วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com : 

เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 7 ยังอยู่ในราชสมบัตินั้น แม้จะไม่มีพระราชโอรสธิดา แต่จะปักใจว่าเจ้านายพระองค์ใดได้รับราชสมบัติต่อไปยังเป็นเรื่องไม่ชัดเจนนัก เพราะตามกฎมณเฑียรบาลที่รัชกาลที่ 6 ทรงตราขึ้น พระมหากษัตริย์อาจทรงยกเจ้านายพระองค์ใดเป็นรัชทายาทก็ได้
   
ก่อน พ.ศ. 2472 มีผู้เข้าใจอยู่บ้างว่าถ้าพูดถึงเจ้านายที่มีพระอำนาจก็ต้องเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ พระราชโอรสรัชกาลที่ 5 ประสูติจากพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี แต่ถ้าว่าถึงเจ้านายที่อยู่ในลำดับสูงตามชั้นพระยศพระราชชนนีและควรรับราชสมบัติก็ต้องเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชโอรสรัชกาลที่ 5 ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สูงกว่าพระราชเทวี)
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ สิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2472
   
เมื่อเจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษเสกสมรสกับเคท มิดเดิลตัน สื่อประโคมข่าวครึกโครมว่าอังกฤษจัดลำดับผู้สืบราชสันตติวงศ์ให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระราชโอรสของควีนเอลิซาเบธอยู่ในลำดับที่ 1 เจ้าชายวิลเลียม พระโอรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์อยู่ในลำดับที่ 2 เจ้าชายแฮรี่ พระอนุชาของเจ้าชายวิลเลียมอยู่ในลำดับที่ 3 แต่ถ้าเจ้าชายวิลเลียมและพระชายามีพระโอรสหรือแม้แต่พระธิดาก็จะแทรกเข้ามาอยู่ในลำดับที่ 3 แล้วเลื่อนเจ้าชายแฮรี่ออกไปทางฝ่ายไทยเอง กระทรวงมุรธาธรหรือกระทรวงวังก็เคยจัดทำบัญชีทำนองนี้ไว้เงียบ ๆ ว่า ถ้ารัชกาลที่ 7 ไม่ทรงตั้งผู้ใดเป็นรัชทายาท ราชสมบัติจะเคลื่อนไปตามสายแห่งชั้นพระยศของพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เริ่มจากสายพระบรมราชินีนาถ (ปีพ.ศ. 2472 หมดสายแล้ว) พระบรมราชเทวี (สายสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา) พระราชเทวี (สายพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี) พระอัครชายาเธอ (สายพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ) และสายเจ้าจอมพระสนมต่าง ๆ ตามลำดับ
ถ้าพระราชโอรสแต่ละสายสิ้น พระชนม์แล้ว ให้ตกทอดลงไปยังพระโอรสของพระราชโอรสนั้นในแต่สะสายที่ประสูติจากพระชายาเอกอีกทอดหนึ่ง ตามนัยนี้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์และหม่อมสังวาลย์ พระชายาเอกจึงกลายเป็นผู้อยู่ในลำดับที่ 1 หลังพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2472
   
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลาฯ หม่อมสังวาลย์ได้นำพระธิดาและพระโอรสสองพระองค์ไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะอากาศที่สวิสน่าจะเหมาะแก่พระสุขภาพของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่สงบเงียบ เป็น
กลาง จึงไม่มีความเสี่ยงใด ๆ
   
เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติและทรงสละพระราชอำนาจที่จะระบุเจ้านายพระองค์ใดให้รับราชสมบัติใน พ.ศ.2477 ความชัดเจนก็เกิดขึ้นทันทีว่าตามลำดับผู้มีสิทธิแล้ว ราชบัลลังก์ย่อมตกแก่พระโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลาฯ ในสายสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5)
ที่จริงรัชกาลที่ 7 ได้เคยตรัสแก่ผู้แทนรัฐบาลที่ไปเฝ้าฯ ที่อังกฤษเหมือนกันว่า เมื่อหมดสายสมเด็จพระพันปีหลวง (พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) แล้ว ควรข้ามไปที่สายสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (ป้า) เมื่อสิ้นทูลกระหม่อมแดง (กรมหลวงสงขลาฯ) ในสายนั้นก็ควรลงไปที่โอรสของท่านคือพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ปัญหามีอยู่เพียงว่า 1. พระองค์เจ้าอานันทมหิดลมีพระชนมายุเพียง 9 ชันษา จะเป็นปัญหาไหม 2. พระชนนีคือหม่อมสังวาลย์ สมเด็จพระพันวัสสา (ย่า) และพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเองจะทรงยอมรับไหม 3. ต้องเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ สภาจะเห็นชอบไหม
   
ปัญหาอื่นดูจะหมดไป เช่น เรื่องพระชนมายุน้อยก็พอจะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ เรื่องสภาก็อยู่ที่รัฐบาลจะดำเนินการ เหลือแต่ว่าจะทรงรับเป็นไหม ในกรณีนี้ความเห็นของหม่อมสังวาลย์ดูจะสำคัญที่สุด
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะผู้ก่อการได้ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ เสด็จออกไปประทับนอกประเทศ เพราะเห็นว่าทรงเป็นเจ้านายผู้ใหญ่สูงสุดที่มีอยู่ มีกำลังสนับสนุนมากทั้งทหารและพลเรือน เคยเป็นผู้บังคับบัญชาของบุคคลในคณะราษฎร นับว่ามีพระอำนาจมากจนเป็นที่ครั่นคร้าม ทั้งที่ความจริงแล้วทรงเป็นเจ้านายที่ประนีประนอม สุขุมรอบคอบและรักชาติบ้านเมืองอย่างยิ่ง
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ ได้เสด็จไปประทับที่บันดง เกาะชวาจนสิ้นพระชนม์ที่นั่น แต่ต้องไม่ลืมว่าด้วยความที่ทรงเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสายสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี จึงทรงอยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิสืบราชสันตติวงศ์ด้วยในลำดับที่ 3 ต่อจากพระองค์เจ้าอานันทมหิดล และพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งอยู่ในสายสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
   
คนสมัยนั้นวิตกอยู่เหมือนกันว่าถ้าหม่อมสังวาลย์ปฏิเสธไม่ยอมให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลรับราชสมบัติ ซึ่งย่อมแปลว่าพระโอรสอีกพระองค์คือพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชจะปฏิเสธด้วย อนาคตประเทศสยามจะเป็นอย่างไรต่อไป
ข้อที่ว่าถ้ากระนั้นก็ให้ไปตกอยู่ที่ผู้มีสิทธิลำดับถัดไปคือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ ก็ดูจะเป็นไปได้ยากเพราะเพิ่งทรงถูกรัฐบาล “เนรเทศ” ให้ไปประทับที่ชวาจึงเป็นเรื่องแปลกหากรัฐบาลจะกล้าทูลเชิญเสด็จกลับมาครองราชย์
   
ที่จริงรัฐบาลอาจไม่ได้คิดอะไรมาก และอาจมีทางออกอื่นในใจอยู่แล้ว เพราะลำดับที่ 4 คือ พระโอรสกรมพระนครสวรรค์ฯ ลำดับที่ 5-6 และ 7 เป็นสายพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีรา
เมศวร์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วยังมีพระโอรส 3 พระองค์ลงไปอีกทอดคือพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ฯ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ และพระองค์เจ้าอนุสรณ์ฯ
   
วันที่ผู้แทนรัฐบาลไปเฝ้าพระองค์เจ้าอานันทมหิดลที่โลซาน จึงเป็นวันที่คนไทยจับตาดูด้วยความระทึกใจว่าจะเกิดวิกฤติราชบัลลังก์หรือไม่ สมเด็จพระพันวัสสาฯ นั้นตรัสแล้วว่า “สุดแต่แม่เขา”
   
ในที่สุดหม่อมสังวาลย์ได้ยอมตอบรับด้วยความโล่งอกของทุกฝ่าย วิกฤติราชบัลลังก์คลี่คลายแล้ว เงื่อนไขมีเพียงว่าแม้จะทรงรับราชสมบัติแต่ขอให้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงศึกษาเล่าเรียนต่อไปในต่างประเทศ โดยดำรงพระชนม์อย่างเรียบง่ายดังเดิม และรัฐบาลอย่าได้รบกวนพระองค์ท่านมากนักไทยได้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 แล้ว พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2468 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เมืองไฮเด็นเบิร์กประเทศเยอรมนี เพราะพระราชบิดาทรงศึกษาอยู่ที่นั่น รัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อแปลว่า “ผู้เป็นที่รักที่พอใจของแผ่นดิน” มีพระพี่นาง 1 พระองค์คือพระองค์เจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มีพระราชอนุชา 1 พระองค์คือพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
    
เมื่อแรกทรงศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แล้วจึงเสด็จไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างนั้นมหาสงครามโลกได้เกิดขึ้นแล้วในยุโรป แม้สวิตเซอร์แลนด์จะเป็นกลางแต่ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ น้ำมันขาดแคลน อาหารขาด แคลน ต้องใช้บัตรปันส่วน ทางรัฐบาลได้จัดเจ้าหน้าที่ไปประจำตามพระเกียรติ
แต่ทุกคนก็ได้รับผลกระทบกันทั่ว
ก่อนสงครามจะรุนแรงเคยเสด็จกลับมาประเทศสยามช่วงสั้น ๆ ครั้งหนึ่ง แล้วเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ พอติดสงครามก็ประทับอยู่ยาว ได้ทรงศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมาย เมื่อสงครามสงบจึงได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2488 พร้อมพระราชอนุชาและพระราชชนนี
   
บัดนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญวัยเป็นหนุ่มพระชนมพรรษา 20 พรรษา พระรูปพระโฉมงดงาม พระราชจริยวัตรอัธยาศัยละมุนละไมเป็นที่ชื่นชมแก่คนไทยทั้งปวง
   
ในช่วงเวลาแห่งรัชสมัยนั้น คนไทยประสบกับภัยแห่งมหาสงครามอยู่มาก การเมืองภายในประเทศก็ยุ่งเหยิง มีการตั้งศาลพิเศษเล่นงานศัตรูทางการเมือง และจับกุมเจ้านาย บุคคลสำคัญไปดำเนินคดี ขณะนั้นทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและไทยยอมวางอาวุธ เครื่องบินสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดแทบทุกวัน เพราะเราเลือกอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น “ร่วมวงศ์ไพบูลย์” กัน รัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็น 1 มกราคม ออกประกาศรัฐนิยมหลายเรื่องรวมทั้งแก้ไขภาษาไทย รัฐบาลเปลี่ยนมาเป็นคณะจอมพล ป. นายควง อภัยวงศ์ นายทวี บุณยเกตุ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และนายปรีดี พนมยงค์
   
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหลายชุด จนกระทั่งมาเป็นนายปรีดี พนมยงค์ แต่ผู้เดียว คณะคนไทยที่รักชาติจำนวนหนึ่งจัดตั้งขบวนการเสรีไทยทำงานกู้ชาติใต้ดิน คนไทยหวาดผวาว้าเหว่ไม่รู้ว่าลงท้ายญี่ปุ่นจะชนะหรือแพ้สงคราม ถ้าแพ้แล้วไทยจะอยู่อย่างไร เพราะเราไปเกาะติดญี่ปุ่นเสียแล้ว

ปลายปีพ.ศ. 2488 อเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่นจนญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ สงครามโลกสงบ ประเทศที่ชนะสงครามจะยาตราเข้ามาปลดอาวุธในไทยแต่เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของไทย รัฐบาลจึงกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จกลับมาร่วมพิธีด้วย เรียกว่าปลด
ร่วมกัน
   
การเสด็จนิวัติพระนครคราวนั้นมีเวลาไม่นานนัก ในเดือนมิถุนายน 2489 จะเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อและทำวิทยานิพนธ์ให้จบแล้วจึงเสด็จกลับมาเป็นการถาวร
   
แต่ไม่กี่วันก่อนเสด็จกลับ ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ชาวไทยต้องตกตะลึงสุดขีดและวิปโยคสุดแสนจะบรรยายเมื่อทราบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลยุวกษัตริย์พระชนมพรรษา  20 พรรษา ต้องพระแสงปืนสวรรคตที่ชั้นสอง พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
   
ท้องฟ้าเหนือกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์มืดมิดอีกครั้ง พระเจ้าแผ่นดินมาสวรรคตลงในเวลาที่ชะตากรรมไทยยังไม่แน่ชัดว่านานาชาติที่ชนะสงครามจะปฏิบัติต่อเราอย่างไร เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ เงินเฟ้อ คนว่างงาน จิตใจคนไทยในยามนั้นน่าจะเหมือนเมื่อกรุงแตก หัวใจแทบจะแหลกสลาย
   
หลายคนรวมทั้งสื่อมวลชนมองหน้าแล้วถามกันเองว่า “แล้วเราจะรอดไหมเนี่ย”

*****
http://www.dailynews.co.th/