วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เสน่ห์ชวนเยี่ยมเยือนได้ไม่รู้เบื่อ"เชียงใหม่" เมืองเขียวเมืองหอม

เมืองท่องเที่ยวที่อยู่ในความประทับใจของทุกคนอย่าง "เชียงใหม่" มีเสน่ห์ชวนให้ผู้คนเดินทางไปเยี่ยมเยือนได้ไม่รู้เบื่อโดยเฉพาะวัฒนธรรมแบบล้านนาที่ทรงคุณค่าและน่ารัก นักท่องเที่ยวจากทุกๆ มุมโลกจึงพากันยกนิ้วให้ "นครพิงค์" เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม

 เพราะมีคนจากต่างถิ่นเดินทางเข้ามามาก ลูกหลานชาวเชียงใหม่หลากหลายอาชีพจึงได้ร่วมกลุ่มภายใต้ชื่อ “คนเมืองเมือง”จัดกิจกรรมเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเน้นการมองวัฒนธรรมที่เป็นจริง ใกล้ตัว และได้ริเริ่มกิจกรรมทางวัฒนธรรมชื่อ “งานเมืองเมือง” ขึ้น


 ผนวกกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้ง "ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา" ขึ้น ณ คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ อาคารประวัติศาสตร์บนถนนราชดำเนิน โดยเปิดกว้างให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม งานเมืองเมืองที่ผ่านมาทั้ง 7 ครั้ง จึงมีคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เป็นสถานที่จัดงาน โดยเลือกจัดในวันอาทิตย์ที่มีกิจกรรมถนนคนเดิน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้คนทั่วไปจะได้เข้ามารับรู้ มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองทางศิลปวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่มีคุณภาพ และเพื่อให้พื้นที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์เป็นห้องนั่งเล่นกลางเมืองเชียงใหม่
สำหรับงานเมืองเมือง ครั้งที่ 8 กลุ่มเมืองเมือง จับมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่เขียว สวย หอม, กลุ่มใจบ้าน จัดงาน เมืองเขียวเมืองหอมในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 ท่ามกลางบรรยากาศงานเฉลิมฉลองเทศกาลดอกไม้บานประจำปีของเชียงใหม่ ขณะดอกไม้หลากชนิด อาทิเช่น ทองกวาวสีส้ม ดอกเสี้ยวสีขาว เหลืองอินเดียสีเหลือง แคฝรั่งสีขาวอมฟ้า กำลังบานสะพรั่งอวดสีสันละลานตาตามถนนหนทาง ตรอก ซอกซอยของเมืองเชียงใหม่

 งานจะเริ่มเวลา 15.00 เป็นต้นไป ด้วยวงเสวนา “ปลูกต้นไม้ ให้เกิดร่มไม้ร่มธรรมกลางเวียง?” โดยตัวแทนชุมชน พระสงฆ์ พร้อมวางแผนปลูกต้นไม้ในพื้นที่วัดเขตคูเมือง 12 แห่งในหน้าฝนนี้ เพื่อช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ศาสนสถาน แต่สำคัญที่สุดคือการรักษาต้นไม้เดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ อายุกว่า 100 ปี ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติที่คนเชียงใหม่ได้ช่วยกันดูแลรักษาต่อไป

 เชียงใหม่เขียว สวย หอม นำภาพมาจัดเป็นนิทรรศการชุด “ร่มไม้ใจเมือง” ให้รู้จักต้นไม้โบราณคู่บ้านคู่เมืองอย่างลึกซึ้ง เสริมด้วยเกร็ดความรู้ คุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม เช่น ต้นยางที่วัดเจดีย์หลวง ต้นโพธิ์ที่แจ่งศรีภูมิ ต้นสาละที่วัดศรีเกิด ฯลฯ ต้นไม้ทุกต้นที่จัดแสดงในงานนี้ล้วนได้รับรางวัลจากการประกวดต้นไม้จากเทศบาลนครเชียงใหม่มาแล้วทั้งสิ้น

 นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการชุด “ต้นไม้ดอกไม้ที่จะช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับเมือง”,นิทรรศการผลงานของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "เฮือนล้านนา" และมีของกินของฝากในตลาดนัดของทำมือแบบเมืองเมือง อาหารเมืองมังสวิรัติรสอร่อย เครื่องดื่มสมุนไพร บริเวณลานกลางแจ้ง เคล้าเสียงเพลงสุนทราภรณ์ปรุงรสใหม่ ลีลาความสามารถเฉพาะตัวในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร โดยวงสุนทราพาเพลิน ปิดท้ายด้วย “เพลงรักไม่รู้โรย” เพลงฟังสบายๆ สไตล์ ศุ บุญเลี้ยง

 อรช บุญ-หลง จากกลุ่มเมืองเมือง บอกว่า กิจกรรมนี้เป็นโอกาสดีที่เครือข่ายคนทำงานเพื่อเมืองจะได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิด ให้เกิดความเข้าใจในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม บ้านเรือน ชุมชน และเมืองในวงกว้าง ผ่านกิจกรรมสบายๆ แต่ให้สาระเข้าถึงได้ง่าย

 “เมืองเชียงใหม่มีกลุ่มคนที่สร้างสรรค์กิจกรรมด้านศิลปะ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เยอะมาก แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ เข้าไม่ค่อยถึง ไม่สนใจ หรือไม่ก็ยังเชื่อมโยงกันน้อย งานแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมมีให้ดูให้ชมกันไม่เว้นแต่ละวัน แต่ก็เหมือนจะยังอยู่ในวงจำกัด  ยิ่งเป็นการพูดคุย หรือร่วมแสดงความคิดเห็นในงานพัฒนาเมืองด้านต่างๆ ยิ่งไปกันใหญ่ คนทั่วไปยังให้ความสนใจ รับรู้น้อยมาก อาจจะเพราะรู้สึกแปลกแยกกับสถานที่ ประเด็น บรรยากาศ ก็เลยชวนเพื่อนๆ มาช่วยคิด เปิดพื้นที่ที่เป็นกันเอง เรียบง่าย มีตัวอย่างที่นำไปใช้ได้จริง”

 มีไอเดียอะไรอยากแลกเปลี่ยนก็เชิญได้ที่งาน "เมืองเขียวเมืองหอม" วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เชียงใหม่