"พื้นที่นี้...ดีจัง" โดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่มดินสอสี สัญจรต่อไปยัง "ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง" จ.พัทลุง
ภายใต้คอนเซ็ปต์ "เก็บสุขใต้ถุนบ้านกลางสวนยาง" ที่เกิดจากความคิดของ นางเตือนใจ สิทธิบุรี เกษตรกรแห่งบ้านเกาะทัง
"อยากให้ลูกได้เล่น โดยเล่นอย่างมีประโยชน์ เน้นการเล่นด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จึงอยากเผยแพร่ให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กๆ และต้องสนันสนุนให้เด็กได้แสดงออก ชี้ให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ให้ทดลองทำ ทดลองคิด สร้างเสริมความมั่นใจให้แก่เด็ก ใช้ทรัพยากรที่มีสนับสนุนให้เกิดงานพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่แปลกแยกจากวิถีชีวิตเดิม"
"การรวมพลังกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ เพื่อมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยจะให้เด็กๆ เข้าไปมีส่วนร่วมและส่วนหนึ่งของชุมชน ให้เป็น ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ ทำในสิ่งที่ตนรักและถนัด อะไรก็ได้ที่สร้าง สรรค์ เพื่อมาแลกเปลี่ยนกิจกรรมจากเด็กๆ กลุ่มอื่นที่มาร่วมงานในครั้งนี้ เราทุกคนต่างก็สนุก และมีความสุขกันมาก เรียกกิจกรรมของเราว่า เรียน กิน เล่น เป็นการสร้างสุข" เตือนใจ เล่าถึงที่มา
บ้านเกาะทัง อยู่ที่ ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง เป็นชุมชนเล็กๆ อบอุ่น ในชุมชนมีชาวบ้านนับถือ 3 ศาสนา แต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีพื้นที่เป็นที่ราบ มีสวนยางพารา ท้องนา สวนผลไม้ และผักพื้นบ้านหลากหลาย
ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง เป็นบ้านมีใต้ถุน ฝาไม้กั้นด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ รอบบ้านเป็นสวนยางพาราในเนื้อที่ 7 ไร่ ใต้ถุนบ้านเสมือนเป็นห้องสมุดมีชีวิต เด็กๆ ได้อ่านหนังสือที่สอดคล้องกับวัย และความต้องการ อ่านแล้วออกไปเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ บริการผู้สูงอายุ หรือคนด้อยโอกาสในชุมชน
ในร่องสวนยางเป็นลานวัฒน ธรรม ปลุกสื่อพื้นบ้านมโนราห์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ฟื้นฟูขนมพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น และการละเล่นถิ่นไทยใต้ให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป
ครั้งนี้ยังมีซุ้มกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มถุงผ้าเก็บสุข จากกลุ่มลูกน้ำ แห่งบ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซุ้มดอกไม้งามจากใบยางพารา ซุ้มอิ่มเอมกับขนมพื้นบ้าน ซุ้มแกะสลักผัก ผลไม้ไทย ซุ้มอิ่มอุ่นกับข้าวยำสมุนไพร ซุ้มห้องสมุดใต้ทุนบ้าน กับหนังสือดีในดวงใจ และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ อีกมากมาย
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม ที่เดินทางไปร่วมงานบอกว่า เป็นการรวมตัวของเด็ก และองค์กรชาวบ้านที่สร้างสรรค์ความดีร่วมกัน โดยมีองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ลุกขึ้นมาจัดการเรื่องของชุมชนเอง สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนยังคงมีสิ่งดี ความดียังกระจายอยู่ทั่ว และมีคุณค่าสมควรที่จะจรรโลงให้คงอยู่อย่างมั่นคง
กิจกรรมครั้งนี้จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน และความดีทั้งหลายก็เป็นเกราะคุ้มกันให้เด็ก และสมาชิกในชุมชนของเราให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ที่ต้องอาศัยทั้งความรักและความเอาใจใส่ โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง โดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาร่วมกัน
"เหมือนกับแนวคิดที่ว่า "เยาวชนนำ ผู้ใหญ่หนุน" และอยากให้มีพื้นที่ดีๆ แบบนี้กระจายไปทั่วประเทศไทย เพื่อ เด็กและเยาวชนของเราจะได้เติบโตได้อย่างมีความความสุข ร่วมกันสร้างสรรค์และมีคุณค่าภายใต้พื้นที่นี้...ดีจัง" รมว. วัฒนธรรม กล่าว
ทางด้าน ด.ช.สิทธิ์ สิทธิบุรี นักเรียนชั้นม.1 โรงเรียนพัทลุง ร่วมสะท้อนว่า พื้นที่สร้างสรรค์ของเขา เป็นพื้นที่ที่เราจะทำอะไรก็ได้ ได้สนุกสนาน ได้คิด ได้เล่น ได้ทำ ได้สร้างสรรค์ผลงาน เราจะเล่นอะไรก็ได้โดยไม่ผิด
"เปรียบเหมือน จรวดกระดาษที่ร่อนไปในอากาศ เราไม่สามารถบังคับให้จรวดร่อนไปทางทิศทางใดได้ แต่เราสามารถเลือกพื้นที่ที่จะขว้างจรวดกระดาษได้ หากเลือกในพื้นที่ที่มีลมดี จรวดก็จะร่อนไปไกลได้อย่างอิสระ ผมคิดว่า มันนอกกรอบ แต่ไม่นอกกฎ" น้องสิทธิ์ กล่าว
อีกมุมของกิจกรรมหน้าเวที มีการแสดงมโนราห์ตัวอ่อนของเด็กในชุมชนบ้านเกาะทัง ที่ได้รับการฝึกสอนจากวงมโนราห์ สกิต สาลิกา ณ พิราชศิลป์ เน้นการแสดงศิลปะพื้นบ้านภาคใต้
โดยเฉพาะท่ารำที่อ่อนช้อยสวยงาม เปลี่ยนลีลาให้เข้ากับจังหวะวงดนตรี ที่มีทั้งกลอง ทับคู่ ฉิ่ง โหม่ง ปี่ชวา และกรับ เรียกความสนใจ รอยยิ้ม และเสียงปรบมือจากทุกคนในงาน
ด.ญ.สายฝน พลแสง นักเรียนชั้นป.3 โรงเรียนวัดหัวหมอน หนึ่งในมโนราห์ตัวอ่อนรุ่นจิ๋ว บอกว่า ตื่นเต้น ดีใจมากที่ได้มาแสดงในพื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้ ภูมิใจที่ได้แสดงศิลปะพื้นบ้านให้ทุกคนได้ดู อยากให้ทุกคนได้รู้จัก และอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านเอาไว้ให้นานที่สุด
ทั้งคนและชุมชนล้วนมีพลังสร้าง สรรค์ หากช่วยกันผลักดัน พลังนี้จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่นี้...ดีจัง สำหรับทุกๆ คน และทุกชุมชนได้
ขอบคุณ นสพ ข่าวสด http://www.khaosod.co.th |