วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

▲▼ อมรรัตนโกสินทร์(12)-13 -14-15 ●● คุยเรื่องประเทศไทยกับ วิษณุ เครืองาม ▼▲

●● วิษณุ เครืองาม

● wis.k@hotmail.com

 พระภรรยาเจ้าแปลว่าเจ้านายสตรีที่เป็นเมียพระเจ้าแผ่นดิน ใช้เรียกรวม ๆ กันไปไม่ว่าจะเป็นพระอัครมเหสี หรือพระมเหสีชั้นใดก็ตาม

 นอกจากพระภรรยาเจ้าสามองค์ซึ่งเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่รุ่นเล็ก) ของรัชกาลที่ 3 คือ หม่อมเจ้าบัว หม่อมเจ้าปิ๋ว และหม่อมเจ้าสายในราชสกุลลดาวัลย์แล้ว รัชกาลที่ 5 ยังทรงรับพระองค์เจ้าหญิงสามพระองค์ซึ่งเป็นพระราชธิดารัชกาลที่ 4 ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยมมาเป็นพระภรรยาเจ้าอีกด้วย

 และโดยเหตุที่สามพระองค์นี้เป็นพระราชธิดาพระมหากษัตริย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอัครมเหสีหรือพระมเหสีเอกยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระภรรยาเจ้า และเจ้าจอมทั้งปวง ส่วนหม่อมเจ้าหญิงทั้งสามข้างต้นให้เป็นพระมเหสีชั้นพระอัครชายาเธอมีฐานะรองลงมา

 ธรรมเนียมไทยสมัยก่อน ผู้ชายมีเมียได้หลายคน แต่จะยกเป็นเมียเอกเมียรองไม่เท่ากัน สำหรับพระมหากษัตริย์ เมียเอกก็ยังอาจแบ่งเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา แต่จะซ้ายหรือขวาก็เอกทั้งนั้น พระองค์เจ้าหญิงสามพระองค์ที่เป็นพระอัครมเหสีคือพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ รัชกาลที่ 5 ตรัสเรียกว่า “แม่ใหญ่” พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ตรัสเรียกว่า “แม่กลาง” และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ตรัสเรียกว่า “แม่เล็ก” ทั้งสามทรงเป็นพี่น้องร่วมพระชนนีกัน

 ถ้าว่าโดยลำดับแล้ว พระอัครมเหสีพระองค์ใดประสูติพระราชโอรสก่อน ย่อมเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่และอยู่ในฐานะจะขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลต่อไป

 คราวนี้จึงอยู่ที่บุญญาบารมี พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (แม่กลาง) ประสูติพระราชโอรสก่อนคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศหรือทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ เมื่อเจริญพระชันษาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย (พระองค์นี้เป็นพระปิตุลาหรือลุงของรัชกาลที่ 8 และ 9)

 ในเวลาใกล้เคียงกัน พระอัครมเหสีพระองค์แรก พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (แม่ใหญ่) ประสูติพระราชธิดา และต่อมายังอยู่ในพระครรภ์อีกพระองค์ แต่ได้เกิดเหตุใหญ่ เรือพระประเทียบล่มขณะขึ้นไปบางปะอิน พระองค์เอง พระราชธิดา และพระราชกุมารในพระครรภ์จมน้ำสิ้นพระชนม์ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าสมเด็จพระนางเรือล่ม

●●ชื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเอามาจากสมเด็จพระองค์นี้เอง

คราวนี้ก็เหลือพระอัครมเหสีสำคัญอยู่สองพระองค์ มีพระราชดำริว่าทั้งสองทรงเป็นพี่น้องกัน พระฐานะก็เสมอกัน การเรียงลำดับอาวุโสของพระราชโอรสที่ประสูติจากพระอัครมเหสีทั้งสองจึงไม่ควรเรียงไปตามแต่ละสายหรือแต่ละท้อง แต่ควรนับพระราชโอรสทุกพระองค์ดุจว่าร่วมพระครรภ์กันโดยให้เรียงตามพระชนมายุ

●ดังนั้นเมื่อพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (แม่เล็ก) ประสูติพระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระชนมายุถัดไปคือห่างจากสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสองปี ก็นับว่าเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายผู้มีอาวุโสลำดับที่สองในจำนวนเจ้าฟ้าชายทั้งหมดที่มีพระชนมายุต่อมา เมื่อสิ้นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจึงได้เป็นมกุฎราชกุมาร

 “แม่กลาง” นั้นภายหลังเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ต่อมาเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (ป้า) ในสมัยรัชกาลที่ 7 และพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในสมัยรัชกาลที่ 8 และ 9 พระองค์นี้แหละที่ไทยกำลังเสนอพระนามไปยังยูเนสโกให้พิจารณายกย่องเป็นบุคคลสำคัญทางสาธารณสุข

 “แม่เล็ก” ต่อมาได้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จต่างประเทศ จึงได้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อลูกของท่านคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธได้เป็นรัชกาลที่ 6 ท่านจึงได้เป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ชาววังเรียกว่าสมเด็จพระพันปี

 ความจริงรัชกาลที่ 5 ยังมีพระภรรยาเจ้าอีกพระองค์ ถ้าจะว่าไปแล้วทรงเป็นพระมเหสีก่อนทุกพระองค์ด้วยซ้ำ และน่าจะดำรงพระยศยิ่งใหญ่ เพราะเป็นพระราชธิดารัชกาลที่ 4 เช่นกันคือพระองค์เจ้าทักษิณชา จนมีพระราชโอรสเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชาย ถ้ามีบุญก็จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเพราะประสูติก่อนเจ้าฟ้าชายทุกพระองค์ แต่บุญวาสนานั้นยากที่ใครจะกำหนดได้ สมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์นี้ประสูติได้ 1 วันก็สิ้นพระชนม์ นับแต่นั้นพระองค์เจ้าทักษิณชาก็ประชวรไม่ได้ทำราชการถวายอีกเลยจนสิ้นพระชนม์ ชื่อท่านก็พลอยหายไปด้วย

 ● รัชกาลที่ 5 ยังทรงรับเอาพระน้องนางซึ่งเป็นพระราชธิดารัชกาลที่ 4 อีกพระองค์มาเป็นพระภรรยาเจ้าคือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ประสูติจากเจ้าจอมมารดาสำลีในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาสำลีเป็นบุตรีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติหรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย จึงอยู่ในสกุลบุนนาค

  พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีมีพระราชธิดาพระองค์แรกคือสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ชาววังเรียกว่าทูลกระหม่อมหญิงใหญ่เพราะเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมหญิงพระองค์แรก ว่ากันว่าทรงพระสิริโฉมที่สุดในบรรดาเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ 5 ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “งามเหมือนเทวดา”

  ส่วนพระราชโอรสของพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีคือสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตร พระองค์เจ้าสุขุมาลฯ นี้ต่อมาได้ทรงเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวี พอถึงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงยกเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

หม่อมเจ้าสาย หม่อมเจ้าองค์เล็กสุดในบรรดาหม่อมเจ้าหญิงราชสกุลลดาวัลย์ที่กล่าวถึงในตอนต้น มีพระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพรฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ต้นราชสกุลยุคล ชาววังเรียกว่าสมเด็จชายเพราะพระชนนีมิได้เป็นพระอัครมเหสี จึงไม่เป็นชั้นทูลกระหม่อม หม่อมเจ้าสายเป็นเจ้านายสตรีที่มีฝีพระหัตถ์ทางการครัวการเรือนมาก ได้เป็นพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ

 ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงตั้งเป็นพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา คำว่า “วิมาดา” แปลว่าแม่เลี้ยง “ปดิวรัดา”
แปลว่าเป็นที่รักของสามี

 รัชกาลที่ 5 ยังมีพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมอื่นอีก บ้างก็มีพระราชโอรสธิดา บ้างก็ไม่มี แต่พระราชทานความเป็นธรรมเสมอกันตามฐานะและคุณงามความดี คือ การถวายปรนนิบัติซึ่งรวมไปถึงการดูแลสำรับกับข้าว ดูแลทุกข์สุขของคนในวัง การเย็บถักปักร้อย การร่วมรับแขกบ้านแขกเมืองซึ่งถือเป็นการทำราชการอย่างหนึ่ง

 บ่อยครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้พระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมมารดาบางท่านต้องรับเจ้านายเด็ก ๆ ที่กำพร้าแม่มาอภิบาลเลี้ยงดูแทนอีกด้วย

 อ้อ! การรับเอาสตรีใดมาเป็นพระภรรยาเจ้าหรือเจ้าจอมพระสนมอาจเกิดจากปัญหาการเมืองหรือความจำเป็นของชาติบ้านเมืองที่จะต้องใช้สารพัดวิธีเข้าป้องกันแก้ไขก็เป็นได้ ดังจะได้เล่าต่อไป.



●●● อมรรัตนโกสินทร์(13)

***
 คำว่า “ทูลกระหม่อม” เป็นคำลำลองที่ชาววังใช้เรียกขานแทนการออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและบรรดาพระราชโอรสธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเฉพาะที่ประสูติจากพระอัครมเหสี ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 เวลาพระราชโอรสธิดาของรัชกาลที่ 4 ตรัสถึงทูลกระหม่อมเป็นอันรู้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 4 เท่านั้น

&nsp;รัชกาลที่ 5 มีพระราชโอรสธิดา 77 พระองค์ แต่ที่จะออกพระนามเรียกทูลกระหม่อมได้เห็นจะไม่เกิน 20 พระองค์ คือ มีแต่เฉพาะที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งล้วนเป็นพระอัครมเหสีเท่านั้น พระราชโอรสธิดาพระองค์อื่นเป็นสมเด็จหรือเสด็จทั้งสิ้น



คำว่า “ทูลกระหม่อม” บางครั้งก็กร่อนจนสั้นลงเป็น “ทูลหม่อม” บางทีเพื่อให้รู้ว่าเป็นทูลกระหม่อมพระองค์ใดก็จะเพิ่มพระนามเล่นตามไปด้วย เช่น ทูลกระหม่อมแดง ทูลกระหม่อมเอียดน้อย บางทีเรียกตามพระสถานะ เช่น ทูลกระหม่อมชาย ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ ทูลกระหม่อมพระ บางทีก็เรียกตามที่ประทับ เช่น ทูลกระหม่อมวังบางขุนพรหม

 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องนับถือพระองค์เจ้าหญิงละม่อมพระราชธิดารัชกาลที่ 3 มาก เพราะถวายอภิบาลเลี้ยงดูมาตั้งแต่สิ้นสมเด็จพระบรมราชชนนี โปรดฯ ให้เป็นสมเด็จกรมพระยาสุดารัตน์ฯ ชาววังออกพระนามว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” เห็นจะเป็นเจ้านายชั้นเสด็จพระองค์เดียวที่ชาววังเรียกทูลกระหม่อมทั้งที่ไม่ได้ประสูติจากพระอัครมเหสี

 คำว่า “สมเด็จ” เป็นคำลำลองอีกคำใช้เรียกพระราชโอรสธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าที่ประสูติจากพระมเหสีเทวีอื่น ๆ ซึ่งไม่ถึงชั้นพระอัครมเหสี เช่น สมเด็จชาย (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีฯ) สมเด็จหญิงใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์) บางทีมิได้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามาแต่ประสูติ แต่เมื่อทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าชั้นสมเด็จก็เรียกสมเด็จได้ เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นต้น

 สมเด็จเจ้าฟ้าจึงมีทั้งที่เป็นทูลกระหม่อมและสมเด็จ แต่จะไม่เรียกว่าเสด็จเป็นอันขาด

 สมเด็จในที่นี้หมายถึงสมเด็จที่เป็นเจ้า คนละอย่างกับสมเด็จพระราชาคณะ เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระวันรัต

 ส่วนคำว่า “เสด็จ” เป็นคำลำลองใช้เรียกพระราชโอรสธิดาพระมหากษัตริย์ที่ประสูติจากเจ้าจอมหม่อมพระสนมทั่วไป พระสถานะจริงคือเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า บางครั้งเรียกเสด็จพระองค์หญิง เสด็จพระองค์ชาย สมัยรัชกาลที่ 4-5 มี “เสด็จ” อยู่มากดังที่รัชกาลที่ 4 ตรัสว่า “ข้าเป็นคนลูกมากรากดก” ชาววังมักมีคำพูดให้คนนอกวังอย่างเรางงเล่น เช่น “เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่าเสด็จจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จเสด็จเสด็จก็จะเสด็จด้วย” ฟังรู้เรื่องไหมครับ!

  ทุกวันนี้ไม่มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอีกแล้วมีแต่พระราชโอรสธิดาที่เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหรือทูลกระหม่อม 4 พระองค์ จึงมีการนำคำว่าเสด็จมาใช้เรียกพระราชนัดดาหรือเจ้านายชั้นหลานพระเจ้าแผ่นดินเฉพาะที่เป็นพระองค์เจ้า เช่น เรียกพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลว่าเสด็จพระองค์ชายใหญ่ เรียกพระองค์เจ้าสุทธศิริโสภาว่าเสด็จพระองค์หญิงสุทธ

  เจ้านายฝ่ายชายนั้นเมื่อเจริญพระชนมายุพอสมควรก็จะได้รับพระราชทานชื่อ ครั้นโสกันต์ (โกนจุก) แล้วซึ่งปกติจะทำเมื่อพระชนมายุ 11 (ถ้าเป็นหญิงจะทำเมื่อพระชนมายุ 12-13) หากเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายก็จะโปรดฯ ให้มีชื่อใหม่อีกครั้งเรียกว่า “ทรงกรม” พระสถานะจะเปลี่ยนเป็น “เจ้าต่างกรม” คือเป็นเจ้าที่สามารถปกครองบังคับบัญชาข้าในสังกัดได้จำนวนหนึ่ง เริ่มจากเป็นกรมหมื่น ต่อไปก็เลื่อนเป็นกรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมพระยา โดยมีข้าราชการยศเท่ากับเจ้าพระองค์นั้น เช่น ขุน หลวง พระ เป็นเจ้ากรมหรือผู้ใช้อำนาจแทน ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าฟ้าอาจต้องรอจนรับราชการมีความดีความชอบเสียก่อนจึงจะทรงกรมได้ เจ้านายผู้หญิงที่ทรงกรมพอมีบ้างแต่น้อยเต็มที บรรดาข้าในสังกัดมักเรียกเจ้านายของตนว่าเสด็จในกรมหรือสมเด็จในกรม ภายหลังใคร ๆ ก็พากันเรียกตามไม่ว่าจะอยู่ใต้สังกัดหรือไม่

 สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มธรรมเนียมตั้งพระนามกรมพระราชโอรสธิดาตามชื่อเมืองสำคัญ และยังคงใช้ต่อมา เช่น กรมพระนครสวรรค์ฯ กรมหลวงเพชรบุรีฯ กรมหลวงสงขลาฯ กรมขุนเพชรบูรณ์ฯ คล้าย ๆ ที่อังกฤษตั้งชื่อเจ้าตามเมือง เช่น ปรินซ์ ออฟ เวลส์ ดุคออฟยอร์ค ดุคออฟเอดินเบอระ

  แม้รัชกาลที่ 5 จะมีพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมพระสนมมากตามที่มีผู้ถวายมา แต่บางครั้งก็ยังมีความจำเป็นอื่น คราวหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียกษัตริย์อังกฤษทรงทาบทามขอพระราชบุตรีพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าครองนครเชียงใหม่ไปเป็นพระราชบุตรีบุญธรรม ทางกรุงเทพฯ วิตกมาก เกรงจะเป็นแผนผูกสัมพันธ์เพื่อฮุบเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนา เพราะตอนนั้นอังกฤษได้อินเดียและพม่าไปแล้ว

  รัชกาลที่ 5 จึงทรงส่งทูตไปเฝ้าเจ้านครเชียงใหม่ทูลขอพระราชบุตรีลงมาเป็นพระภรรยา เจ้านครเชียงใหม่ต้องคิดหนักว่าจะนับญาติกับอังกฤษหรือจะนับญาติกับพระเจ้ากรุงสยามดี ในที่สุดก็ยอมถวายพระเจ้ากรุงสยาม

  พระราชบุตรีนั้นคือเจ้าดารารัศมี โปรดฯ ให้เป็นพระภรรยาเจ้าตำแหน่งพระราชชายา มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่งชื่อพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ถือเป็นเจ้านายชั้นเสด็จ เมื่อสิ้นพระชนม์รัชกาลที่ 5 ทรงออกพระโอษฐ์ว่าเสียใจที่มิได้ยกลูกคนนี้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า คือควรเป็นชั้นสมเด็จได้ เพราะแม่เขาก็มีเชื้อสายกษัตริย์เชียงใหม่

  แม้การรับเจ้าดารารัศมีเป็นพระภรรยาเจ้าจะมีเหตุทางการเมือง แต่ก็ทรงเป็นที่สนิทเสน่หามาก และพระราชชายาก็ทรงวางพระองค์เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปทั้งยังทรงช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรสยามกับล้านนาจนสยามได้เป็นเอกภาพ

 คราวนี้จะได้ว่าถึงความยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงทำให้ไทยกลายเป็น “ชาติ” หรือ “รัฐ” ทั้งยังเป็นรัฐที่มีเอกราช เอกภาพ และมีความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรสืบมา

  รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ 42 ปี (2411-2453) ห้าปีแรกยังทรงพระเยาว์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องให้ผู้อื่นสำเร็จราชการแทน หกเจ็ดปีต่อมาแม้ทรงบรรลุนิติภาวะแล้วแต่ก็ยังมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และวังหน้าเป็นผู้ใหญ่ ช่วงนี้จึงมักเกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่ามักอ้าง “โบราณราชนิติประเพณี” ส่วนรุ่นใหม่ก็อ้าง “นานาอารยประเทศ” เทียบกับสมัยนี้ก็คงเป็น “กระแสโลกาภิวัตน์”

  เวลานั้นยุโรปก็กำลังจ้องเราตาเป็นมันโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ถ้าเราเดินเกมผิดก็จะเสียบ้านเมืองโดยง่าย เราจึงต้องคิดถึง “ธรรมเนียมการปกครองแบบใหม่” ไม่ว่าการเมืองการปกครอง การศาล กฎหมาย การให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพ การพัฒนาบ้านเมืองไม่ว่าถนนหนทาง สะพาน ตึกรามบ้านช่อง การติดต่อสื่อสาร การศาสนา การศึกษา หรือแม้แต่ทางทำมาหากิน

  ถ้าคราวนั้นเราได้ผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีคนช่วยคิด ไม่มีเวลาต่อเนื่องให้ทำงาน ไม่ใจกว้าง ธรรมเนียมการปกครองแบบใหม่ก็ยากจะสำเร็จลงได้

  ถึงได้บอกไงล่ะครับว่าความโชคดีของไทยคือการมีผู้นำที่มาอย่างพอเหมาะพอเจาะแก่กาลเวลาและความต้องการ ไม่ช้าไม่เร็วไป.

****************
●● อมรรัตนโกสินทร์ (14) ●●

  ที่รัชกาลที่ 3 เคยตรัสไว้ก่อนสวรรคตว่า การศึกต่อไปข้างหน้าข้างฝ่ายพม่าคงจะไม่มีอีกแล้ว ระวังก็แต่ข้างฝรั่งไว้เถิด เห็นจะไม่ผิดไปจากพระโอษฐ์ เพราะนับแต่นั้นมาฝรั่งชาติต่าง ๆ ก็ทยอยกันเข้ามามากขึ้น บ้างก็ว่าจะมาค้าขาย บ้างก็เข้ามาทำทีเผยแผ่ศาสนา

แต่ลงท้ายก็กลายเป็นเรื่องการเมืองการปกครองและการจะยึดเอาเราเป็นเมืองขึ้นทั้งนั้น

  ที่จริงเมื่อหลายร้อยปีก่อน ฝรั่งที่เป็นเจ้าโลกออกล่าหาเมืองขึ้นมีแต่โปรตุเกสและสเปนเท่านั้น เพราะมีกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่ มีสินค้าที่จะแลกเปลี่ยนมาก ที่สำคัญคือมีแผนที่การเดินเรืออันถือเป็นความลับสุดยอด สองประเทศนี้แก่งแย่งแข่งขันกันมาตลอด จนโป๊ปจับเซ็นสัญญาสงบศึกแบ่งโลกออกเป็นซีกตะวันตกให้สเปนไปวัดดวงเอา สเปนจึงไปอเมริกาเหนือและใต้ และซีกตะวันออกให้โปรตุเกสไปเสี่ยงเอา ตะวันออกนี้คืออินเดีย อยุธยา มลายู ชวา โปรตุเกสจึงมีท่าเรือใหญ่ที่เมืองกัว สุรัต ปอนดิเชอรี และมาสุลีปะตัมในอินเดีย มะละกาในมลายู และบางกอก

  ต่อมาประเทศที่ตกขบวนรถไฟในการทำสัญญาแต่เริ่มมีศักยภาพทางทะเลมากขึ้นก็ขอเข้ามามีเอี่ยวบ้าง เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา พวกนี้มักแทรกเข้ามาทางซีกตะวันออกของโปรตุเกส โดยล้ำเข้ามาในอินเดีย อยุธยา มลายู ชวา แหลมอินโดจีน ยิ่งพอโปรตุเกสอ่อนแอลงอังกฤษและฝรั่งเศสก็เข้ามาแทรกมากขึ้นจนคราวนี้แบ่งกันเองว่าอังกฤษเอาไปส่วนหนึ่ง ฝรั่งเศสเอาไปส่วนหนึ่ง อังกฤษได้อินเดีย พม่า บางส่วนของจีน และมลายู ฝรั่งเศสได้ลาว เขมร ญวน เหลือแต่ไทยที่ดำรงเอกราชอยู่แต่ง่อนแง่นเต็มทีเหมือนอยู่ใกล้ปากเหยี่ยวปากกา ใครมือยาวสาวได้สาวเอา

  ปลายรัชกาลที่ 3 ฝรั่งเข้ามาเจรจาการค้ากับไทยหลายคณะ ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ เช่น หันแตร บารนี (เฮ็นรี่ เบอร์นีย์) กาละฝัด (จอห์น ครอว์ฟอร์ด) เย สัปปุรุส (เจมส์ บรุคส์) ส่วนที่มาจากอเมริกาก็เช่นหันแตร (ฮันเตอร์) บัลเลสเตีย เรื่องใดที่พอเจรจาและยอมไปได้เราก็ยอมให้ แต่บางครั้งผู้แทนต่างชาติก็ยะโสโอหัง มายืนเท้าสะเอวต่อว่าเราบ้าง จะขอเข้าเฝ้าฯ บ้าง ขู่ว่าจะยกทัพเข้ามาบ้าง เราจึงไม่ยอม

  รัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาภาษาอังกฤษมามากตั้งแต่ยังไม่ครองราชย์ ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่ง ทรงคุ้นเคยกับบาทหลวง หมอ และผู้แทนต่างประเทศหลายคนจึงทรงรู้เท่าทันฝรั่งดี ที่สำคัญคือทรงตระหนักดีในกระแสยุโรปาภิวัตน์ (การคล้อยตามกระแสของยุโรป) รวมทั้งอันตรายหากเราแข็งขืนจึงทรงใช้วิธีการทูตเจรจาต่อรองหนักบ้างเบาบ้าง โอนอ่อนผ่อนปรนบ้าง ค้านคัดทัดทานบ้าง แต่การเดินทางเข้ามาของเซอร์จอห์น เบาว์ริง ผู้แทนควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพราะเข้ามายื่นหนังสือสัญญาเรียกร้องทั้งทางการค้า การทูต การเดินเรือ และการคุ้มครองชาวอังกฤษในทางศาสนา การทำธุรกิจ และคดีความต่าง ๆ ดุจว่าจะเอาเราเป็นเมืองขึ้น

 ขณะนั้นควีนวิกตอเรียมีอำนาจมากเมืองขึ้นก็มีมากจนอังกฤษได้ชื่อว่าดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เพราะค่ำที่ลอนดอนแต่ก็ยังเช้าที่เอเชียและแอฟริกาซึ่งเป็นของอังกฤษอยู่ดี ยิ่งอังกฤษได้อินเดียแล้วยิ่งน่ากลัว การที่คนทั่วโลกตื่นเต้นกับการเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและเคท มิดเดิลตันเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็เพราะต่อไปคู่นี้จะเป็นกษัตริย์และราชินีของประเทศที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนั่นเอง

  รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งคณะกรรมการต่อรองกับเซอร์จอห์น เบาว์ริงจนได้ข้อยุติมีการลงนามในสัญญา แต่หลังจากนั้นก็เป็นแบบอย่างให้อีกหลายประเทศเข้ามายื่นข้อเรียกร้องอย่างเดียวกันบ้าง

  เมื่อขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เรายิ่งอยู่ท่ามกลางวิกฤติที่น่ากลัวหลายอย่าง ไหนพระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระเยาว์ ไหนเจ้านายและขุนนางจะไม่สามัคคีกัน ยิ่งถ้าเป็นพวกรุ่นเก่าที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยม ท่านเหล่านี้ไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมบ้านเมือง บางทีขัดขวางอีกด้วย ไหนอิทธิพลความคิดแบบฝรั่งจะเข้ามามากดังที่มีชาวต่างประเทศเข้ามาหลายคน มีการตั้งโรงพิมพ์ และมีการสั่งหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเข้ามาหลายฉบับ มีการส่งคนไปเรียนเมืองนอก พวกหัวสมัยใหม่จึงมีมาก พวกนี้เอะอะก็จะเปลี่ยนแปลง และไหนบ้านเมืองจะไม่เป็นเอกภาพ อำนาจกระจายอยู่ตามเจ้านาย ขุนนาง และเจ้าเมืองต่าง ๆ โดยพระเจ้าแผ่นดินเองกลับไม่มีอำนาจเท่าใดนัก

  แต่อะไรก็ไม่เท่ากับการพยายามแผ่อิทธิพลต่างชาติเข้ามาครอบงำอยู่ทุกขณะ

  รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จสิงคโปร์ ชวา และอินเดียมาก่อนจึงพอจะทรงเข้าพระทัยว่าต้องเตรียมรับสถานการณ์อย่างไร ตอนต้นรัชกาล กรมพระราชวังบวรวังหน้าทรงถือว่าสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่สนับสนุนอยู่ พระองค์เองก็ทรงมีทหารในกำกับอยู่มากด้วยชินมาแต่ครั้งสมเด็จพระปิ่นเกล้า พอวังหลวงไฟไหม้ วังหน้าส่งทหารไปช่วยดับ ความจึงปรากฏว่าวังหน้ามีทหารอยู่มากจริง เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงให้วังหน้ามาเฝ้าฯ วังหน้ากลับหลบไปขออาศัยในสถานกงสุลอังกฤษและขอให้กงสุลใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์เข้ามาเป็นกาวใจ อังกฤษซึ่งจ้องจะเล่นบทผู้นำอยู่แล้วก็กระโดดฮุบสิครับ

  ข้างฝรั่งเศสก็มาอีกแบบคือแล่นเรือเข้ามาปิดปากอ่าว บางลำแล่นเข้ามาจนถึงหน้าวังหลวงที่ท่าช้าง พอเราต่อสู้จนจมเรือฝรั่งเศสได้ ฝรั่งเศสก็เรียกร้องค่าเสียหาย กะว่าถ้าไม่จ่ายก็จะหาเหตุยึดเมือง ต้องเรี่ยไรกันขนานใหญ่เพื่อหาเงินช่วยชาติ เจ้านายผู้หญิงต้องถอดสร้อยถอดแหวนขาย บุญที่มีคนนึกได้จึงไปเอาเงินถุงแดงรัชกาลที่ 3 ที่ทรงเก็บไว้มาสมทบจึงพอไถ่บ้านเมืองไว้ได้

  รัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระบรมราโชบายเสด็จฯไปยุโรปเพื่อให้รู้ว่าเราไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน แต่ทางสยามก็ยังถูกฝรั่งเศสบีบบังคับเรียกร้องเอาดินแดนที่เราเคยได้มากลับคืน จนเจียนจะรบกันใหญ่โต ระหว่างเสด็จฯไปยุโรป ดีที่พระเจ้าซาร์กษัตริย์รัสเซียทรงช่วย เช่น เสด็จลงฉายพระรูปประทับคู่กับรัชกาลที่ 5 ในสวนแล้วโปรดให้ส่งไปตีพิมพ์ในฝรั่งเศส โลกจะได้รู้ว่ากษัตริย์สยามพระองค์นี้เป็นพระสหายกับพระเจ้ากรุงรัสเซีย ใครอย่ามายุ่งนะ!

  การคุกคามของต่างชาติในช่วงเวลานั้นฝรั่งเปรียบตนเองว่าเหมือนหมาป่ากับลูกแกะ รัชกาลที่ 5 ตรอมพระทัยมาก ไม่เสวยไม่บรรทมประหนึ่งจะให้สวรรคต ทรงวิตกว่าฤๅถึงคราวจะเสียกรุงอีกหนในสมัยพระองค์

 ● ในที่สุดผลจากการเจรจาเราต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนให้ฝรั่งไปเพื่อแลกกับดินแดนส่วนใหญ่และอธิปไตย เช่น เสียดินแดนในเขมรให้ฝรั่งเศส และดินแดนในมลายูให้อังกฤษ อุปมาได้กับการยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เมื่อฝรั่งได้ไปบ้างแล้วจะมาขู่เข็ญเพิ่มเติมก็ดูกระไรอยู่ จึงเลิกร้างไป

 ● หนามยอกอกสำคัญอีกอย่างคือสัญญาที่ฝรั่งแห่กันมาบังคับให้เราลงนามตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 สาระสำคัญคือถ้าคนในบังคับฝรั่งชาตินั้น ๆ ทำผิดในเมืองไทยต้องขึ้นศาลฝรั่งและใช้กฎหมายฝรั่ง พวกคนไทยนี่ก็หัวใส พอทำผิดก็หนีเข้าสถานกงสุลฝรั่งประเทศโน้นประเทศนี้ ขอปฏิญาณตนเป็นคนในบังคับฝรั่ง พอศาลยกฟ้องก็ขอกลับมาเป็นคนไทยตามเดิม เอากับพ่อสิ!

 ● ที่ฝรั่งเรียกร้องอย่างนี้เพราะเขาไม่เชื่อศาลไทยและกฎหมายไทยซึ่งลงโทษแบบดำน้ำลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตอกเล็บบีบขมับที่เรียกว่าจารีตนครบาล เขาหาว่าป่าเถื่อน พอเราเจรจาขออำนาจศาลคืน เขาก็บอกให้ไปจัดระบบศาลและทำกฎหมายให้ทันสมัยเสียก่อนแล้วค่อยมาพูดกัน

  เห็นไหมครับว่า 42 ปีของรัชกาลที่ 5 ต้องทรงต่อสู้และจัดการกับหลายอย่างเหลือเกินเพื่อเรียกสิ่งที่สูญเสียไปกลับมาและระวังมิให้สูญเสียอะไรเพิ่มเติมอีก บ้านเมืองจึงอยู่มาได้ถึงวันนี้

ยิ่งรู้ก็ยิ่งรักยิ่งเห็นพระทัยและยิ่งชื่นชมพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เสียจริง!.

●●●●

▼▲ อมรรัตนโกสินทร์ (15) ▲▼

เล่าเรื่องอมรรัตนโกสินทร์มาได้ 14 ตอนแล้ว ขอเว้นวรรคสักวันเพื่อขอบพระทัยและขอบคุณท่านผู้อ่านที่มีจดหมายมาให้กำลังใจบ้าง สอบถามบางเรื่องเพิ่มเติมบ้าง ติชมบ้าง ที่ทักท้วงว่าไม่ยักเหมือนเรื่องที่เคยรู้ก็มี

แต่ส่วนใหญ่จะบ่นมาว่าเพิ่งอ่านเอาตอนหลัง ๆ เดลินิวส์เล่มก่อนหน้านี้ก็ชั่งกิโลขายไปแล้ว บางท่านบอกว่าตัดเก็บไว้แต่ก็ไม่ครบทุกตอน อย่างท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ บ่นว่าเมื่อก่อนเห็นลงพิมพ์ฉบับวันจันทร์ พอย้ายไปลงฉบับวันอังคารก็นึกว่าจบแล้วมั้งเลยไม่ได้ติดตาม กว่าจะรู้ก็ไปถึงไหน ๆ แล้ว

รวมความคือมีเสียงสอบถามมามากว่าจบแล้วจะรวมพิมพ์เป็นเล่มไหม ผมขอโบ้ยต่อไปทางเดลินิวส์ก็แล้วกันว่าถ้าจบแล้วจะรวมพิมพ์แจกฟรีหรือขายผมก็ไม่ขัดข้อง ถ้ามีรายได้อย่างไรขอยกให้มูลนิธิของเดลินิวส์ไปทำสาธารณประโยชน์ต่อทั้งหมดก็แล้วกันครับ

ท่านหญิงนังหรือ ม.จ.วุฒิเฉลิม วุฒิไชย ทรงพระกรุณาส่งอีเมลจากเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกามาประทานกำลังใจ และขอให้รวมพิมพ์เป็นเล่ม ท่านหญิงองค์นี้เป็นพระธิดากรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร จึงเป็นพระราชนัดดาของรัชกาลที่ 5 อีกท่านคือ ดร.วิญญู วิจิตรวาทการ บุตรชายคุณหลวงวิจิตรวาทการก็กรุณามีจดหมายมาให้กำลังใจเช่นกัน

คุณถนอม มีเมศกุล เขียนชี้แจงมาว่าแม้รัชกาลที่ 3 โปรดให้ปลูกอ้อยและเริ่มตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายส่งขายเมืองนอก แต่เข้าใจว่าอุตสาหกรรมฟอกน้ำตาลทรายขาวเพิ่งมามีในไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช่แล้วครับ! แต่น้ำตาลทรายสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นน้ำตาลทรายแดงจากน้ำอ้อย ตอนนั้นจีนนำเทคนิคการฟอกสีโดยใช้ปูนขาวและกำมะถันเข้ามาในไทยแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นที่นิยมเพราะเห็นเป็นของ “เคมี” ก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 เราใช้น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าวเป็นพื้น น้ำตาลทรายขาวมีบ้างแต่เป็นของแพงเพราะสั่งจากนอกเข้ามาทำขนมตระกูลทองจากโปรตุเกส เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง แต่ถ้าผสมยาจะใช้น้ำผึ้งเท่านั้น

คุณชยาทิต วรุณธัญญะ ช่างสงสัยดีแท้ว่าที่เชิญพระศพพระองค์เจ้าหญิงศรีวิลัยลักษณ์ขึ้นไปบางปะอิน แต่แล้วสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทราสรัทวารก็สิ้นพระชนม์ลงอีกพระองค์ที่บางปะอิน ต้องเชิญพระศพกลับลงมากรุงเทพฯ นั้น เสด็จพระองค์หญิงศรีวิลัยลักษณ์สิ้นพระชนม์วันที่ 26 ตุลาคม 2447 แต่สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราฯ สิ้นพระชนม์วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2447 มิใช่หรือ สมเด็จหญิงใหญ่เจ้าฟ้าจันทราสรัทวารจึงน่าจะสิ้นพระชนม์ก่อน สมัยนั้นเปลี่ยน พ.ศ. ในเดือนเมษายนครับ ปี 2447 จึงยาวจากเมษายนเลยธันวาคมข้ามไปจนถึงเดือนเมษาหน้า ถ้านับแบบปัจจุบันเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 จะเป็น พ.ศ. 2448 ครับ เจ้าฟ้าจันทราฯ จึงสิ้นพระชนม์หลังเสด็จพระองค์หญิงใหญ่ 4 เดือน

ถ้าเล่าให้ยาวก็คือเมื่อเชิญพระศพเสด็จพระองค์หญิงใหญ่ขึ้นไปถึงบางปะอิน โปรดให้ตั้งพระโกศที่พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์กลางน้ำ เมื่อเสด็จไปทรงรับพระศพ ทอดพระเนตรแล้วทรงสวมกอดพระราชธิดาอีกพระองค์ทรงกันแสงด้วยกัน ต่อมาจึงเชิญพระศพไปพระราชทานเพลิงที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน อีก 3 เดือนเศษหลังจากนั้นสมเด็จหญิงใหญ่จึงสิ้นพระชนม์ต้องเชิญพระศพกลับลงมากรุงเทพฯ ประดิษฐานพระโกศตามธรรมเนียมงานพระศพชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า

เสนาธิการทหารบก พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ถามว่าวัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี มีความสำคัญอย่างไร มีคนมาขอให้ท่านช่วยบูรณะ วัดนี้อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ไม่ไกลจากวัดโมลีโลกยารามและวัดอรุณฯ เท่าไรนัก สร้างสมัยอยุธยา เข้าใจว่าเศรษฐีจีนชื่อ “หง” เป็นคนสร้าง ชาวบ้านจึงเรียกวัดเจ้าสัวหง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างพระราชวังที่ธนบุรี (บัดนี้คือกองทัพเรือ) ทรงผนวกเอาวัดอรุณฯ (วัดแจ้ง) และวัดโมลีฯ (วัดท้ายตลาด) เข้ามาอยู่ในเขตพระราชวังด้วย สองวัดนี้จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่คล้าย ๆ วัดพระแก้วในเวลานี้ วัดอรุณฯ นั้นเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเมื่อแรกเชิญมาจากเวียงจันทน์ ส่วนวัดโมลีฯ เป็นที่เก็บเสบียงหลวง

วัดใหญ่ที่ใกล้วังที่สุดและอนุญาตให้พระสงฆ์อยู่ได้จึงมีแต่วัดเจ้าสัวหง พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดนี้เป็นประจำ พระราชโอรสก็ให้ผนวชและประทับที่วัดนี้ทุกพระองค์ ถึงสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าฉิม (ต่อไปเป็นรัชกาลที่ 2) ไปประทับที่พระราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยังทรงรับอุปถัมภ์วัดเจ้าสัวหง พระราชทานนามว่าวัดหงส์อาวาสวิหาร ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดหงส์รัตนาราม เจ้าฟ้าบุญรอดพระมเหสีของท่านก็เคยปลูกแพขายกับข้าวอยู่ละแวกนี้ ในช่วงธนบุรีและต้นกรุงเทพฯ วัดนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชอยู่ระยะหนึ่ง ภายหลังจึงเปลี่ยนไปใช้วัดมหาธาตุ ในพระอุโบสถวัดหงส์มีภาพวาดตำนานพระแก้วมรกตสวยงามมาก

พระเดชพระคุณรูปหนึ่งมีลิขิตถามว่า ที่ว่ารัชกาลที่ 3 ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ เหตุใดจึงไม่ทรงตั้งเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นสมเด็จพระสังฆราชเสียเลย ถ้าทำอย่างนั้นบางทีอาจไม่ต้องทรงลาผนวชมาครองราชย์ และถ้าทรงอุปถัมภ์จริง เหตุใดเจ้าฟ้ามงกุฎจึงเกรงราชภัยจนต้องไปสร้างวัดไว้นอกกรุงเตรียมย้ายหนีไปอยู่

การจะตั้งพระภิกษุรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะต้องประกอบด้วยพรรษาอาวุโส และการเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ ข้อสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 มีสมเด็จพระสังฆราชและกรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระราชโอรสรัชกาลที่ 1 อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนอยู่แล้ว (ต่อมาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) รัชกาลที่ 3 และ 4 ทรงนับถือมาก ผมเชื่อว่ารัชกาลที่ 3 ไม่ได้มีพระทัยจะกีดกันเจ้าฟ้ามงกุฎในการจะครองราชย์เลย จึงไม่มีเหตุจะเลี่ยงไปสถาปนาให้เป็นใหญ่ในทางคณะสงฆ์จะได้พ้น ๆ ไป

เมื่อวังหน้าสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 3 ทรงตั้งกรมเลื่อนกรมเจ้านายหลายพระองค์ แม้แต่เจ้าฟ้าจุฑามณี (ต่อไปเป็นพระปิ่นเกล้า) น้องเจ้าฟ้ามงกุฎก็ได้เป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระสงฆ์อย่างพระองค์เจ้าวาสุกรีก็ได้เป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส แต่ไม่ทรงตั้งเจ้าฟ้ามงกุฎให้ทรงกรมใด ๆ ประหนึ่งว่าให้รอรับพระราชอิสริยยศยิ่งใหญ่กว่านั้นทีเดียว น้ำพระทัยของรัชกาลที่ 3 จึงประมาทหรือเดาเอาในทางร้ายไม่ได้

ส่วนที่ว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสร้างวัดเตรียม “หนี” ไปอยู่นั้นจริงครับ มีคนถวายที่นอกกรุงจึงทรงสร้างวัดไว้กะ “ลี้ภัย” แต่ไม่ใช่หนีราชภัยรัชกาลที่ 3 หากทรงเกรงว่าเมื่อสิ้นรัชกาลถ้าเจ้านายพระองค์อื่นได้ครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 3 คราวนี้แหละอาจมีราชภัยเพราะในหลวงพระองค์ใหม่คงไม่พระทัยกว้างเหมือนรัชกาลที่ 3 วัดใหม่นั้นพระราชทานนามว่า “วัดบรมนิวาส”

ที่จริงอย่าว่าแต่เจ้าฟ้ามงกุฎที่เตรียมลี้ภัยเลย กรมหมื่นนุชิตชิโนรสวัดพระเชตุพนก็ทรงเกรงราชภัย จึงไปทรงสร้างวัดไว้ในสวนฝั่งธนฯ บัดนี้คือวัดชิโนรส

คุณธราธร วงศ์เมฆวิไล ถามมาว่าในวังของไทยมีขันทีหรือไม่มีครับ ในสมัยอยุธยาเรียกคนสองจำพวกคู่กันว่า “นักเทศขันที” นักเทศไม่ใช่พระเทศน์แต่เป็นยูนุคคือขันทีจากอาหรับเปอร์เซีย ส่วนขันทีนั้นเป็นแบบจีนแต่ไม่มีอิทธิพลอย่างจีน เป็นพนักงานชายที่ถูกจับตอนแล้ว พวกนี้เข้าออกพระราชฐานชั้นในได้ สมัยสมเด็จพระนารายณ์เวลาเข้าเฝ้าฯ นักเทศขันทีจะได้อยู่ปนกับกลุ่มสตรีนางใน เวลาเสด็จพระราชดำเนินจะอยู่ใกล้ขบวนพระเหสีและพระสนม มาปลายอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ความที่มีสงครามบ่อย และพวกผู้หญิงเองก็กล้าหาญปกป้องตนเองได้ แม้แต่เจ้านายท่านก็เป็นนักรบ จะมีกองทัพแต๋ววี้ดว้ายกระตู้วู้อยู่ในขบวนเสด็จคงไม่เหมาะจึงค่อย ๆ เลิกไปในที่สุด

แหม! คุยกับคนคอเดียวกัน สนุกอย่างนี้เองครับ!.

วิษณุ เครืองาม

wis.k@hotmail.com

****************
Credit http://www.dailynews.co.th/ 

Source : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=angelonia17&month=05-07-2011&group=23&gblog=16