วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ก้าวหน้าพัฒนาไม่หยุดนิ่ง 38 ปี การเคหะแห่งชาติ !!




การเคหะแห่งชาติ เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516 เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย จวบถึงปัจจุบันกำลังจะมีวาระครบ 38 ปี
 
ด้วยจุดมุ่งหมายการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 โดยมีวัตถุประสงค์ จัดให้มีเคหะสำหรับประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย พร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทำนุบำรุง ปรับปรุงและพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองหรือผู้ที่ต้องการจะร่วมดำเนินกิจกรรม กับการเคหะแห่งชาติ ในการจัดให้ประชาชน เช่า เช่าซื้อหรือซื้อ รวมทั้งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและจัดหาที่ดิน ตลอดจนปรับปรุง รื้อ หรือย้ายแหล่งเสื่อมโทรม เพื่อให้มีสภาพการอยู่อาศัยสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมดีขึ้น



    
จากวิสัยทัศน์ การเคหะแห่งชาติ ถือเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นที่มาของพันธกิจที่จะต้องดำเนินการในปีงบประมาณ  2554-2558 ประกอบด้วย การบริหารจัดการทางด้านการเงินเพื่อลดความเสียหายจากการดำเนินงานโครงการบ้านเอื้ออาทร และสร้างความมั่นคงทางการเงินให้องค์กร, บริหารจัดการโครงการบ้านเอื้ออาทรให้บรรลุตามเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า, ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจและองค์กร และปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจและองค์กร เพื่อการพัฒนาทรัพย์สินให้เหมาะสมกับแต่ละบทบาทและเกิดประโยชน์สูงสุด, พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อตอบสนองความต้อง การของกลุ่มเป้าหมายตามนโยบายรัฐ โครงการเชิงสังคม และโครงการเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการพัฒนากลไกการบริหารทางการเงินสำหรับโครงการที่อยู่อาศัยเชิงสังคม, บริหารและพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยของประชาชน, เป็นกลไกในการเสนอแนะและกำหนดทิศทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน, พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองของประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย
การเคหะแห่งชาติได้พัฒนาที่อยู่อาศัยและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถึงเดือนธันวาคม 2553 รวมทั้งสิ้น 732,249 หน่วย โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลร้อยละ 72 และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในส่วนภูมิภาคร้อยละ 28
 
โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นโครงการที่รัฐบาลมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ข้าราชการ และพนักงานชั้นผู้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองเมื่อปี พ.ศ. 2546 นอกจากความมั่นคงแข็งแรงของที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานแล้วยังส่งเสริมให้นำวัฒนธรรมเอื้ออาทร เข้ามาพัฒนาชุมชน 4 ด้านได้แก่ ด้านกายภาพ ปลูกฝังให้ชาวชุมชนร่วมมือกันพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้านเศรษฐกิจ สร้างงานและเศรษฐกิจหมุนเวียนทุกระดับในชุมชน ด้านบริการ สนับสนุนให้ชาวชุมชนได้รับการบริการพื้นฐานที่จำเป็นจากรัฐและเอกชนอย่างทั่วถึง ด้านสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามตามวาระเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่ชาวชุมชน รวมทั้งตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
 
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เน้นการสร้างคน สร้างชุมชน และสังคมเพื่อให้ชุมชนที่อยู่ในความดูแลทั้งเคหะชุมชนและโครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นชุมชนที่น่าอยู่ ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำ โครงการเคหะชุมชนเข้มแข็งอยู่เย็นเป็นสุข มีเป้าหมายให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการชุมชนของตนเอง

   
จากการดำเนินงานเกิดองค์กรชุมชนหลากหลายรูปแบบ เช่น สหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เกิดการจัดทำแผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนนำสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เกิดเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนและเครือข่ายเคหะชุมชนในระยะยาว
การจัดสวัสดิการชุมชน เป็นอีกโครงการที่ต่อยอดจากโครงการเคหะชุมชนเข้มแข็งอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนได้มีหลักประกันและได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง รวมทั้งช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะของการจัดสวัสดิการชุมชนผ่านรูปแบบองค์กรต่าง ๆ โดยร่วมกับมูลนิธิสถา บันวิจัยและปฏิบัติการสังคมจัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดสวัสดิการชุมชนในโครงการของการเคหะแห่งชาติ โดยศึกษานำร่อง 4 โครงการ คือ บ้านเอื้ออาทรอยุธยา (บ่อโพง), บ้านเอื้ออาทรสายไหม, บ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 3 และบ้านเอื้ออาทรเศรษฐกิจ 3
   
การจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับเมืองและแผนป้องกันแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด เป็นอีกบทบาทในการเสริมความรู้ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการด้านที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและประชาชน ซึ่งการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547-2552 ครอบคลุมพื้นที่ 59 จังหวัด ในปีงบประมาณ 2553 คาดว่าจะดำเนินการให้ครบทั้ง 76 จังหวัดภายในปีงบประมาณ 2555-2556
   
ขณะที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยในชนบท การเคหะแห่งชาติได้ริเริ่ม โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชนบท ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ใช้กระบวนทัศน์และแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชนบทแบบบูรณาการ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับวัสดุพื้นถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน พร้อมทั้งสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการศึกษาปัญหาของชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้ามาอาศัยในเขตเมือง เริ่มดำเนินการใน 3 หมู่บ้านได้แก่ หมู่บ้านข่วงกอม จังหวัดลำปาง, หมู่บ้านร้องแง จังหวัดน่าน และหมู่บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติยังเลือกพื้นที่เพื่อเตรียมทำการศึกษาอีก 5 หมู่บ้านที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง และสุราษฎร์ธานี

เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศ ไทยยังไม่มี ยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว การเคหะแห่งชาติจึงได้ผลักดันให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ของประเทศ เพื่อให้การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการบริหารจัดการด้านที่อยู่อาศัยของประเทศ สามารถสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 พร้อมทั้งเสนอให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 มีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักคือ เพื่อเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการบริหารจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาติต่อคณะรัฐมนตรี นับเป็นประวัติศาสตร์ก้าวสำคัญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
    

การเคหะแห่งชาติได้พัฒนาระบบภูมิสารสนเทศด้านที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล และแสดงผลในเชิงพื้นที่และแผนที่ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ได้จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียมและการสำรวจภาคสนาม ทำให้สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ข้อมูลจึงมีความถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการปรับปรุงให้ทันสมัย 
     
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติ ยังให้ความสำคัญกับงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนมาโดยตลอด ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านสังคม กายภาพ และเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น 
   
  
โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็นกิจกรรมที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำการวิจัยจัดทำโครงการนำร่องที่เทศบาลตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดแบบจำลองการแก้ปัญหาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้ร่วมกับเทศบาลตำบลบางตะบูนดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัย และสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้ใหม่สำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อน
  
โครงการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย การเคหะแห่งชาติได้ให้การสนับสนุนอุปถัมภ์โรงเรียนในฝันและโรงเรียนดีใกล้บ้าน ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เยาวชนไทยเข้าถึงสถานศึกษาที่มีมาตรฐานมีอุปกรณ์และสถานที่เล่นกีฬาตามความเหมาะสม

 
โครงการศึกษาวิจัยบ้านประหยัดพลังงานต้นทุนต่ำ อีกโครงการที่การเคหะแห่งชาติมอบให้ศูนย์วิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง คณะสถา ปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาเพื่อให้มีความสมดุลกับระบบนิเวศภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน ช่วยลดปัญหาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิธีทางธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการบริหารจัดการในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางสังคม
 
การเคหะแห่งชาติ มิได้หยุดนิ่งคิดค้นหานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเมือง การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยของพี่น้องประชาชน มาจนถึงปัจจุบัน เพราะเราสำนึกดีว่าคุณภาพชีวิตของคนเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าสืบต่อไป สมดังคำกล่าวที่ว่า...“พัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัย พัฒนาสังคมไทยยั่งยืน”.
แรกก่อตั้งการเคหะแห่งชาติ

การเคหะแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 สังกัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของประเทศ โดยการรวมหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาที่อยู่อาศัย 4  หน่วยงาน คือ กองเคหะสถานสงเคราะห์ (จากกรมประชาสงเคราะห์)  สำนักงานอาคารสงเคราะห์และสำนักงานปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม (จากกรุงเทพมหานคร) และกิจการเกี่ยวกับอาคารสงเคราะห์ (จากธนาคารอาคารสงเคราะห์) ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูประบบราชการเดือนตุลาคม 2545   การเคหะแห่งชาติย้ายโอนมาอยู่ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.