วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วิถีชีวิตเรียบง่าย หมู่บ้านสถาน อ.ภูซาง จ.พะเยา ขนมดอกซ้อ ไม้งามไทลื้อ!!


คอลัมน์ สดจากเยาวชน

สุตาภัทร หมั่นดี



ดอกไม้หลายชนิดบานสะพรั่งในฤดูหนาว เช่นเดียวกับ "ดอกซ้อ" ที่ออกดอกสีสดใสแข่งกับดอกงิ้ว หรือดอกทองกวาวสีจัดจ้านในฤดูกาลอันเบิกบาน

ดอกซ้อเป็นดอกไม้ชนิดเดียวที่ชาวบ้านในหมู่บ้านนิยมเก็บดอกไปทำขนม สะท้อนความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ นับจากอดีตจนปัจจุบันของผู้คนไทลื้อแห่งบ้านสถาน อ.ภูซาง จ.พะเยา

ดอกซ้อ เป็นต้นไม้ประจำท้องถิ่นของหมู่ บ้านสถาน หลายพื้นที่อาจจะเคยเห็นต้นไม้ชนิดนี้ ดอกมีสีเหลือง-น้ำตาล ลักษณะคล้ายดอกกล้วยไม้ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเป็นช่อปีละเพียงครั้งเดียว

เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวดอกซ้อจะเริ่มบานและร่วงโรย สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้คือช่วงเวลาพิเศษ นั่นเป็นสัญญาณว่าเมื่อดอกซ้อบาน ก็จะได้รับประทาน "ขนมดอกซ้อ"
หมู่บ้านสถาน อ.ภูซาง จ.พะเยา ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนไทลื้อ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ และที่น่าภูมิใจคือหมู่บ้านไทลื้อแห่งนี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนไว้เป็นอย่างดี มีการถ่ายทอดบอกเล่าสิ่งที่ปู่ย่าตายายกระทำดำเนินมาในอดีต ปลูกฝังและสืบทอดสิ่งดีงาม ความภูมิใจในมรดกของบรรพบุรุษให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การแต่งกาย รวมถึงวัฒนธรรมการกินอยู่ เรื่องขนม
และอาหารท้องถิ่นของตนเอง 



ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ "ขนมดอกซ้อ" ขนมคู่บ้านคนไทลื้อ ยังคงเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของเด็กๆ จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับบรรดาผู้ใหญ่ไทลื้อที่เห็นเด็กๆ สนใจ อยากเรียนรู้กรรมวิธีการทำขนม ห้องเรียนคหกรรมว่าด้วยเรื่องขนมดอกซ้อจึงเกิดขึ้นด้วยความยินดีและเต็มใจ

น้องแยม ด.ญ.อรเทพิน วงศ์ใหญ่ อายุ 10 ขวบ เยาวชนหมู่บ้านสถาน คุ้นเคยกับการทำขนมดอกซ้อ เพราะเข้าครัวเป็นผู้ช่วยคุณแม่ทำขนมดอกซ้อทุกปี เล่าว่า "ชอบกินขนมดอกซ้อมาก อร่อยและมีกลิ่นหอมด้วย ใน 1 ปีมีโอกาสได้กิน 1-2 ครั้ง คือช่วงวันเข้าพรรษา และเทศกาลปีใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ พอถึงช่วงเทศกาลทุกบ้านจะทำขนมดอกซ้อ แต่หากเก็บดอกไว้ก็สามารถกินได้ตลอดทั้งปี"

จากความประทับใจในรสชาติจากธรรมชาติ น้องแยมจึงรอคอยวันเวลาดอกซ้อบานเช่นนี้ทุกปี เด็กๆ ทุกคนรู้จักดอกซ้อ ผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้นไม่มีใครไม่เคยสัมผัสประสบการณ์จากดอกซ้อ



นางสีนวล ขันทวงศ์หรือแม่หลวงหมู่บ้านสถาน เล่าเสริมว่า ตนมีวีรกรรมไปเก็บดอกซ้อในป่า แต่ปัจจุบันนี้ดอกซ้อมีอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน บ้างก็ปลูกไว้หน้าบ้าน บ้างก็ปลูกไว้ริมน้ำ ริมถนนหนทาง ไม่ต้องเข้าป่าไปเก็บไกลอีกแล้ว แถมทุกวันนี้หลายครอบครัวกำลังขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มขึ้น เพราะดอกซ้อเป็นดอกไม้ที่ยังคงคุณค่าและสำคัญต่อชีวิตและประเพณีของคนไทลื้อที่นี่

บรรยากาศการทำขนมดอกซ้อ อบอุ่นด้วยแม่อุ้ยที่ต่างเต็มใจและตั้งใจสอนเด็กทำขนมประจำท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งกินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เด็กๆ รู้สึกภูมิใจในฝีมือและตระหนักถึงคุณค่าวัฒนธรรมของตนเอง 

ขนมดอกซ้อทำง่ายไม่ยุ่งยาก หลังจากเก็บดอกสดๆ สีสวยๆ มาแล้ว นำไปตากแดดให้แห้งสนิท นำมาป่นร่อนผงผสมกับแป้งข้าวเจ้า และน้ำอ้อย จะใส่กะทิหรือไม่แล้วแต่ใครชอบ นวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ห่อด้วยใบตองแบบขนมเทียนรูปสามเหลี่ยม และห่อแบนๆ คล้ายขนมกล้วย เรียงใส่ซึ้งสวยงามแล้วจึงนำไปนึ่งจนสุกทั้งชิ้น รอไม่นานก็จะได้ชิมขนมดอกซ้อสีน้ำตาล หอมกลิ่นน้ำตาลอ้อยระคนกลิ่นอ่อนๆ ของดอกซ้อ

"หนูชอบทำขนมดอกซ้อ เพราะสนุกได้รับประทานขนมฝีมือตัวเอง" น้องแยมเล่าขณะนั่งทำขนม

"ขนมดอกซ้อ" ล้วนได้มาจากธรรมชาติ ทั้งวัตถุดิบในการทำที่มีอยู่ในท้องถิ่น ได้มาซึ่งขนมหอม หวาน อร่อย สีของขนมก็เป็นสีสันจากธรรมชาติแท้ๆ จึงมั่นใจในความปลอดภัยที่มาพร้อมรสชาติอร่อยหอมหวาน เป็นความสุขความภูมิใจของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้

"เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยว่าสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเขามีประโยชน์ สามารถทำกินในครัวเรือนได้ เป็นการสอนให้เด็กๆ รู้จักประยุกต์สิ่งใกล้ตัว เห็นคุณค่าในทรัพยากรท้องถิ่นของตัวเอง แล้วสิ่งอื่นๆ จะตามมา นั่นคือสายสัมพันธ์อบอุ่นในครอบครัว วัฒนธรรมก็ยังคงอยู่คู่วิถีคนไทลื้อต่อไป" แม่หลวงเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

ดอกซ้อบานแค่ปีละครั้ง มีโอกาสพิเศษเพียง 1-2 สัปดาห์เท่านั้นที่จะได้เห็นดอกสวยสดใสของต้นไม้สูงชะลูด

ทุ่งแสงตะวันเก็บภาพและเรื่องเล่ามาฝากแฟนๆ วันเสาร์ที่ 18 ก.พ.นี้ ช่อง 3 เวลา 06.25 น. www.payai.com



ขอบคุณพิเศษ นสพ ข่าวสด http://www.khaosod.co.th