทางได้อย่างแน่นอน
แต่น่าเสียดายที่เชฟโรเลต ครูซ มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ เรื่องของแฮนด์ลิง หรือพวงมาลัย ที่ไม่แม่นยำเท่าที่ควร ยังมีจังหวะฟรีอยู่เหมือนกัน ทำให้การขับในทางคดโค้ง ที่ต้องการความแม่นยำของพวงมาลัยมากๆ นั้นต้องใช้ความระมัดระวังไม่น้อยทีเดียว เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าเชฟโรเลต ครูซ จะมาตกม้าตายง่ายๆ ในเรื่องนี้
แต่อย่างไรก็ตาม การมาของเชฟโรเลต ครูซ ก็ทำให้ตลาดรถยนต์ขนาดกลางได้คึกคักขึ้นมาอย่างแน่นอน