"กลุ่มยานยนต์" เชื่อโอกาสเห็นรถติดตั้งซีเอ็นจีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมเสนอแผนรองรับเปลี่ยนปั๊มแอลพีจีเป็นปั๊ม ซีเอ็นจีแทน พร้อมยันซีเอ็นจีไม่ควรมี 2 ราคา หวั่นกระทบภาคอุตสาหกรรมขนส่ง
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกรู รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แนวโน้มความนิยมของผู้ใช้รถยนต์ที่จะหันมาให้ความสนใจเลือกใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกอย่างซีเอ็นจี (เอ็นจีวี) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากส่วนหนึ่งรัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริม ยกเว้นภาษี ชุดติดตั้ง อุปกรณ์ซีเอ็นจี ให้เป็น 0% เป็นระยะเวลาอีก 1 ปี
ประกอบกับอนาคตแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้รถยนต์ประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้เชื่อว่าโอกาสที่จะได้เห็นค่ายรถยนต์ค่ายต่าง ๆ ให้ความสนใจนำรถยนต์แต่ละประเภทมาติดตั้งชุดอุปกรณ์ซีเอ็นจีจะเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการนำเข้ามาติดตั้งให้กับกลุ่มรถยนต์ นั่งขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเริ่มมีค่ายรถยนต์บางค่ายให้ความสำคัญกับการนำรถปิกอัพขนาด 1 ตัน มาติดตั้งชุดอุปกรณ์ พร้อมทั้งมีการทำตลาดอย่างจริงจัง และก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของการทำตลาดและยอดขาย
แต่ทั้งนี้ภาครัฐจำเป็นจะต้องมี นโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมพลังงานทางเลือกประเภทนี้อย่างชัดเจนและจริงจัง โดยเฉพาะในการสนับสนุนระหว่างซีเอ็นจี และแอลพีจี ซึ่งมีความชัดเจนว่า พลังงานชนิดใดมีความเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานอย่างไร
"การที่รัฐออกมาประกาศสนับสนุนการนำเข้าชุดอุปกรณ์ซีเอ็นจีให้เป็น 0% โดยยกเว้นภาษีให้อีก 1 ปี ถือเป็นเรื่อง ที่ดี และเป็นการสนับสนุนตามที่กลุ่มและผู้ผลิต ได้เสนอขอรับการสนับสนุนไปยังภาครัฐ ซึ่งวันนี้รถยนต์ที่ติดตั้ง ซีเอ็นจีจากโรงงานจะเสียภาษี 20% หรือบางค่ายที่ติดตั้งในรูปแบบรีโทฟิตก็จะได้รับส่วนลดที่ 50,000 บาทด้วย" นาย ศุภรัตน์กล่าว
และหากมีการปล่อยให้ลอยตัวราคา "ก๊าซซีเอ็นจี" หรือกำหนดโครงสร้างราคาขายออกเป็น 2 ราคาแล้ว จำเป็นจะต้องพิจารณาว่า จะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อมีการประกาศขึ้นราคาก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้น รวมถึงภาคขนส่งที่ปัจจุบันมีการใช้ซีเอ็นจีเป็นจำนวนมากก็จะต้องได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้มีการเลือกใช้ซีเอ็นจีเพิ่มมากขึ้นแทนการเลือกใช้แอลพีจีนั้น อีกวิธีหนึ่งที่เชื่อว่าน่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้ได้มากขึ้นคือ การลดจำนวนการขยายปั๊มแอลพีจี ซึ่งอาจจะเปลี่ยนปั๊ม ดังกล่าวให้เป็นปั๊มซีเอ็นจีแทน เพื่อเพิ่มจุดบริการให้กับลูกค้ามากขึ้น
ส่วนเรื่องการปรับขึ้นราคาจำหน่ายของก๊าซซีเอ็นจีนั้น โดยส่วนตัวแล้วรัฐบาล น่าจะเลือกใช้วิธีการค่อย ๆ ปรับขึ้นราคา เพราะหากมีการขยับราคาในทันทีทันใด นอกจากจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ประเภทนี้แล้ว กลุ่มรถ ขสมก., บขส., รถที่ใช้ในภาคขนส่งต่าง ๆ ก็จะได้รับผลกระทบในวงกว้างทันที
วันนี้รถยนต์ที่ใช้ในภาคการขนส่ง ทั้งรถเมล์ รถแท็กซี่ รถบรรทุก ที่ใช้ซีเอ็นจี เป็นพลังงานขับเคลื่อนนั้น ถือว่ามีความเหมาะสมอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มรถบ้านที่ใช้เองก็ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนการเดินทางให้ถูกลงเช่นกัน"
Credit :http://www.prachachat.net