ถ้าพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และผูกพันกับชาวไทยมากที่สุดคงต้องยกให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะประวัติศาสตร์สำคัญของชาติไทยหลายช่วงหลายตอนเกิดขึ้นที่นี่ วันนี้ เดลินิวส์ออนไลน์มีโอกาสมาเยือนเมืองเก่าอยุธยา เลยอยากพาทุกคนไปลัดเลาะชมความงามของโบราณสถานแห่งสำคัญไปพร้อมๆกัน
ออกเดินทางจากกรุงเทพฯไปอยุธยาใช้เวลาเพียงไม่นานก็มาถึงจุดหมายของเราที่วัดมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ หนึ่งในวัดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนคร และยังเป็นที่พำนักของ สมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีอีกด้วย
ใครที่มาเยือนวันมหาธาตุแนะนำให้ลองเดินชมความงามตามจุดที่มีป้ายหมายเลขบอกไว้ เพราะในแต่ละจุดสามารถใช้หูฟังที่เช่าจากเจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่ฟังประวัติศาสตร์ของแต่ละจุดได้ นับเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ให้ความรู้ไปพร้อมๆกับการพักผ่อน โดยมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลายจุดด้วยกัน เช่น เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ลดหลั่นกัน 4 ชั้น 8 เหลี่ยม ชั้นบนสุดประดิษฐานปรางค์ขนาดเล็ก ซึ่งเจดีย์องค์นี้จัดเป็นเจดีย์ที่แปลกตา พบเพียงองค์เดียวในอยุธยา
สำหรับจุดที่สะดุดตาผมยกให้ พระปรางค์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันพังทลายลงมาหมดแล้ว แต่ตามประวัติศาสตร์เล่าไว้ว่า ที่ฐานของพระปรางค์ มีรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนร โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายอยู่โดยรอบ รูปเหล่านี้อาจหมายถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่รายล้อมอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกน กลางของจักรวาล
เดินชมและฟังเรื่องราวประวัติศาสตรืมาเรื่อยๆก็มาถึงจุดที่สามที่ วิหารที่ฐานชุกชีของพระประธานในวิหาร กรมศิลปากรพบว่ามีผู้ลักลอบขุดลงไปลึกถึง 2 เมตร จึงดำเนิน การขุดต่อไปอีก 2 เมตร พบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก 5 ใบ บรรจุแผ่นทองเบาๆรูปต่างๆ ถัดมาเป็น วิหารเล็ก อีกหนึ่งไฮไลท์ของวัดมหาธาตุ เพราะวิหารเล็กแห่งนี้ มีรากไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้ ธรรมดา กรมศิลปากรจะต้องตัดต้นไม้ออกแต่ที่นี่ดูจะว่าเป็นที่ยกเว้นจึงเป็นที่สนใจจากนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนไปมา
ถึงแดดจะร้อนไปหน่อยถ้ามาช่วงกลางวัน แต่ความรู้ที่ได้รับฟังจากเสียงที่ผ่านมาตามหุฟังตามจุดต่างๆทำให้เราลืมความร้อนไปชั่วขณะ พร้อมเดินลุยกันมาต่อที่พระปรางค์ขนาดกลาง ที่ภายในพระปรางค์ มีภาพจิตรกรรม เรือนแก้วซึ่งเป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติ ก่อนปิดท้ายที่ ตำหนักพระสังฆราช บริเวณพื้นที่ว่างทางด้านทิศตะวันตก เป็นสถานที่ที่เป็นที่ตั้งพระตำหนักพระสังฆราช ตามประวัติศาสตร์เล่าว่าเป็นตำหนักที่สลักลวดลายปิดทอง มีม่านปักทอง พื้นปูพรม มีขวดปักดอกไม้เรียงราย เป็นแถวเพดานแขวนอัจกลับ (โคม) มีบังลังก์ 2 แห่ง
สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออย่างที่หลายคนคิด เพราะไม่เพียงให้ความรู้แก่ทุกคนเท่านั้น แต่ยังมอบความทรงจำที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นซึมซับเข้ามาที่ตัวเราอย่างไม่รู้ตัว ขอเพียงทุกคนใส่ใจ และสนใจในที่จะชมซากปรักหักพังนี้ด้วยใจ ให้มากกว่าที่ตาเห็น แล้วเรื่องราวประวัติศาสตร์เหล่านั้นจะสร้างความสวยงามให้เกิดขึ้นภายในใจเราได้เอง
*****
http://www.dailynews.co.th/