วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ส่งต่อมาสู่ลูกหลานในปัจจุบัน ถักทอฝ้าย สายใยไทลื้อ

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

กนกวลี เดือนฉาย


เสื้อผ้าสวยๆ ที่เห็นอยู่ทั่วไป เกิดจากเส้นใยเล็กๆ สอดประสานร้อยเรียง ถัก ทอ ต่อกันจนเป็นผืนผ้าให้สวมใส่อยู่ทุกวัน

บรรพบุรุษในอดีตถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้า ส่งต่อมาสู่ลูกหลานในปัจจุบัน วัตถุดิบสำคัญคือฝ้าย เส้นใยเล็กๆ จากพืชที่เพาะปลูกเพื่อการใช้ประโยชน์โดยตรง


ชาวไทลื้อ บ้านสถาน อ.ภูซาง จ.พะเยา มองเห็นคุณค่าและหวงแหนวิธีการทอผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา และเปิดโอกาสให้ลูกหลานเรียนรู้วิธีการทอผ้าเรียกได้ว่าตั้งแต่ต้นตอที่มาของเส้นใยเลยทีเดียว

ห้องเรียนทอผ้าของเด็กๆ อยู่ที่ "เขินลื้อ" หรือ เรือนไทลื้อ ซึ่งก็คือบ้าน ในรูปแบบวิถีของชาวไทลื้อ สร้างขึ้นเพื่อให้เยาวชนบ้านสถาน ได้รู้จักวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ มีกลุ่มทอผ้าซึ่งเป็นเหล่าแม่อุ๊ย ทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือน มาช่วยกันเป็นคุณครูสอนเด็กๆ



ในฤดูหนาว ดอกฝ้ายริมห้วยข้างเรือนไทลื้อแข่งกันแตกปุยขาวๆ คล้ายสำลี ฟูแน่นเต็มดอก น้ำค้างยามเช้าเกาะ กระทบกับแสงแดดอ่อนๆ ต้องปุยฟูฟ่อง คล้ายประดับด้วยอัญมณี แพรว พราว เชิญชวนให้เด็กๆ เข้าไปเก็บ
ที่ห้องเรียนเรือนไทลื้อเด็กๆ ได้เรียนรู้ทุกกระบวนการทอผ้า ตั้งแต่การเก็บดอกฝ้าย ตากปุยฝ้าย หลังจากปุยฝ้ายแห้งสนิทและฟูตัวแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการแยกเมล็ดออก เรียกว่า อีดฝ้าย จากนั้นก็ดีดปุยฝ้ายไม่ให้จับตัวกัน และให้ฝ้ายฟูตัวขึ้น จากปุยฝ้ายที่ขึ้นฟูนำมาม้วนเรียกว่าล้อฝ้าย จากนั้นนำมาปั่นเป็นเส้นฝ้าย ใช้วงล้อปั่นโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างมือขวาที่ต้องหมุนวงล้อ กับมือซ้ายที่ต้องปล่อยฝ้าย ขั้นตอนนี้ค่อนข้างยาก แต่เด็กๆ ที่มาเรียนรู้ก็หมั่นฝึกฝนจนสามารถปั่นฝ้ายได้คล่องแคล่ว 

น้องดอย ด.ญ.อภิชญา มหามิตร และ น้องปาย ด.ญ.ชุติพรรณ ทองสุข เรียนอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านสถาน เป็นสมาชิกของห้องเรียนทอผ้า วันนี้เด็กๆ และเพื่อนๆ มาเรียนที่เรือนไทลื้อ ได้ทำหลายขั้นตอน น้องดอยเล่าให้ฟังว่า "รอบๆ เรือนไทลื้อ ปลูกต้นฝ้ายไว้เต็มไปหมด มีทั้งดอกฝ้ายสีขาว และดอกฝ้ายแบบพิเศษเรียกว่าสีตุ่น ดอกฝ้ายสีตุ่นจะมีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อทำเป็นเส้นฝ้ายแล้วไม่ต้องย้อมอีก เอาไปทอได้เลย
 เพราะมีสีอยู่แล้ว"
น้องปายบอกว่า "เวลาเก็บฝ้ายต้องเก็บตอนเช้าๆ เอาไปผึ่งแดดให้น้ำค้างแห้งก่อนจึงจะเอามาอีดได้"

ในขั้นตอนทั้งหมด ตั้งแต่ เก็บ ตาก อีด ดีด ล้อ ปั่น ทอ จากเส้นใยของดอกฝ้ายจนกลายมาเป็นผืนผ้า น้องปายกับน้องดอยชอบปั่นฝ้ายมากที่สุด


แต่สิ่งที่น้องดอยกับน้องปายยังไม่เคยทำคือลองขึ้นกี่ทอผ้า เพราะว่าอุ๊ยที่สอนบอกว่าการทอมีขั้นตอนซับซ้อน อาจจะยากเกินไปสำหรับเด็กๆ แต่วันนี้จะให้เด็กๆ ลองทอดู เริ่มต้นจากทอผ้าสีพื้นธรรมดา เพื่อให้เด็กเรียนรู้กระบวนการทอและฝึกฝนต่อไป
ขอบคุณพิเศษ นสพ ข่าวสด http://www.khaosod.co.th/
แต่สิ่งที่น้องดอยกับน้องปายยังไม่เคยทำคือลองขึ้นกี่ทอผ้า เพราะว่าอุ๊ยที่สอนบอกว่าการทอมีขั้นตอนซับซ้อน อาจจะยากเกินไปสำหรับเด็กๆ แต่วันนี้จะให้เด็กๆ ลองทอดู เริ่มต้นจากทอผ้าสีพื้นธรรมดา เพื่อให้เด็กเรียนรู้กระบวนการทอและฝึกฝนต่อไป

การเรียนรู้เรื่องทอผ้าของเด็กๆ เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ อย่างเส้นใยฝ้าย ถักทอจนกลายเป็นผ้าฝ้ายผืนใหญ่สารพัดประโยชน์ การปลูกฝังเรื่องวัฒนธรรมไทลื้อสู่เยาวชน เปรียบเหมือนกับการทอผ้าที่ต้องค่อยๆ สอด ค่อยๆ ใส่ เรียงร้อยประสานไปทีละน้อย ใส่ความรัก ตระหนัก และหวงแหนในเอกลักษณ์ไทลื้อ เด็กๆ ค่อยๆ เรียนรู้ สานต่อไป จนเกิดความรู้ สึกรักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน 

มาเรียนรู้ เจาะลึก เรื่องราวการเดินทางของดอกฝ้าย ซึมซับ รับรู้วัฒนธรรมอันผนึกลึกซึ้งของเด็กๆ และผู้ใหญ่ชาวไทลื้อ ผ่านภูมิปัญญาผ้าทอที่น่าภาคภูมิใจ

เด็กๆ บ้านสถาน แห่งภูซาง จ.พะเยา พร้อมแล้วจะเล่าให้ฟัง ในทุ่งแสงตะวัน ตอน สายใยไทลื้อ วันเสาร์ที่ 12 ก.พ. เวลา 06.25 น. ช่อง 3 www.payai.com