วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

'น่าน'มุมหนึ่งเมืองไทยที่งดงาม

น่าน” เพิ่งบอบช้ำจากภาวะน้ำท่วมหนักเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โชคดีว่าความเสียหายไม่ร้ายแรงเกินจะเยียวยา แม้จะเป็นฤดูฝนแต่การท่องเที่ยวในน่านเวลานี้ ยังถือว่าคึกคัก สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าน่านกำลังก้าวสู่เมืองท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวเห็นจะเป็นการเกิดขึ้นของโรงแรมที่พักในแบบบูติกโฮเต็ลหลายแห่ง เมื่อเทียบจากเมื่ออดีตน่านมีเพียงโรงแรมจังหวัด 2-3 แห่ง รวมถึงการเกิดขึ้นของกาดน่าน แหล่งรวมของฝาก งานศิลปะที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ในกาดน่านแห่งนี้มีรูปสถาปัตยกรรมสวยงามตามแบบล้านนา เป็นที่ทางที่สามารถอ้อยอิ่งกับร้านกาแฟ แชะภาพกับสถาปัตยกรรมงามๆ ที่มีกลิ่นอายของล้านนาอยู่มากโข แม้จะเป็นอาคารที่สร้างใหม่ก็ตามที


“นันทบุรี” คือชื่อเดิมของเมืองน่าน มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมารวมทั้งสิ้น 64 พระองค์ ว่ากันว่าผังของเมืองน่านนั้นสะท้อนให้เห็นวิธีการปกครองของเจ้าเมืองในอดีตที่ใส่ใจไพร่ฟ้า เห็นจะเป็นกำแพงวัดของวัดแต่ละแห่งในเมืองน่านในเตี้ยต่ำ เพื่อที่เจ้าผู้ครองนครจะได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้โดยทั่ว อีกทั้งยังเชิดชูให้วัดวาอารามนั้นโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด มุมหนึ่งที่จะเห็นเมืองน่านได้แบบกว้าง ๆ ต้องไปยืนบนบันไดวัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์นั้นสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2139 หลังจากเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ขึ้นครองเมืองน่าน 6 ปี วัดนี้เคยถูกพิมพ์อยู่บนธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากสักการะพระประธานในโบสถ์ แนะให้เดินชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่คนน่านเรียกว่า “ฮูปแต้ม”ศิลปกรรมชาวไทลื้อที่เล่าเรื่องวิถีชีวิตของชาวน่านในสมัยโบราณ โดยเฉพาะภาพปู่ม่านย่าม่าน ขนานนามว่าเป็นภาพ กระซิบรักบันลือโลก เพราะเต็มไปด้วยชีวิตชีวาสะท้อนให้เห็นอารมณ์ของศิลปินว่ากำลังตกอยู่ในห้วงรัก
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดงามอีกแห่งของเมืองน่าน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1949 ภายในสร้างวิหารขนาดใหญ่รูปทรงตามสถาปัตยกรรมแบบล้านนา พระเจดีย์ช้างค้ำวรวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มาในช่วงบ่ายจะเหมาะสำหรับมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ เพราะแดดร่มลมตกพอดี เป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้จิตใจสงบร่มเย็นได้ วัดวาอารามในจังหวัดน่านอยู่ไม่ไกลกัน ยกเว้นวัดพระธาตุแช่แห้ง ( อยู่ห่างจากตัวเมืองไม่เกิน 2 กม.) สามารถเลือกเที่ยวแบบย้อนยุคโดยใช้บริการสามล้อถีบผ่อ 9 วัด มีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ไปวัดภูมินทร์ วัดมิ่งเมือง วัดศรีพันตัน วัดไผ่เหลือง วัดหัวข่วง วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดกู่คำ วัดพญาภู และวัดเขาน้อย 
มาเยือนเมืองนันทบุรี ต้องไปสักการะพระธาตุประจำปีเถาะ ปีนี้ ททท.ได้จัดโครงการไหว้พระธาตุแช่แห้งเสริมบารมี ทำความดีถวายในหลวง โดยกองตลาดภาคเหนือ จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยมีอาจารย์ คฑา ชินบัญชร เป็นพรีเซ็นเตอร์ เชิญชวนคนไทยหันมาท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา เพื่อเสริมประสบการณ์ชีวิตและน้อมนำผลบุญกุศลเสริมบารมีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
   
หลักการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา อ.คฑาให้คำแนะนำว่าควรเตรียมกายใจให้พร้อม ทำจิตสงบนิ่งหรือสวดมนต์ทำสมาธิต่อหน้าพระประธานเพื่อสร้างสิริมงคลให้ตัวเอง เพราะคนโบราณนั้นสร้างวัดเพื่อให้เป็นที่พักทางใจ อีกทั้งยังแฝงคติธรรมให้เห็น ตัวอย่างเช่นการสร้างพระนอนแต่ละวัดต้องมีองค์ใหญ่โต นั้นมีเจตนาเพื่อให้คนลดทิฐิมานะ ตามตำนานที่เล่าขานกันมาว่าสมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเนรมิตร่างกายให้ใหญ่โตเพื่อปราบพยศยักษ์อสุรินทราหูที่คิดว่า บนแผ่นดินไม่มีใครใหญ่เท่าตนเข้ามาข่มพระพุทธเจ้าว่าตัวเองนั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด 

พระพุทธเจ้าจึงต้องเนรมิตองค์ให้ใหญ่เพื่อให้รู้ว่าบนโลกนี้ยังมีสิ่งที่เก่งและยิ่งใหญ่กว่า แล้วพาอรินทราหูขึ้นไปบนสวรรค์ จึงได้ประจักษ์ว่าเหล่าทวยเทพก็เนรมิตร่างกายให้ใหญ่โตได้เช่นกัน เมื่อได้เห็นอรินทราหูจึงลดความเป็นตัวตนลง กลับมานับถือพระพุทธเจ้าตามผู้คนอีกจำนวนมากทั้งที่ก่อนหน้านั้นต่อต้าน อีกทั้งพระนอนส่วนใหญ่ผู้เป็นเจ้าเมืองจะเป็นผู้สร้าง นัยหนึ่งเพื่อเป็นสิ่งสะท้อนลดอัตตาของผู้เป็นใหญ่
    
ยามเช้าของน่านมีเสน่ห์อย่างล้นเหลือ ตลาดสด มีของกินแบบพื้นเมือง ขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือโจ๊ก และมะไฟจีนออกในราวเดือนพฤษภาคม เป็นผลไม้ที่ปลูกแล้วออกผลเฉพาะที่นี่เท่านั้นเพราะอากาศที่เย็นเหมาะสม บรรยากาศของตลาดยามเช้า มีพระและเณรมายืนบิณฑบาตรให้คนได้ทำบุญแบบสะดวก 

เติมเต็มประสบการณ์ในบรรยากาศในเมืองน่านแล้ว ขับรถไปต่อยังอ.บ่อเกลือ ตามรอยเกลือสินเธาว์ภูเขาแห่งเดียวในโลก ที่มีอายุ 800 ปี ใช้เส้นทางอ.ปัว ทางหลวงหมายเลข 1080 น่าน-ทุ่งช้าง ระยะทาง 59 กม.ถึงอำเภอปัวจากนั้นแยกตามทางหลวงหมายเลข 1256 ปัว-ดอยภูคาบ่อเกลือ ระยะทาง 46 กม.ระหว่างทางแวะวัดไทลื้อที่ได้รับขึ้นทะเบียนทางสถาปัตยกรรม ณ บ้านร้องแง หมู่ 7 ต.วรนคร เส้นทางจากปัวสู่บ่อเกลือ ล้อมไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนคดเคี้ยวไปมา ชาวบ้านยังผลิตเกลือแบบโบราณ มีพิธีบูชาบ่อเกลือ เชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีข้อห้ามผู้หญิงขึ้นไปยังปากบ่อ เมื่อได้ชมกรรมวิธีผลิตเกลือแล้วลองชิมไข่ต้มน้ำเกลือ ที่ได้ความเค็มแทรกเข้าเนื้อไข่ทำให้ไข่ต้มมีรสมีชาติขึ้นมา (บ่อเกลือจะปิดช่วงเข้าพรรษาเพราะเป็นฤดูฝน แต่สามารถเข้าชมได้เพียงแต่จะไม่เห็นกรรมวิธีผลิต แต่ยังได้เห็นความคลาสสิกของบ่อเกลือแบบโบราณ)
   
มื้อกลางวันบนบ่อเกลือสร้างความประทับใจให้กับผู้ผ่านโค้งคดเคี้ยวมาหลายต่อหลายคน บ่อเกลือวิวคือรีสอร์ทที่สร้างตัวเองให้เป็นโอเอซิสของบ่อเกลือได้ตามคำร่ำลือ นอกจากจะเป็นรีสอร์ทที่มีกลิ่นอายของชาวเขาเผ่าลัวะมาประยุกต์ทางสถาปัตยกรรมที่พักแล้ว ยังมีร้านอาหารปองซา อยู่บนเนินเขาที่มองเห็นลำธารอยู่ด้านล่าง ไปกันได้กับรสชาติของอาหาร รับประกันความอร่อยเพราะเจ้าของเคยเป็นถึงเชฟในโรงแรมระดับ 5 ดาวในกรุงเทพฯมาก่อน ความช่างเลือกและรู้หลักการของอาหารทำให้ปองซา เป็นอีกมุมของเมืองไทยที่งดงาม
   
มาถึงบ่อเกลือขับรถไปอีกราวครึ่งชั่วโมงเพื่อไปจิบกาแฟแกล้มวิวภูเขา ณ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา (ศูนย์ศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภูฟ้า) อยู่ใน อ.บ่อเกลือเช่นกัน มีร้านจำหน่ายสินค้าภูฟ้า รร.ที่พัก และร้านกาแฟจะเปิดให้บริการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ 

มุมหนึ่งของน่านที่งดงามมีมากกว่าที่กล่าวไว้อีกมากมาย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) 0-5452-1118, 0-5452-1127 www.easternlanna.org

กินอิ่มหลับสบายในเมืองน่าน

ร้านของหวานป้านิ่ม ร้านขนมสวยและอร่อย อยู่ริมถนนมหาวงศ์ มีเมนูยอดฮิตบัวลอยไข่หวาน รสชาติไม่หวานจัด และเปียกข้าวเหนียวดำ ไอติมมะไฟจีน ไอติมบัวลอย ไอติมข้าวเหนียวเปียก 2 เมนูหลังนี้ใส่ไอศกรีมกะทิสดเข้าไปด้วย ร้านป้านิ่มมีบรรยากาศนั่งชิล ชิล เป็นเรือนไม้สไตล์ล้านนายกพื้นสูงต่างจากร้านขนมหวานทั่วไป เปิดขายตั้งแต่ 11.00 น. ประเภทไอศกรีมต่าง ๆ จน 17.00 น.บัวลอยจะเริ่มตั้งเตาขายไปจนกว่าของจะหมด 3 ทุ่มไปถึง 4 ทุ่ม โทรศัพท์ 08-5036-6105 ,0-5477-2229 หยุดวันพุธ

ปองซา (ภาษาลัวะแปลว่ากินข้าว) ร้านอาหารของบ่อเกลือวิว เมนูมีชื่อคือ “ไก่ทอดมะแขว่น” ใช้ไก่บ้านมาหมักกับมะแขว่น สมุนไพรของอำเภอบ่อเกลือ ปรุงรสด้วยเกลือจากบ่อเกลืออายุ 800 ปี อีกทั้งมะแขว่นยังมีคุณสมบัติช่วยในการย่อยเนื้อสัตว์ รสชาติการปรุงที่ลงตัวไก่ทอดจึงไม่ต้องพึ่งพาน้ำจิ้ม กินกับข้าวก่ำ หรือข้าวกล้องสีดำที่ปลูกบนภูเขา นอกจากนั้นยังมีเมนูเขียวหวานปลาดุกกรอบ ยำผักกูด ปิดท้ายด้วยของหวาน “บาน็อฟฟี่พาย” แต่ละเมนูเชฟพยายามใช้วัตถุดิบในพื้นที่เป็นที่ตั้งอาศัยความรู้ทางเชฟประยุกต์รสชาติและหน้าตา จนสร้างความประทับใจให้หลายต่อหลายคนที่ได้ไปลิ้มลอง    

น่านบูติกโฮเต็ล โรงแรมบูติกสไตล์กลางเมืองน่านที่เกิดขึ้นมาตามกระแสของการท่องเที่ยว เกิดขึ้นจากคนน่านโดยแท้ ได้จำลองเรือนไม้สองชั้น มีมุขไม้ตรงกลางแต่งเติมด้วยลายฉลุไม้ ช่วยย้อนอดีตของบ้านเรือนไม้สมัยรัชกาลที่ 5 แต่พร้อมมุมห้องสมุดเล็ก ๆ ในโรงแรม น่านบูติกโฮเต็ล ตั้งอยู่ใจกลางเมืองน่าน มีห้องพักได้ทั้งหมด 20 ห้อง Standard Room, 8 ห้อง Superior Room, 4 ห้อง Deluxe Room โทร 0-5477-5532 www.nanboutiquehotel.com

Credit : http://www.dailynews.co.th