วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๑)


จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๑)


จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๑)
 
        เวลาเป็นสิ่งเดียวที่ทุกคนมีเสมอกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แล้วแต่ใครจะใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์และมีคุณค่าได้มากกว่ากัน คำว่า“ไม่มีเวลา”ไม่มีในโลก ขึ้นอยู่กับเราจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากัน เรามักเอาเวลาไปเพลินกับสิ่งไร้สาระ และเอาความเกียจคร้านมาเป็นข้ออ้างว่า ไม่มีเวลาหากเราจัดสรรเวลาให้เป็น เราจะมีเวลาเหลือเฟือเพื่อทำสิ่งที่ดี ชีวิตเป็นของน้อยนิดไม่ยืนยาว จงใช้เวลาให้มีคุณค่า ด้วยการทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ไม่ควรดูเบากับเวลาที่ผ่านไป  เมื่อมีโอกาสทำความดีพึงรีบทำ อย่ามัวรีรอ อย่ามีข้อแม้ เรามีเวลาในโลกอย่างจำกัด จงรีบเร่งทำความเพียรแต่วันนี้ เพราะพรุ่ง
นี้อาจไม่มีสำหรับเรา
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อขันติสูตร ว่า
 
        “ปญฺจิเม ภิกฺขเว อานิสํสา ขนฺติยา กตเม ปญฺจ พหุโน ชนสฺส ปิโย โหติ มนาโป น เวรพหุโล โหติ น วชฺชพหุโล อสมฺมูโฬฺห กาลํ กโรติ กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา สุคตึ สคฺคํ โลกํ อุปปชฺชติ อิเม โข ภิกฺขเว ปญฺจ อานิสํสา ขนฺติยาติ
 
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน  ประการ คือ ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก เป็นผู้ไม่มากด้วยเวร เป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ เป็นผู้ไม่หลงทำกาละ และเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทนมี ๕ ประการเช่นนี้แล
 
        เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ต่างต้องอาศัยอยู่กับคนหมู่มาก ซึ่งมีความคิด คำพูดและการกระทำที่แตกต่างกัน ตั้งแต่อยู่กับครอบครัว เพื่อนฝูงในโรงเรียนในที่ทำงาน และประพฤติตามระบบระเบียบที่สังคมกำหนด จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข การปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาวการณ์ได้นั้น ต้องอาศัยขันติธรรม คือความอดทนเป็นอย่างมาก แต่ละวันที่มีการติดต่อสื่อสาร เกี่ยวข้องกับผู้คนรอบข้างมากมายนั้น ถ้าปราศจากความอดทน คุณงามความดีต่างๆ ที่สั่งสมไว้อาจจะพังทลายลงได้ในทันที
 
        ดังเช่นพระบรมศาสดา สมัยที่กำลังสร้างบารมี ท่านทรงมีขันติธรรมเป็นเยี่ยม ที่เราควรศึกษาเพื่อจะได้นำมาเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ครั้งเมื่อทรงประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภถึงพระเทวทัตที่พยายามจะตั้งตัวเป็นศาสดา ทำแผนการณ์อันชั่วร้ายทุกวิถีทางที่จะปลงพระชนม์พระองค์ แต่ด้วยมหากรุณาอันไม่มีประมาณ พระองค์จึงทรงอาศัยขันติและเมตตามาโดยตลอด
  เรื่องมีอยู่ว่า  เมื่อพระเทวทัตยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาตแล้ว ยังยุยงอีกว่า “ดูก่อนมหาราช มโนรถของพระองค์ถึงที่สุดแล้ว ส่วนมโนรถของอาตมายังไม่ถึงที่สุด  เมื่อฆ่าพระทศพลแล้ว อาตมาจะได้เป็นพระพุทธเจ้า มหาบพิตร พระองค์ควรใช้ราชอาชญารับสั่งให้นายขมังธนูจาก ๕๐๐ ตระกูลเข้ามาในเมือง จากนั้นขอทรงคัดให้เหลือ ๓๑ คน แล้วตรัสสั่งว่า ให้ไปทำตามคำสั่งของพระเถระ ต่อจากนั้น การปลงพระชนม์ของพระพุทธเจ้า เป็นหน้าที่ของอาตมาเอง” พระเจ้าอชาตศัตรูทรงยอมทำตามทุกอย่าง
 
        เมื่อทุกอย่างพร้อม พระเทวทัตได้เรียกนายขมังธนูที่ยิงแม่นยำที่สุดเข้ามา พลางออกคำสั่งว่า “ท่านผู้มีอายุ พระสมณโคดมประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เสด็จจงกรมอยู่ในที่พักกลางวัน ท่านจงไปยิงพระสมณโคดมด้วยลูกศรอาบยาพิษให้สิ้นพระชนม์ชีพ แล้วกลับมาอีกเส้นทางหนึ่ง เพื่อรับรางวัลจากเรา จะได้ไม่มีใครเห็นการกระทำของท่าน”
 
        ครั้นส่งนายขมังธนูไปแล้ว พระเทวทัตยังจัดนายขมังธนู ๒ คน ให้ไปซุ่มระหว่างทางที่นายขมังธนูคนแรกจะเดินทางกลับ พร้อมกำชับว่า “จะมีชายคนหนึ่งมาในเส้นทางที่พวกท่านทั้งสองซุ่มอยู่ พวกท่านจงยิงชายคนนั้นให้ตาย เพราะชายคนนั้นเป็นภัยต่อราชบัลลังก์  เมื่อเสร็จงานแล้ว ให้ท่านทั้งสองกลับมารับรางวัลจากเรา”
 
        จากนั้นพระเทวทัตสั่งนายขมังธนูอีก ๔ คน ให้ไปดักฆ่านายขมังธนูทั้งสองนั้น อย่าให้รอดชีวิตเด็ดขาด และสั่งให้นายขมังธนูอีก ๘ คน ไปฆ่านายขมังธนูทั้งสี่นั้น จุดสุดท้ายได้จัดนายขมังธนู ๑๖ คน ให้ไปดักฆ่าบุรุษ ๘ คน ที่กำลังสวนทางมา ไม่ให้ผู้ใดรอดชีวิตได้แม้แต่คนเดียว นี้เป็นแผนลอบปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ใช้นายขมังธนูถึง ๓๑ คน
 
        บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมพระเทวทัตต้องทำเช่นนั้น ก็เพื่อต้องการปกปิดกรรมชั่วของตน จะได้ไม่มีใครสืบได้ว่า การที่พระบรมศาสดาถูกลอบปลงพระชนม์นั้น เป็นเพราะตนเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังนั่นเอง
 
        เมื่อนายขมังธนูที่เก่งกาจที่สุดได้รับคำสั่งแล้ว ได้มุ่งหน้าไปยังที่ประทับของพระบรมศาสดา  ครั้นไปถึงก็ยกธนูขึ้น ด้วยตั้งใจจะยิงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยลูกศรอาบยาพิษ ทันทีที่ผูกสอดลูกธนูแล้ว ขณะกำลังรั้งสายเตรียมจะยิง เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือไม่สามารถปล่อยลูกธนูออกไปได้ จะวางคันธนูก็วางไม่ได้ เหมือนถูกตรึงให้แข็งทื่อด้วยพลังอำนาจบางอย่างที่มองไม่เห็น นายขมังธนูรู้สึกอึดอัด เร่าร้อนไปทั่วทั้งตัว น้ำลายฟูมปาก เกิดความสะดุ้งกลัวต่อความตายอย่างจับใจ เพราะตั้งใจปลิดชีวิตของพระพุทธองค์ แต่กลับต้องมาตายในป่าเสียเอง
 ขณะเดียวกันนั้นเอง พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นความสะดุ้งหวาดกลัวของนายขมังธนูทรง เกิดมหากรุณา ทรงเปล่งสุรเสียงอันไพเราะตรัสปลอบนายขมังธนูว่า “พ่อบุรุษผู้โง่เขลา ท่านอย่ากลัวเลย จงมาที่นี่เถิด” นายขมังธนูได้ยินพระบรมศาสดาตรัสเชื้อเชิญ โดยไม่ได้ฉายแววของความโกรธแค้น รู้สึกปีติดีใจมาก เกิดความศรัทธาเลื่อมใสอย่างท่วมท้นทันที  เมื่อจิตอ่อนโยน ปราศจากความปรารถนาร้ายต่อพระพุทธองค์ นายขมังธนูจึงลดอาวุธลง แล้วก้มลงกราบแทบพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอขมาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนเขลา ถูกอกุศลเข้าสิงจิต ให้กระทำความผิดต่อพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าทำตามคำสั่งของพระเทวทัตผู้เป็นอันธพาล ขอพระองค์จงยกโทษให้ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด”
 
        เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกโทษให้นายพรานแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง จนนายขมังธนูได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังมีมหากรุณา ตรัสบอกนายขมังธนูว่า “ดูก่อนอุบาสก ท่านอย่าเดินทางไปตามทางที่พระเทวทัตบอก จงไปทางอื่น เพราะทางข้างหน้าไม่ปลอดภัยสำหรับท่าน”
 
        ครั้นพระพุทธองค์ส่งนายขมังธนูไปแล้ว เสด็จลงจากที่จงกรม ไปประทับอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง  เมื่อนายขมังธนูมิได้กลับมาตามทางที่พระเทวทัตสั่งไว้ เพราะพระบรมศาสดาทรงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า นายขมังธนูอีก ๒ คน ที่รอคอยอยู่คิดว่า “ทำไม คนที่พระเทวทัตกล่าวถึง ยังไม่มาสักที”  เมื่ออดทนรอไม่ได้ จึงชักชวนกันไปดู ทั้งสองเห็นพระทศพล ก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใส เนื่องจากทั้งสองไม่ได้มีวัตถุประสงค์มาฆ่าพระพุทธเจ้า จึงพากันเข้าไปกราบถวายบังคมพระพุทธองค์ด้วยความเลื่อมใสยิ่งนัก
   พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมให้ฟัง จนนายขมังธนูทั้งสองได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จากนั้นทรงเทศน์สอนนายขมังธนูที่เหลือ ในทำนองเดียวกันนั่นเอง ซึ่งทั้งหมด ทยอยกันมาเข้าเฝ้าตามลำดับ ทุกคนต่างได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทั้ง ๓๑ นาย
 
        เราจะเห็นว่า นอกจากพระบรมศาสดา จะทรงให้อภัยแล้ว ยังทรงให้ธรรมาภิสมัยแก่ผู้ที่คิดประทุษร้ายต่อพระองค์ เพราะทรงอาศัยมหากรุณาและความอดทนต่อพฤติกรรมอันเลวร้ายของพระเทวทัต ไม่มีแม้เพียงขณะจิตเดียวที่จะคิดประทุษร้ายตอบ รวมทั้งในอดีตที่ผ่านมา พระองค์ต้องอดทนต่อพระเทวทัตอย่างไรบ้าง เราจะได้ศึกษากันในตอนต่อไป