วิไลพร เอี่ยมวุฒิกร หรือ โอ๋ เจ้าของงานศิลปะแนพกิ้น เดคูเพจ การผนึกกระดาษทิซชูลงบนวัตถุ (napkin decoupage) เล่าถึงที่มาที่ไปของการผนึกวัสดุ (กระดาษทิซชู) ลงบนเคสโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะเคสไอโฟน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ โดยบอกว่า ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว งานเดคูเพจสามารถทำลงเครื่องจักสานได้ แต่ส่วนตัวมองว่ามันมีอะไรบ้างที่ลงได้อีก และคนใช้เคสโทรศัพท์มือถือทำได้ และมีอย่างอื่นด้วยที่สามารถทำได้ อาทิ กล่องพลาสติก กล่องกระดาษทิซชู เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบงานกล่องมาก ทำได้หมด แต่เคสโทรศัพท์มือถือปัจจุบันเป็นที่นิยม เป็นแฟชั่น คนเปลี่ยนเคสโทรศัพท์เหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้าเลย พอทำแล้วได้ผลตอบรับดี ก็จึงทำเป็นอาชีพ และเปิดสอนด้วย
อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้เคสโทรศัพท์มือถือสีขาว, กระดาษทรายน้ำ (3 เอ็ม) เบอร์ 400, กาวลาเท็กซ์, พู่กัน, แปรง, กรรไกรเล็ก, ลูกกลิ้ง (หรือขวดแก้วเล็ก ๆ), น้ำยาเคลือบ, ผ้าคอตตอน, กระดาษทิซชู และไดร์เป่าผม (ขนาดเล็ก)
วิธีเลือกเคสโทรศัพท์มือถือ วิไลพรบอกว่า ต้องเลือกกรอบให้เลือกแบบเรียบ เพราะถ้าเป็นแบบมีรูมาก ๆ ทำให้พื้นที่ในการยึดติดระหว่างกระดาษทิซชูกับเคสมีน้อย การใช้ระยะยาวไม่น่าจะดี คือร่อนได้ง่าย ส่วนเคสซิลิโคนเวลาแปะกระดาษทิซชูจะร่อนได้ง่าย เคสพื้นเรียบดีที่สุด มันเงาไม่มาก เพราะมันเงามากต้องขัดเยอะ เคสนี้ก็หาซื้อได้ตามท้องตลาด ที่เป็นเนื้อพลาสติกราคาก็มีตั้งแต่ 30-1,000 บาท เน้นสีขาว เพราะไม่ต้องลงสี ส่วนกระดาษทิซชูที่ใช้ เป็นกระดาษทิซชูที่นำเข้าจากต่างประเทศ ขนาดมี 4 ไซซ์นิยม คือ 25x25 ซม., 33x33 ซม. และ 40x40 ซม. ราคาแผ่นละ 25 บาท กระดาษทิซชูนี้มี 3 ชั้น แต่ใช้ด้านบนสุดที่มีลายเท่านั้น ส่วนลายยอดนิยมคือ ลายดอกไม้ ลายผลไม้ ลายตุ๊กตา ลายวิว ลายการ์ตูน กระดาษทิซชู 1 แผ่น ทำเคสได้ 4 ชิ้น เพราะกระดาษทิซชู 1 แผ่นมี 4 บล็อก และขนาดที่นิยมคือขนาด 33x33 ซม.
วิธีทำ เริ่มที่ใช้กระดาษทรายเบอร์หยาบ เบอร์ 400 ขัดเคสโทรศัพท์รอบ ๆ ให้เป็นรอย วิธีขัดคือเป็นวงกลม ขัดเพื่อเกิดร่อง เวลาทากาวแล้วกาวจะติดตามร่อง โดยเฉพาะตามมุมต้องขัดให้เยอะ เพราะต้องยึดกาวเยอะ ๆ ขัดเพื่อให้ทากาวติด เพราะโทรศัพท์จะตกบ่อยมาก กระดาษทิซชูจะกะเทาะออกได้ง่าย เพื่อยึดแนพกิ้นให้ติดกับวัสดุ ขัดเสร็จก็ปัดฝุ่นออก จากนั้นทากาวเสร็จแล้วเป่าให้แห้ง แต่ไม่ต้องแห้งสนิท แค่หมาด ๆ เกือบแห้ง คือกะให้เวลาวางกระดาษทิซชูลงบนเคสโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังสามารถดึงออกได้โดยที่กระดาษทิซชูไม่ขาด
กะขนาดกระดาษทิซชูใหัใหญ่กว่าเคสโทรศัพท์ห่างจากขอบ 1 นิ้ว เสร็จแล้วลอกกระดาษทิซชู ชั้นที่ 2, 3 ออก ใช้ชั้นบนสุด โดยวางกระดาษทิซชูลงบนเคสโทรศัพท์แล้วใช้มือกด และรีดกระดาษทิซชูให้เรียบ เสร็จแล้วตัดมุมเพื่อเข้ามุมให้เรียบ แล้วใช้มือกด ต่อมาใช้ผ้าคอตตอนที่มีขนาดใหญ่กว่ากระดาษทิซชู นำไปชุบน้ำให้หมาดกึ่งเปียก แล้วดึงให้ตึง แล้วคลุมไปที่เคสโทรศัพท์เพื่อผนึกให้กระดาษทิซชูกับเคสติดแน่น เสร็จแล้วใช้ขวดกลิ้งบนผ้าจากล่างขึ้นบน (อย่ากลิ้งกลับไปกลับมา) แล้วก็กลิ้งขวาง แล้วก็ใช้ไดร์เป่าให้แห้ง ต่อไปนำผ้าคอตตอนคลุมสันของเคสโทรศัพท์ แล้วใช้นิ้วชี้กลิ้งเพื่อผนึกสันของเคสโทรศัพท์ แล้วใช้ไดร์เป่า เสร็จแล้วทำด้านต่อไป
ขั้นตอนถัดมาคือ ตัดกระดาษทรายขนาด 1x1 นิ้ว ใช้กระดาษทรายมาทำการตัดขอบ โดยรูดจากด้านนอกเข้าด้านใน จนกระดาษทิซชูขาดออกจากขอบ จากนั้นใช้น้ำยาเคลือบ 5-6 ชั้น โดยทาแต่ละชั้นเสร็จแล้วต้องเป่าให้แห้ง ขั้นตอนสุดท้ายคือเช็ดทำความสะอาดด้านในที่เปื้อนกาวและน้ำยาเคลือบเป็นอันเสร็จ ราคาขายต่อชิ้นอยู่ 690-890 บาท ต้นทุนไม่เกิน 500 บาท
สนใจอาชีพ “ตกแต่งเคสมือถือ” ศิลปะการผนึกกระดาษทิซชูลงบนเคสโทรศัพท์มือถือ ก็ลองไปฝึกฝนทำกันดู หรือเข้าไปดูเพิ่มเติมใน www.protonza.com หรือถ้าต้องการติดต่อ โอ๋-วิไลพร ก็ติดต่อได้ โทร.08-5123-4780
****