วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"ศึกมัยราพณ์"โขนเฉลิมพระเกียรติในหลวง

โดย...วราภรณ์



สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ โดยเฉพาะการแสดงโขน นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะไทยประเพณี และเพื่อเป็นการสืบสานฝีมือช่างหัตถศิลป์ของไทยในแขนงต่างๆ และมีพระราชดำริให้จัดแสดงโขนขึ้นดำเนินมาเป็นปีที่ 3 แล้ว
โดยทรงมอบหมายให้ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี เป็นรองผู้อำนวยการผลิตโขนชุด “ศึกมัยราพณ์” ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติปีแห่งมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค.ปีนี้


คุณหญิงต้นม.ล.ปิยาภัสร์ กล่าวว่า ในปีนี้คณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้น้อมนำพระราชเสาวนีย์มาดำเนินการ โดยมีพระราชวินิจฉัยทรงเลือกบทโขนชุด มัยราพณ์สกัดทัพ ของกรมศิลปากรมาเป็นหลักในการแสดง แต่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมให้มีความสนุกสนานงดงาม
“ตอนนี้ได้รับความนิยมจากการทำแบบสอบถาม เราถามว่า คนอยากดูอะไร ปรากฏคนอยากดูเรื่องศึกมัยราพณ์เป็นอันดับหนึ่ง อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดรามเกียรติ์มาก ทรงอ่านและทรงทราบทุกตอน สุดท้ายเราก็กราบบังคมทูลว่า ผู้ชมเลือกแบบนี้ จะมีพระราชวินิจฉัยว่าอย่างไร พระองค์รับสั่งว่า ก็ดี ประชาชนอยากชมก็เอาตอนนี้แล้วกัน”
ฉากงดงามตระการตา
ม.ล.ปิยาภัสร์ บอกว่า การแสดงโขนชุดมัยราพณ์นี้มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มความสนุกสนานงดงาม ได้ อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย มาควบคุมการแสดง การดำเนินเรื่องประกอบไปด้วยฉากใหญ่ๆ สำคัญๆ หลายฉาก ซึ่งต้องใช้เทคนิคพิเศษสำหรับการแสดงสมัยใหม่ เพื่อให้การแสดงตื่นเต้นเร้าใจ และมีอรรถรส วิจิตรสวยงาม
เช่น ฉากไฮไลต์คือ หนุมานเนรมิตกายให้ใหญ่โตเพื่ออมพลับพลา ซึ่งเป็นที่ประทับของพระราม เป็นการสร้างประติมากรรมตัวหนุมานที่เนรมิตกายให้ใหญ่โต สูงถึง 8 เมตร และกว้างจนสามารถให้คนเข้าไปอยู่ในนั้นได้ รวมทั้งดวงตาของหนุมานสามารถกลอกกลิ้งไปมาและหลับตา มือก็สามารถขยับได้
สำหรับฉากไฮไลต์ ม.ล.ปิยาภัสร์ กล่าวว่า คงเป็นฉากหนุมานอมพลับพลาที่ประชาชนรู้จักกันดีอยู่แล้ว
“โจทย์ของมูลนิธิศิลปาชีพฯ คือ ทำอะไรคนต้องตื่นเต้น ทั้งฉากสวย ฉากเปลี่ยนมากถึง 10 ฉาก ตลอดจนใช้เทคนิคต่างๆ ที่อาจารย์ท่านต่างๆ นำมาใช้ล้วนตื่นตาตื่นใจ เพราะเราพยายามนำเทคนิคของการแสดงสมัยใหม่มาผสมผสานกับจารีตเดิม เช่น มีการใช้รอก สลิง แสงสีก็สวย ใช้วงปี่พาทย์ถึง 3 วงเล่นรับส่งกัน”
นักแสดงรุ่นใหม่
การแสดงโขนในครั้งนี้ มีนักแสดงโขนรุ่นใหม่ที่รับบทเด่นๆ อาทิ นักแสดงจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ คือ วีรกร ศุขศาสตร์ อาจารย์สอนการแสดงที่คณะศิลปศึกษา ฝ่ายนาฏศิลป์ไทยโขน วัย 22 ปี เล่นเป็นมัยราพณ์ ซึ่งตัวโขนนี้มีผู้เล่นถึง 3 คน
วีรกรเล่นเป็นมัยราพณ์ตัวสุดท้ายที่ออกมาแสดงในช่วงรบตอนท้ายๆ ของเรื่อง เขาได้เข้ามาแสดงในเรื่องนี้เพราะได้รับคัดเลือกจากอาจารย์ และผู้กำกับได้มาแสดงในบท “ยักษ์” ตัวละครที่เขาคุ้นเคย จึงได้รับคัดเลือกให้มาแสดงโขนตัว “มัยราพณ์” ผู้ที่แสดงโขนเป็นมัยราพณ์ได้ต้องมีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนยักษ์และแข็งแรง
“ผู้แสดงบทมัยราพณ์มี 3 ตัว ตัวแรกทำพิธีหุงสรรพยา ตัวที่ 2 เป็นตัวเป่าสะกดทัพจับพระราม ส่วนผมเป็นตัวที่ 3 รบระหว่างหนุมานกับมัยราพณ์ที่ท้ายบาดาล ในการแสดงเป็นมัยราพณ์ ผมต้องรบจึงซ้อมหนัก ต้องอาศัยความอดทน เพราะต้องแสดงนานถึงครึ่งชั่วโมง ได้มาเล่นโขนตอนนี้ก็รู้สึกภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติมาก”
พัสตราภรณ์ทำใหม่เพียง 1
ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะไทยและช่างหัตถศิลป์ของไทย ช่างทำโขน ช่างปักสะดึงกลึงไหม และช่างทำเครื่องประดับ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญศิลปะการแต่งหน้า ประกอบด้วยศิลปินสาขาต่างๆ อาทิ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมการสร้างพัสตราภรณ์และถนิมพิมพาภรณ์ อาจารย์สุรัตน์ จงดา ผู้ควบคุมการจัดสร้างหัวโขนและศิราภรณ์ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างฉากและสิ่งประกอบการแสดงตามแนวพระราชดำริให้จัดแสดงโขนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
อาจารย์วีรธรรมที่ได้ดูแลเสื้อผ้าตั้งแต่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพรหมมาศ เมื่อปี 2552 และชุดนางลอยเมื่อปี 2553 กล่าวว่า ทั้งสองครั้งแรกได้จัดทำชุดตัวละครมาเกือบหมดแล้ว และแต่ละชุดยังคงสภาพดี มาปีที่ 3 นี้ ชุดที่ทำขึ้นมาใหม่มีเพียงชุดของมัจฉานุ
“ชุดในตอนมัยราพณ์ทำใหม่เพียงหนึ่งชุดเพราะ 2 ตอนแรก เราทำชุดใหม่ไปหมดแล้ว ตัวละครที่ทำชุดเพิ่มคือ มัจฉานุ เขาเป็นลูกหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา หน้าของมัจฉานุจะเป็นลิง มีหางเป็นปลา แต่เครื่องแต่งกายเป็นยักษ์เพราะเขาคือลูกบุญธรรมของมัยราพณ์ ซึ่งเป็นยักษ์ ชุดนี้ใช้เทคนิค สะดึงกลึงไหม ปักเลื่อม การตรึงลวดลายที่เป็นโลหะและลงยาราชาวดี สำคัญคือมีหาง และเป็นหางที่เคลื่อนไหวได้ต้องใช้โครงสร้างเหล็กบุด้านใน และใช้ลวดลายสีเป็นงานเขียนตรึงไว้ด้านนอก ดูน่าสนใจ”
เรื่องย่อ
รามเกียรติ์ ตอนศึกมัยราพณ์ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่องราวของ “มัยราพณ์” เจ้าเมืองบาดาล มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์สะกด เมื่อเป่ายาและร่ายมนต์ก็สามารถสะกดคนให้หลับหมดได้
มัยราพณ์เจ้าเมืองบาดาลได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระราม ก่อนทำศึกกับพระราม มัยราพณ์ฝันเป็นลางว่ามีดาวดวงน้อยเปล่งรัศมีมาบดบังดวงจันทร์ โหรทำนายว่า พระญาติ (ไวยวิก) จะได้ขึ้นครองเมืองแทน มัยราพณ์จึงหาทางป้องกันมิให้เป็นไปตามคำทำนาย โดยการจับไวยวิก และมารดาคือนางพิรากวน (พี่สาวของมัยราพณ์) ไปขังไว้
ฝ่ายพระรามก็ฝันว่าราหูมาบดบังพระอาทิตย์แล้วจับไปได้ พิเภกทำนายว่า พระรามจะถูกลักพาตัวไป แต่จะรอดกลับมาได้ เมื่อใดที่พระอาทิตย์ขึ้น พระรามจะพ้นเคราะห์ หนุมานจึงพยายามหาทางป้องกัน โดยเนรมิตกายให้ใหญ่อมพลับพลาที่ประทับของพระรามเอาไว้ แต่มัยราพณ์ซึ่งปลอมตัวเป็นพลทหารลิงแอบล่วงรู้ความลับนี้ จึงเหาะขึ้นไปบนอากาศกวัดแกว่งกล้องทิพย์ ทำให้เกิดความสว่าง พลลิงทั้งหลายที่อยู่ยามเข้าใจว่าเป็นเวลาเช้าแล้ว ก็พากันละเลยต่อหน้าที่
มัยราพณ์จึงย่องเข้าไปเป่ายาสะกดไพร่พลในกองทัพของพระรามจนหลับใหลไปหมด แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล ทางกองทัพของพระรามเมื่อทราบว่าพระรามถูกลักพาตัวไปให้หนุมานตามไปช่วยพระรามที่เมืองบาดาล ระหว่างทางหนุมานได้พบกับด่านต่างๆ หลายด่าน เช่น ด่านภูเขากระทบกันเป็นเปลวไฟ ด่านยุงตัวโตเท่าแม่ไก่ และด่านมัจฉานุ (บุตรของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา)
หนุมานสามารถผ่านด่านต่างๆ ได้ และได้ขอให้มัจฉานุบอกทางไปยังเมืองบาดาลให้ แต่มัจฉานุนึกถึงพระคุณของมัยราพณ์ จึงเลี่ยงบอกทางไปเมืองบาดาลให้หนุมานทราบ เป็นความนัยให้หนุมานนึกเดาเอา หนุมานจึงตามไปถึงเมืองบาดาลพบนางพิรากวนออกมาตักน้ำตามคำสั่งของมัยราพณ์
หนุมานจึงขอให้นางพิรากวนพาเข้าเมืองบาดาล โดยการแปลงเป็นใยบัวติดสไบนางเข้าไป หนุมานลอยเข้าไปถึงปราสาทที่มัยราพณ์และชายาบรรทมอยู่ หนุมานต่อสู้กับมัยราพณ์ มัยราพณ์ท้าให้ไปรบกันที่ดงตาลท้ายเมือง หนุมานใช้ต้นตาลเป็นกระบองฟาดมัยราพณ์สิ้นชีวิต และอัญเชิญพระรามเสด็จกลับ เหล่าเทพบุตร เทพธิดาพากันยินดีโปรยข้าวตอกดอกไม้แซ่ซ้องสรรเสริญ
ตอนสุดท้ายนี้นับเป็นฉากที่สวยที่สุด นอกเหนือจากฉากที่หนุมานอมพลับพลาแล้ว พลาดชมไม่ได้เลย !
การแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกมัยราพณ์” จัดแสดง ระหว่างวันนี้ ถึงวันที่ 7 ส.ค. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่เคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา หรือwww.thaiticketmajor.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-262-3456
http://www.posttoday.com/
Credit :