ชมประเพณีสำคัญหนึ่งเดียวในประเทศไทยของจังหวัดน่าน บรรยากาศงานบุญสุดชื่นมื่นของชาวเวียงสาประเพณีตักบาตรเทียน หนึ่งเดียวในโลก
การทำบุญในรูปแบบต่างๆที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาของแต่ละพื้นถิ่นในช่วงเข้าพรรษา นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้น อย่าง ประเพณีตักบาตรเทียน ถือเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของชาวจังหวัดน่านที่สืบต่อกันมาช้านาน และอาจจะเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในโลกก็ว่าได้
ประเพณีตักบาตรเทียน กำหนดจัดในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีหรือจำง่ายๆคือหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2554 โดยความเป็นมาของประเพณีนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 2344 หลังจาก เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญทรงสร้างวัดบุญยืนได้ 1 ปี ซึ่งในยุคแรกเป็นประเพณีที่ทำเฉพาะวัดบุญยืนเท่านั้น ในเวลาต่อมาได้ขยายผลไปทั่วอำเภอเวียงสา ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์
สมัยก่อนพระภิกษสามเณรจะนำเทียนที่ได้จากการใส่บาตรของชาวบ้าน ไปจุดอ่านหนังสือเรียนท่องบทสวดมนต์ เพราะในยุคนั้นยังไม่มีไฟฟ้า ถึงปัจจุบันจะมีไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว แต่ประเพณีอันดีงามนี้ก็ถูกสืบทอดต่อมาเรื่อยๆเพราะนับเป็นงานบุญใหญ่ของชาวจังหวัดน่าน โดยทุกวันนี้เทียนที่ได้มาจากการใส่บาตรพระสงฆ์จะห่อเทียนและดอกไม้ด้วยผ้าสบงที่เตรียมมานำกลับวัดซึ่งจะมีการแบ่งปันกันทุกวัด
ในปีนี้ผมมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมใน ประเพณีตักบาตรเทียน ที่วัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นครั้งแรก ซึ่งต้องยอมรับว่ารู้สึกอิ่มเอมใจเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านในพื้นที่ให้ความสำคัญกับประเพณีมาก เห็นได้ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ชาวบ้านทุกคนเริ่มทยอยเข้ามาที่วัดอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในช่วงเช้า พระภิกษุสามเณร และคณะศรัทธาสาธุชน จะนำเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อยหรือน้ำอบหอม มาใส่ลงภาชนะที่จัดเตรียมไว้ภายในพระอุโบสถ อีกทั้งชาวบ้านแต่ละครอบครัวก็จะนำสำรับกับข้าวมาเตรียมถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร พร้อมทั้งเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักท่องเที่ยว และผู้มีจิตศรัทธาทุกคนที่เข้าร่วมงาน เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทุกคนจะได้ลิ้มรสอาหารฝีมือชาวบ้านแต่ละครอบครัว ที่ปรุงรสเพื่อนำมาทำบุญอย่างตั้งใจจริง
โดยประเพณีตักบาตรเทียนครั้งนี้ มีพระภิกษุสามเณรทั่วทั้งอำเภอเวียงสากว่า 300 รูป จาก 63 วัดเข้าร่วมพิธี หลังจากพระภิกษุสามเณรฉันท์ภัตตาหารเพลเสร็จ ต่อด้วยผู้มีจิตศรัทธารับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ในช่วงบ่ายก็มาถึงการเริ่มพิธีใส่บาตรเทียน ประธานฝ่ายคฤหัสถ์จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นมัคทายกนำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย นมัสการพระรัตนตรัย อารษธนาศีล 5 และประธานสงฆ์ก็จะให้ศีลผู้เข้าร่วมงานทุกคน
ต่อมาก็มาถึงขั้นตอนของการใส่บาตรเทียน พระภิกษุสามเณรจะเดินออกจากพระอุโบสถ นำคณะศรัทธาณุชนใส่บาตรเทียนนเวียนรอบโต๊ะที่ตั้งบาตรและวางผ้าอาบน้ำฝนไว้ เมื่อเสร็จพิธีใส่บาตรเทียน ก็จะกลับเข้าไปภายในพระอุโบสถเพื่อทำพิธีสูมาคารวะ(ขอขมา) ที่พระภิกษุสามเณรที่มีอายุพรรษาน้อย จะทำการขอคมาพระภิกษุที่มีอายุพรรษามากกว่า ซึ่งที่วัดบุญยืนเป็นวัดที่มีเจ้าคณะอำเภอและพระเถระที่มีอายุพรรษามากอยู่จำพรรษามาตั้งแต่อดีต
ชาวบ้านที่เข้าร่วมพิธีมีให้เห็นทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ เด็กตัวน้อย ไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ นับได้หลายร้อยคน แต่พอถามคนในพื้นที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามีวัยรุ่นมาทำบุญในปีนี้น้อยลง สาเหตุอาจเป็นเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมก่อนหน้านี้ ที่หนุ่มสาวที่อยู่ห่างบ้าน ต่างลางาน ลาเรียน มาเยี่ยมเยียนบ้านกันบ้างแล้ว ทำให้บรรยากาศไม่คึกคักเท่าที่ควร
ประเพณีตักบาตรเทียนถือเป็นประเพณีสำคัญที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งอยู่คู่กับชาวอำเภอเวียงสามาเป็นเวลาช้านาน โดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากสมัยก่อนแม้แต่น้อย เราจึงควรอนุรักษ์และช่วยกันรักษาประเพณีนี้ไว้ใก้อยู่คู่กับชาวเวียงสา และประเทศไทยตลอดไป
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์ http://www.dailynews.co.th