วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญทางขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ "ระนอง" มรดกชาติ

โรดแม็ป"ระนอง" มรดกชาติ

วิภาวี จุฬามณี


ผลจากการที่ไทยประกาศถอนตัวจากภาคีคณะกรรมการมรดกโลก ทำให้ประเด็นการจัดการมรดกสำคัญของชาติ "ด้วยตัวเอง" เป็นเรื่องที่หยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง

โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่งจะเปิดตัวโครงการเสนอ จ.ระนอง เป็น "แหล่งมรดกของชาติไทย (Thai national Heritage)"

หากได้รับความเห็นชอบ และร่วมมือจากทุกฝ่าย "ระนอง" จะเป็น "แหล่งมรดกของชาติไทยแห่งแรก" ซึ่งริเริ่มและจัดการโดยคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ดร.สิริกุล บรรพงศ์ ผอ.สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. กล่าวถึงที่มาที่ไปโครงการนี้ว่า หลายๆ ประเทศมีมรดกแห่งชาติของตัวเอง แต่ประเทศไทยยังไม่มี อย่างสหรัฐอเมริกา มีมรดกแห่งชาติอยู่ถึง 49 แห่ง เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่คุ้มครองใดๆ แต่เป็นแหล่งที่ควรจะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน จึงออกกฎหมายมาดูแลเฉพาะ และบริหารจัดการโดยคนท้องถิ่น

ขณะที่ออสเตรเลียก็มีมรดกแห่งชาติถึง 76 แห่ง เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่อนุรักษ์มรดกแห่งชาติไว้เพื่อเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว เช่น หมู่บ้าน ชิราวาโกะ หรือหมู่บ้านซามูไร ซึ่งในอดีตคนในหมู่บ้านจะออกไปทำงานข้างนอกกันหมด เหลือเพียงเด็กและคนแก่ แต่พอประกาศเป็นมรดกแห่ง ชาติมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น คนก็กลับมาอยู่ที่หมู่บ้านได้อย่างมีความสุข

แหล่งมรดกของชาติไทย หมายถึง พื้นที่ที่มีความสำคัญทางขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และนันทนาการของประเทศ ที่มีลักษณะเฉพาะ มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และมีคุณค่าแก่การอนุรักษ์

"ระนองแม้จะเป็นจังหวัดเล็ก แต่ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่ธรรมชาติ มีเขตสงวนชีวมณฑลระนอง ที่เป็นป่าชายเลนอนุรักษ์ติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลก มีอุทยานแหลมสน ปากแม่น้ำกระบุรี ปากคลองกะเปอร์ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ และมีพลับพลึงธาร ปูเจ้าฟ้า เป็นพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นระนอง รวมถึงแหล่งศิลปกรรมเก่าแก่ เช่น สุสานเจ้าเมืองระนอง และเนินประวัติศาสตร์" ดร.สิริกุลอธิบายความสำคัญ

ด้าน ดร.วิจารณ์ มีผล หัวหน้าศูนย์วิจัยป่าชายเลน จ.ระนอง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในแถบนี้ว่า จ.ระนอง มีภูมิอากาศเหมาะสม มีฤดูฝนยาวนานถึง 8 เดือน มีปริมาณฝนมากกว่า 4,000 ม.ม.ต่อปี มากที่สุดในประเทศ จึงเอื้อต่อการเติบโตของป่าชายเลนที่มีมากกว่า 160,000 ไร่ หรือคิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของป่าชายเลนทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยพันธุ์ไม้กว่า 50 ชนิด พันธุ์ปลา 98 ชนิด และมีสัตว์หน้าดินถึง 77 ชนิด ส่งผลให้แต่ละปีมีผู้มาเยือนไม่ต่ำกว่าหมื่นคน
ขณะที่ สมศักดิ์ สุนทรนวภัทร ผอ.องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ประจำประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูล "พลับพลึงธาร" พืชน้ำสำคัญของ จ.ระนอง ว่า พลับพลึงธารเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดของแม่น้ำลำธารใน จ.ระนอง พบได้ที่ อ.สุขสำราญ และ อ.กะเปอร์ เท่านั้น

แต่ปัจจุบันลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีผู้ลักลอบขุดไปขาย โดยประเทศที่นำเข้าพลับพลึงธารมากที่สุด คือ อเมริกา เดนมาร์ก และสิงคโปร์ ขณะที่บางส่วนหายไป เพราะโครงการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

ในด้านนโยบายพืชชนิดนี้ไม่ได้รับการปกป้องจากกฎหมายใดเลย เพราะเติบโตนอกเขตอนุรักษ์ และไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของพ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 ซึ่งคุ้มครองเฉพาะพืชที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของไซเตส (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์) เท่านั้น

ดังนั้น ในแนวทางอนุรักษ์ไอยู ซีเอ็น และชาวบ้านในพื้นที่ เตรียมผลักดันพลับพลึงธารให้อยู่ใน "บัญชีแดง"ของไอยูซีเอ็น และ เตรียมเสนอ สผ.ให้พลับพลึงธารอยู่ในบัญชีแดงของประเทศไทย ถ้า จ.ระนอง ได้รับการยกฐานะเป็นแหล่งมรดกของชาติไทย พลับพลึงธารก็จะได้รับการคุ้มครองรักษามากขึ้นด้วย

นอกจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญหลายชนิดแล้ว จ.ระนอง ยังมีแหล่งศิลปกรรม และโบราณสถานสำคัญอีกหลายแห่ง นายโกศล ณ ระนอง ทายาทตระกูล ณ ระนอง รุ่นที่ 5 อธิบายความสำคัญในด้านนี้ว่า เป็นเมืองเจริญติดชายแดนพม่า เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ต่อมาจะถูกรื้อถอน เพื่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ แต่ก็ยังสร้างพระที่นั่งจำลองใกล้กับบริเวณเดิม และยังเหลือต้นมะขามที่รัชกาลที่ 5 ทรงปลูกไว้ยืนเด่นอยู่บนเนินประวัติศาสตร์

ไม่เท่านั้น ยังมี สุสานเจ้าเมืองระนอง หรือ สุสานคอซู้เจียง มีเสาหิน 2 ต้นสลักตัวหนังสือจีน ต้นหนึ่งสลักว่า "ระนองเป็นเมืองที่มีภูเขาสลับซับซ้อนสวยงาม เป็นศรีแก่คนระนอง ป้องกันภัยพิบัติ ทำให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข"

อีกต้นสลักว่า "ระนองมีน้ำเป็นสีทอง เป็นที่ทำมาหากิน มีภูมิประเทศสบาย เป็นแหล่งกำเนิดอัจฉริย บุคคล" แสดงถึงความเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์

"ล่าสุดเพิ่งค้นพบขวานหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เมืองใต้ และพบถ้วยเซรามิกแบบอินเดีย แสดงว่าระนองเป็นเส้นทางการค้าไปยังอินเดีย และเปอร์เซีย นอกจากนี้ ที่ภูเขาทอง อ.กะเปอร์ ยังเป็นแหล่งผลิตลูกปัดโบราณที่สำคัญ เช่นเดียวกับที่ปากจั่น อาจเป็นที่พักของพ่อค้าลูกปัดก่อนข้ามไปอ่าวไทยที่ชุมพร ทั้งยังมีวัฒนธรรมการแต่งตัวแบบย่าหยา จึงสมควรที่ระนองได้รับเลือกเป็นแหล่งมรดกของชาติ" ทายาท ณ ระนอง กล่าวอย่างภูมิใจ

ด้าน นายวันชาติ วงษ์ชนะ ผวจ.ระนอง เสริมว่า การผลักดันระนองให้เป็นแหล่งมรดกของชาติขณะนี้อยู่ในขั้นการประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ถ้าทุกคนเห็นด้วยก็สามารถเดินต่อไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าโครงการนี้สำเร็จก็จะส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นอีก
โดยเฉพาะในปีพ.ศ.2555 จะครบรอบ 150 ปีการตั้งเมืองระนอง เราตั้งเป้าจะให้ระนองเป็นเมืองสะอาด น่าอยู่ ขณะนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมพัฒนาสถานที่สำคัญ เช่น สุสานเจ้าเมือง, หอ 9 เกจิ, บ่อน้ำร้อน, และพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ให้มีสง่าราศีรองรับการเฉลิมฉลอง

ระนอง จังหวัดเล็กๆ แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก และแหล่งประวัติศาสตร์ ที่กำลังถูกผลักดันให้เป็น "มรดกชาติแห่งแรกของไทย
Credit : http://www.khaosod.co.th/