วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

"ลุ่มน้ำปากพนัง" ชุมชนนก 'แอ่น ล่อง 'เล แลเมือง 'นัง


ของฝากจาก 'ปากพนัง'

ฉากนี้เริ่มตรงกลางท้องน้ำ. ระหว่างป่าชายน้ำสลับบ้านเรือนผู้คน สยายปีกของเหยี่ยวตัวเขื่องก็โหมโรงนำสายตา ยังไม่ทันจะจับสังเกตอะไรได้ เงาปีกอีกคู่ก็ "โฉบ" ลงผิวน้ำคว้า "เหยื่อ" ใส่ปากก่อนจะ "ร่อน" หายลับไปอย่างรวดเร็ว

 ใกล้ๆ กัน เรือหาปลาลำกระทัดรัดกำลังลอยตามกระแสน้ำ ขณะที่มือของใครบางคนกำลังง่วนอยู่กับแหที่ดักเอาไว้ ระหว่างเรืออีกลำติดเครื่องแล่นกลับท่า ผ่านอวนปลาที่ปักเรียงรายตามแนวของลำน้ำ ทิ้งริ้วน้ำเล็กๆ เป็นรอยเอาไว้ให้ดูต่างหน้า

 "ลุ่มน้ำปากพนัง" มักอวดความอุดมสมบูรณ์ทำนองนี้ให้ผู้มาเยือนเห็นเสมอ
เบี้ยซัด สู่ นา 'นัง

  แม้วันนี้ เมื่อเอ่ยถึง "ปากพนัง" เงาอดีตของโศกนาฏกรรมบนแหลมตะลุมพุกจะถูกผูกติดมาด้วยก็ตาม แต่ดินแดนปากแม่น้ำ มีปลายแหลมเป็นแนวกันลมธรรมชาติฝั่งอ่าวไทยแห่งนี้ก็ยังคงคุณสมบัติความเป็น "เมืองท่าที่สำคัญ" แห่งหนึ่งของภาคใต้ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาค่อนข้างครบถ้วน

 "เมื่อก่อนคนแถวนี้เขาเรียกเมืองนี้ว่าเบี้ยซัด" นริศ น้อยทับทิม มัคคุเทศก์รุ่นใหญ่ชาวนคร "แหลง" ถึงพื้นเพของผู้คนบางนี้

 จากสภาพภูมิประเทศติดกับทะเล ทำให้มักมีหอยเบี้ยถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งมาเป็นประจำ ซึ่งสมัยโบราณใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนสินค้า ที่นี่จึงถูกเรียกติดปากว่า "เบี้ยซัด" ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดปกครองท้องที่ให้มีมณฑลเทศาภิบาลใน ร.ศ. 114 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2445 จึงได้มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อ อำเภอเบี้ยซัด เป็น "อำเภอปากพนัง" ในที่สุด

 ครั้งอดีต เมืองประมงปากแม่น้ำแห่งนี้ เสมือนเป็น "หัวใจ" ของเมืองนครศรีธรรมราชก็ว่าได้ เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล มีอ่าวภายในบริเวณปากแม่น้ำทำให้พื้นที่แถบนี้เหมาะแก่การเป็นจุดพักเรือและกระจายสินค้าต่อ สภาพเศรษฐกิจในสมัยนั้นเฟื่องฟูมาก มีสำเภาจากเมืองจีน รวมทั้งเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่แวะเวียนมาเทียบท่าค้าขายอยู่ไม่ขาดสาย เมื่อรวมกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ ปากพนัง จัดเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" ที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคด้วย

 เล่ากันว่า แม้แต่ชาวชวามลายูก็ต้องแล่นเรือมาซื้อข้าวถึงปากพนังเลยทีเดียว

 "เมื่อก่อนที่นี่มีคนทำนาเยอะมาก บางคนก็เรียกว่า นาพนัง ก็มี" ไกด์คนเดิมยืนยัน
 หลักฐานถึงความคึกคักเมื่อวันวานที่สำคัญอีกแหล่ง ปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จเยือนปากพนังเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 ความตอนหนึ่งว่า "อำเภอปากพนังนี้ ได้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงยังรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้น ผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งมี ถึงเพียงนี้.... แม่น้ำโตราวสักแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ....เป็นที่นาอุดมดี บ้างก็กล่าวกันว่าดีกว่านาคลองรังสิต และมีที่ว่างเหลืออยู่มาก จะทำนาขึ้นได้ใหม่กว่าที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้อีก 10 เท่า

 "...เมื่อจะคิดว่าตำบลนี้มีราคาอย่างไรเทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดียวนี้น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ 20,000 บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมาลายูฝั่งตะวันออกเห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง"

 หลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ กับสิ่งปลูกสร้างที่เกิดจากการผสมผสานอารยธรรมของคนค้าขายจากทั่วสารทิศ หรือสิ่งปลูกสร้างอันถือเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างโรงสีข้าวเก่าหลายแห่งในตัวเมือง น่าจะทำให้หลายๆ คนสามารถย้อนมองเห็นความรุ่งเรืองในอดีตของเมือง'นังไม่ยากนัก
ชุมชนนก 'แอ่น

 "คนเมืองนังใจดี ปลูกคอนโดให้นกอยู่" เสียงเย้าทำนองนี้ มักจะแว่วเข้าหูให้ฟัง เมื่อมีใครถามถึงอาคารเปลือยรูปร่างแปลกตา ที่ "ผุด" ขึ้นมาอย่างกับ "ดอกเห็ด" ทั้งๆ ที่ดูจำนวนผู้คนก็ไม่น่าจะพออยู่ครบทุกหลัง

 ตึกรามบ้านช่องเหล่านี้ก็คือบ้านของเหล่านกนางแอ่นที่บินป้วนเปี้ยน ฉวัดเฉวียนไปมาอยู่บนฟ้าปากพนัง "ขุมทรัพย์มีชีวิต" ของคนเมือง 'นัง นั่นเอง  

 คำบอกเล่าของ ของขวัญ - นทัยทิพย์ จีนจันทร์  มัคคุเทศก์น้อยชั้นม. 5 จากโรงเรียนปากพนังนั้น "นกแอ่น" ของชาวปากพนัง อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 หรือเกือบๆ 80 ปีก่อน เพราะปากพนังมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์

 ทั้งจำนวนประชากร (นก) และที่อยู่อาศัย (ของนก) ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ชุมชนนกแอ่นปากพนังได้ชื่อว่าเป็นชุมชนนก (นางแอ่น) ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยเลยก็ว่าได้

 "แยกออกไหมคะว่าเสียงไหนตัวผู้เสียงไหนตัวเมีย" สาวน้อยเจ้าถิ่นตั้งข้อสังเกตถึงเสียงเจื้อยแจ้วที่ดังระงมอยู่ทั่วบริเวณ

 อันที่จริงแล้วเสียงจอแจเหล่านี้ไม่ได้ออกมาจากปากของเจ้าตัวจริงๆ เพียงแต่เป็นเสียงสังเคราะห์จากเครื่องเล่นซีดีที่ถูกนำมาติดตั้งเพื่อ "ล่อนก" เพราะธรรมชาติของนกนางแอ่นหากติดที่ไหนแล้ว ก็จะอยู่ที่นั่นสืบต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งหมายถึง ค่าตอบแทนจากรังนก หนึ่งใน "โอสถทิพย์" ตามความเชื่อของชาวจีนมาตั้งแต่ 1,500 ปีที่แล้ว จะงอกเงยให้เก็บกินได้อย่างไม่มีวันหมดนั่นเอง

 รังนก มีกระบวนการเริ่มจากนกนางแอ่นป้ายน้ำลายลงบนผนัง เพดาน ทีละนิดๆ จนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ น้ำลายนกเมื่อถูกอากาศจะแข็งเป็นเส้นมีสีขาวขุ่น ซึ่งสามารถวางไข่ และให้ลูกนกอยู่อาศัยได้ โดยปีหนึ่ง นกนางแอ่นจะทำรัง 3 ครั้ง รังแรกจะออกสีขาวขุ่นหรือขาวมัว รังต่อไปจะมีออกเหลือง ส่วนรังสุดท้ายจะมีสีแดง รังราคาแพงที่สุดและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

 บ้างก็ว่า นกนางแอ่นกระอักเลือดมาทำรัง บ้างก็ว่า เป็นผลมาจากแร่ธาตุปนกับความชื้น บ้างก็ว่า เกิดมาจากจุลลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน

 ส่วนราคาซื้อ-ขายรังนกในตลาดนั้น หากเป็นรังดิบที่เก็บจากแหล่งจะอยู่ราวกิโลกรัมละ 5-7 หมื่นบาท แต่ถ้าผ่านกรรมวิธีต่างๆ ราคาก็ดีดสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 1 แสนบาทเลยทีเดียว กลิ่นเงินยั่วใจขนาดนี้ บ้านนกแอ่นจึงกลายมาเป็น "ช่องทางรวย" สำหรับนักลงทุนที่คุ้มค่าจะเสี่ยง

 ของขวัญอธิบายถึง "คอนโด" แต่ละหลังว่าจะมีโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ความชอบ และกำลังเงินของผู้สร้าง ส่วนใหญ่ภายในตัวตึกจะเป็นอาคารปิด เพื่อจำลองบรรยากาศและความชื้นแบบถ้ำตามธรรมชาติ โดยมีการสอดท่อเล็กๆ เอาไว้ทั่วทั้งตึกเพื่อระบายอากาศ และความชื้นให้คงที่ ส่วนเหตุผลที่เจ้าของบ้านแต่ละหลังมักไม่อยากให้มีแขกแปลกหน้าเข้ามายุ่งย่ามในบริเวณคอนโดของตนเอง นั่นก็เพราะนกนางแอ่นจะเป็นประเภทที่ หากผิดกลิ่น หรือผิดเสียงตัวนกก็จะ "ทิ้งรัง" นั่นหมายความว่ารายได้ของเขาก็จะหายไปด้วย

 ด้วยทำเลฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมีความเป็นไปได้ที่นกจะ "ติด" มากกว่าฝั่งตะวันตก ระยะหลังคอนโดใหม่ๆ จึงทยอยกันขึ้นแซมบ้านเรือนผู้คน จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ปริมาณนกที่ต้องการจึงเพิ่มจำนวนตามไปด้วย

 ....นั่นจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ชาวปากพนังได้ยินเสียงนกนางแอ่น (เทียม) ทั้งฝูงอยู่ตลอดเวลา
"มันจะดังทั้งวันทั้งคืนยกเว้นแผ่นติดกับไฟดับทั้งเมืองนั่นแหละค่ะ" เธอสรุปพร้อมเสียงหัวเราะ  
 
ล่อง 'เล แลเมือง 'นัง

 นอกจากเงาอดีตที่ทำให้ต่อเติมจินตนาการย้อนกลับไปถึงปากพนังเมื่อวันวาน และความแปลกตาของหมู่บ้านนกนางแอ่นแล้ว วิถีชีวิตของผู้คนตลอด สองฝั่งแม่น้ำปากพนังก็ถือเป็นอีกความประทับใจไม่แพ้กัน

 ตั้งแต่เริ่มแสงแรกของวัน ทัศนียภาพตลอดระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ตั้งแต่ "ประตูระบายน้ำอุทกวิภาทประสิทธิ" ปฐมบทการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง โครงการในพระราชดำริ ไปจนถึง "สะดือทะเล" สถานที่ปลุกเสกจตุคามรามเทพ

 ผู้คนสองฟากฝั่ง ต่างใช้สอยประโยชน์จากแม่น้ำปากพนังมาหลายชั่วอายุคน หลังประตูระบายน้ำลงไปทางทิศใต้ เป็นน้ำจืดที่อุ้มชูชาวนาชาวสวนขณะที่หน้าประตูระบายน้ำขึ้นไปทางทิศเหนือคือแหล่งประมงพื้นบ้าน และตลาดปลาชั้นดี

 "แม่น้ำปากพนังจะไหลจากทิศใต้สู่ทิศเหนือไม่เหมือนแม่น้ำสายอื่นๆ" นริศให้ข้อมูลถึงความอัศจรรย์ของลำน้ำสายนี้ นอกจากจะไหลทวนกระแสน้ำออกสู่ทะเลแล้ว เขาการันตีว่า หากเทียบเส้นรุ้งเส้นแวงก็จะพบว่า ปากพนัง และ เจ้าพระยาวาง อยู่ตำแหน่งระนาบเดียวกันอย่างไม่ผิดเพี้ยน

 ขณะที่มักคุเทศก์น้อยบอกถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนจะอิงกับกระแสน้ำเป็นหลัก โดยบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำจะมี "บาม" ดักปลา เอาไว้หากินให้เห็นอยู่ตลอดแนว ตะข่ายสีแดงสดขึงอยู่ปลายเสา 4 ต้นมีหลักการทำงานโดยใช้แรงหมุนของมอเตอร์ที่อยู่ใน "ทับ" หรือ "ขนำ" ริมน้ำ ดึงขึ้น-ลง โดยมี "สะดือบาม" เอาไว้เป็นที่เก็บปลาเวลาถ่ายลงเรือ

 "ปลาที่มีเยอะก็พวกปลากระบอกค่ะ" ของขวัญตอบเสียงใส
 เธอเล่าต่อว่าเพราะพื้นดินก้นแม่น้ำเป็นดินเหนียวจึงไม่สามารถปลดบามแช่น้ำเอาไว้นานๆ ได้ การใช้บามหาปลาชาวบ้านจึงทำ 2 ชั่วโมงต่อครั้ง โดยถ้าไม่ "หาเช้าขายเย็น" ก็ "หากลางคืนขายเช้า"

 "ส่วนใหญ่คนแถวนี้จะนอนกลางวันแล้วหาปลาตอนกลางคืน เพราะไม่ต้องเสียค่าอาหาร กลางคืนปลาขึ้นมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเยอะ"

 ความคึกคักของชาวเมือง'นังโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริเวณตลาดเทศบาล ที่จะมีชาวบ้านทั้งสองฟากฝั่งเดินทางข้ามฟากไปมาอยู่ตลอด ตลาดปลา และย่านเรือนเก่าล้วนกระจุกตัวอยู่บริเวณนี้ ห่างตลาดไปไม่ไกลนักจึงเป็นเขตของหมู่บ้านชาวประมงแท้ๆ ซึ่งมีทั้งพุทธ และมุสลิม อยู่ร่วมกัน

 มัสยิดและอุโบสถ์ห่างกันไม่เกินบ้าน 4 หลัง เสียงเรียกละหมาดจึงมักคลอด้วยทำนองสรภัญญะราวเป็นเนื้อเดียวกัน ความแตกต่างจะมีก็แต่ระบบสาธารณูปโภคที่ถูกขั้นด้วยสายน้ำ ทำให้ในช่วงที่ถนนตัดไม่ถึง บ้านเรือนทางฟากตะวันออกจะใช้เรือเป็นพาหนะหลัก และขาดน้ำประปาใช้ไม่เหมือนฟากตะวันตกที่ติดแผ่นดินทำให้เข้าถึงง่ายว่า

 แต่นั่นก็ใช่ว่าจะมีปัญหา เพราะผู้คนยังไปมาหาสู่ และใช้ท้องน้ำต่างพื้นถนนอยู่เป็นประจำ

 "เด็กที่นี่ 4 ขวบพ่อแม่ก็จับหัดเรือแล้วค่ะ" สาวน้อยอวดยิ้มอย่างภาคภูมิใจ
การเดินทาง

 เส้นทางสู่ปากพนังมีให้เลือกหลากหลายตามความสะดวกของนักท่องเที่ยว คือ ขับรถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) กรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 41 (สายเอเชีย) ผ่านสุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง-ร่อนพิบูล จนถึงนครศรีธรรมราช หรือ ถึงอำเภอพุนพิน เลี้ยวซ้ายเข้า สุราษฎร์ธานีแล้วใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 401 เลียบชายฝั่งทะเล ผ่าน อ.กาญจนดิษฐ์-ขนอม-สิชล-ท่าศาลาไปจนถึงนครศรีธรรมราช-ปากพนัง

 ใครที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศสองข้างทางรถไฟ ก็สามารถเดินทางจากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีขบวนรถเร็ว และรถด่วน ไปนครศรีธรรมราช แล้วถึงต่อรถโดยสารประจำทางไปอีกทอด สอบถามรายละเอียดโทร. 0-2223-7010, 0-2223-7020 หรือสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช โทร. 0-7535-6364

 ส่วนรถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศของ บขส และของเอกชน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ บางบริษัท สุดสายที่นครศรีธรรมราช บางบริษัท สุดสายที่ อ.ปากพนัง ก็มี สอบถามรายละเอียดโทร. 0-2435-1199 (รถปรับอากาศ) และโทร. 0-2434-5557-8 (รถโดยสารธรรมดา)

 หรือหากต้องการเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็มีเที่ยวบินไป-กลับนครศรีธรรมราชทุกวัน สอบถามรายละเอียดโทร. 1318, 0-2515-9999 หรือเวบไซด์ www.nokair.com และ www.airasia.com