วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เสียงเพรียกจากเด็กคลิตี้ การเดินทางของความหวัง..กาญจนบุรี


"เอาสารตะกั่วคืนไป เอาน้ำดีคืนมา ทำปลาฉันตายทำไม เราไม่ชอบสารตะกั่ว แล้วเราจะทำยังไงดี พ่อแม่เราต่อสู้ เรียกร้อง เพื่อหนู เพื่อผม เพื่อเรา พวกเราหวังเพียงว่า ขอให้สายน้ำกลับมาเป็นเหมือนเดิม ใช้ดื่ม ใช้กิน ใช้อาบ ใช้ปลูกผักได้ หมู่บ้านคลิตี้"

เสียงร้องตะโกนประสานขานรับของเด็กๆ คลิตี้สิบกว่าชีวิต ในตอนจบของละครที่พวกเขาสู้ฝึกซ้อมมาร่วม 3 เดือน กับพี่ๆ กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ ดังก้องในใจของผู้ชม หลายคนสะทกสะท้อนเมื่อได้เห็นแววตาที่มุ่งมั่นของเด็กๆ บนเวทีเทศกาลศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน "13 ปีคลิตี้ ชีวิต สายน้ำ ความหวัง" ที่ลานหน้าศาลา 60 พรรษามหาราช จ.กาญจนบุรี

ถือเป็นการเดินทางไกลครั้งแรกของเด็กๆ จากหมู่บ้านคลิตี้มาแสดงในตัวเมือง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความจริงจากหัวใจให้ชาวกาญจนบุรีได้รับรู้
นอกจากละครจากตำนานทุ่งเสือโทนของเด็กๆ แล้ว ยังมี ดนตรีพื้นบ้าน และบทเพลงภาษากะเหรี่ยงจาก 2 ศิลปิน 2 วัยใจตรงกันจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง มาบรรเลงถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกจับใจผู้ฟัง

"เนื้อเพลงที่ร้องจะเล่าว่าเราอยู่ในบ้านคลิตี้ พอถึงเวลา 5 โมงเย็น คิดแล้วว่าจะไปอาบน้ำ พอเปิดก๊อกน้ำ น้ำประปาภูเขาก็ไม่ไหลเพราะท่อมันตัน เลยจะไปลงอาบน้ำในห้วย พอไปถึงห้วยก็มองซ้ายมองขวา มันจะมีอันตรายหรือเปล่า ยังมีสารพิษในลำห้วยไหม เราอยากจะอาบน้ำ แต่ว่าเราไม่กล้า ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนนี้ เด็กและผู้ใหญ่อาบน้ำในห้วยคลิตี้กันสนุกสนาน พอคิดถึงสมัยก่อน น้ำตาเราก็ร่วงไหล"

"หม่องบือพะ" หรือ สมชัย ทองผาภูมิปฐวี เล่าความเป็นมาของบทเพลงที่เขาบรรเลงด้วยนาเด่ (พิณกะเหรี่ยง)

ขณะที่ "อ่องเค" ศิลปินหนุ่มจากหมู่บ้านพูดถึงเพลงที่เขาแต่งเอง บรรเลงเองด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เมตารี่ (คล้ายกีตาร์ตัวเล็ก) ด้วยน้ำเสียงจริงใจว่า

"เขียนเพลงเกี่ยวกับคนในหมู่บ้าน บางคนมาทำงานในเมือง พอมาแล้วกลับหมู่บ้านไม่ถูก ลืมเผ่าพันธุ์ตัวเอง ผมก็เลยแต่งเพลงนี้ อยากบอกกับคนที่รู้ตัวว่าเป็นกะเหรี่ยง ขอให้กลับบ้านกันเถอะ"

หลังลงจากเวที มีผู้ชมชาวกะเหรี่ยงซึ่งมาเรียน หรือทำงานในตัวเมือง ต่างพากันเข้ามาทักทายสวมกอดทั้ง 2 คน หม่องบือพะบอกว่าไม่นึกว่าจะพบคนกะเหรี่ยงมาดูงานของคนคลิตี้อบอุ่นมากมายขนาดนี้

"บทเรียนจากหมู่บ้านคลิตี้มีประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน ลำห้วยคลิตี้ไหลลงสู่แควใหญ่ กลายมาเป็นแม่น้ำแม่กลอง หล่อเลี้ยงคนหลายจังหวัด ถ้าเราไม่สนใจหมู่บ้านคลิตี้ ก็เท่ากับเราไม่สนใจจังหวัดของเรา และไม่สนใจตัวเราเองด้วย เหมือนกับที่มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมคนคลิตี้ไม่อพยพหมู่บ้านออกไปเลย จะได้ไม่ต้องทนทุกข์กับตะกอนสารตะกั่วในลำห้วย ถ้าใครมาบอกพวกเราคนกาญจนบุรีให้ย้ายบ้านออกไปซะ เพราะแม่น้ำแม่กลองตรงหน้าเรานี่เน่าเสียจนเกินเยียวยา เราจะว่าอย่างไร" ภินันทน์ โชติ รสเศรณี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ถามคนเมืองกาญจน์บนเวที พร้อมตอกย้ำความจริงของความไม่เป็นธรรมที่ชาวคลิตี้ได้รับต่อไปว่า
"การร่วมสนับสนุนคนคลิตี้ เป็นอีกหนทางหนึ่งในการไม่ปล่อยให้ความละโมบ และไร้ความรับผิดชอบ มาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ แม่น้ำลำธาร อากาศของพวกเรา ทำร้ายชีวิตผู้คน ชุมชน หมู่บ้าน ไม่ว่าในป่า ในเมือง บนภูเขา หรือทะเล ที่กาญจนบุรี ที่ประจวบฯ ที่ระยอง หรือที่เลย และอีกหลายๆ จังหวัดที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาจากอุตสาหกรรมเหมือง สร้างความร่ำรวยให้นายทุน ทิ้งความทุกข์ให้ชุมชนนั้นๆ"

หลังจากเดินดูกิจกรรมศิลปะเพื่อธรรม ชาติที่เด็กๆ และครอบครัวคนกาญจนบุรีได้มีส่วนร่วมในบรรยากาศอบอุ่นแห่งมิตรภาพ ชมภาพวาด ภาพถ่าย ฝีมือของเด็กๆ คลิตี้ที่มาจัดวางเรียงรายบนพื้นถนน ซึ่งกลายเป็นลานศิลปะด้วยผ้าผืนยาวที่ผู้ร่วมงานช่วยกันละเลงสีสัน

พร้อมๆ กับหยุดอ่านข้อมูลที่ขยายจากข่าว และบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ นับตั้งแต่เรื่องราวของหมู่บ้านสารตะกั่วเริ่มต้นเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ เมื่อ 13 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน

สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ หรือ ลุงรินทร์ ของคนทำงานสายพัฒนาชุมชน ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขึ้นกล่าวบนเวทีด้วยน้ำเสียงเปี่ยมความหวังว่า

"ผมได้เห็นการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของคนคลิตี้ และการต่อสู้ของคนเมืองกาญจน์ นำชุมชนท้องถิ่นของตนให้รอดพ้นจากภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้มแข็งและมีพลังมาโดยตลอด ทำอย่างไรให้เรื่องราวเหล่านี้โดยเฉพาะ คลิตี้ล่าง หรือทุ่งเสือโทนของเรา ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะ ให้สังคมในวงกว้างรับรู้ เพราะบทเรียนเหล่านี้สามารถตอบโจทย์สังคมใหญ่ของบ้านเมืองได้ ผมมีความหวังว่าตำนานทุ่งเสือโทนแห่งนี้จะเป็นเหมือนห้องเรียนชุมชน ที่นำเสนอออกสู่สังคม สำหรับเรียนรู้ หาทางออกจัดการปัญหาบ้านเมือง"

นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการกาญจนบุรี ยืนยันว่าหมู่บ้านคลิตี้ล่างเป็นบทเรียนสาหัส เป็นความเห็นแก่ตัวของนายทุน หาประโยชน์จากแผ่นดินของเมืองกาญจน์ ความรับผิดชอบต่อสังคมไม่มีเลย สิ่งที่เด็กๆ ได้นำมาแสดง ทั้งศิลปะ ดนตรี เสียงเพลง ภาพวาด นอกจากจะสะท้อนความเจ็บปวด และปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ถึงจิตวิญญาณ ระบบดุลยภาพในโลกนี้จะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
"เรื่องของหมู่บ้านคลิตี้ถูกปล่อยทิ้งมานาน ใส่ใจบ้าง ไม่ใส่บ้าง ผมกราบแสดงความเสียใจ และผมกับทุกภาคส่วนในจ.กาญจนบุรี จะเป็นพลังในการหนุน การปรับแก้ สายน้ำลำธารคลิตี้ทั้งสาย ให้หายจากสารพิษสารตะกั่ว เยียวยาคนเจ็บป่วย เรื่องตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านคลิตี้ล่างก็เป็นวิสัยที่ผมสนับสนุนได้อย่างแน่นอน ส่วนราชการที่ไม่ใส่ใจ ผมต้องลงแส้กันบ้าง เพื่อเป็นบทเรียนให้เห็นผลร้ายจากความเห็นแก่ตัว เราต้องมีจิตสาธารณะ มองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เอาความจริงมาพบปะพูดคุยกัน" ผู้ว่าราชการกาญจนบุรี ย้ำหนักแน่น

จากกาญจนบุรี เด็กๆ และชาวบ้านคลิตี้จะนำเทศกาลศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน "13 ปีคลิตี้ ชีวิต สายน้ำ ความหวัง" มาจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7-17 ก.ค.2554

พบกับสีสันผลงานศิลปะ ภาพถ่ายมุมมองเด็ก การแสดงดนตรีพื้นบ้าน ละครเด็กคลิตี้จากตำนานทุ่งเสือโทน ที่เรียกความประทับใจทุกครั้งที่แสดง

นอกจากนี้ ยังมีหนังสั้นที่เด็กคลิตี้คิดบทเอง กำกับฯเอง ถ่ายทำเอง รวมทั้งสิ้นกว่า 10 เรื่อง

"ประทับใจเรื่อง "คลิตี้น่าอยู่" ของน้องทิพย์ เขาเดินเข้าป่าไป 3 กิโลเมตร เพื่อจะถ่ายรังนกที่เขาไปเห็น เรารู้สึกว่ามันเห็นสิ่งที่เด็กเขาอยากจะเล่าอยู่ในนั้น" ครูแอน-นภสร ลิ้มไชยาวัฒน์ ที่มาร่วมเป็นวิทยากรหนังสั้น พร้อมกับกลุ่ม Thai short Film บอกเล่าความรู้สึกจากการทำงาน

ยังมีหนังสั้นขวัญใจผู้ชมเรื่อง "ตามหาตะกั่ว" ที่เล่าเรื่องราวความฉงนของ "ปะละ" เด็กน้อยซึ่งไม่เคยเห็นว่าตะกั่วเป็นอย่างไร จนต้องเดินทางทั่วหมู่บ้านเพื่อสอบถามจากคนรุ่นพ่อแม่ และหนังสั้นเรื่องอื่นๆ อีก 7 เรื่องที่เด็กๆ ช่วยกันถ่ายทำ กำกับฯ และแสดงด้วยตัวเอง แต่ละเรื่องบอกเล่าภาพของหมู่บ้านคลิตี้ล่างออกมาได้อย่างสดใส

พิธีเปิดผลงานศิลปะและภาพถ่ายเด็กคลิตี้ จะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.ค.2554 ตั้งแต่ 17.30 น. โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ชมการแสดงดนตรี ละคร และหนังสั้นของเด็กๆ คลิตี้

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาโดยวิทยากรชั้นนำอย่าง รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เมธีวิจัยอาวุโส ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรม การสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. โดยมี ณาตยา แวววีรคุปต์ จากไทยพีบีเอส ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการศิลปะจากศิลปินอิสระ และคณาจารย์ด้านศิลปะทั่วประเทศ ภาพถ่ายจากช่างภาพมืออาชีพ ที่ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ล่างมาร่วมนำเสนอ รวมถึงกิจกรรมศิลปะเพื่อธรรมชาติ รายการเสวนาเกี่ยวกับศิลปะ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ที่น่าสนใจในแต่ละวันอีกมากมาย

พร้อมด้วยคอนเสิร์ต "ส่งใจถึงกัน" ในวันเสาร์ที่ 9 อาทิตย์ที่ 10 และเสาร์ที่ 16 ก.ค.2554 เวลา 19.00 น. บัตรราคา 800 บาททุกที่นั่ง มี 3 รอบเท่านั้น รายได้มอบให้ชาวบ้านคลิตี้ จองบัตรและสอบถามรายละเอียดที่กลุ่มดินสอสี โทร. 0-2623-2838-9 หรือที่ เว็บไซต์ www.dinsorsee.wordpress.com
http://www.khaosod.co.th/