วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มื้อกลางวัน : ยำทวายเก้าเกสร หมี่กะทิดอกบัว


เมนูนี้นำดอกไม้รับประทานได้หลากสีเก้าชนิด มาปรุงเป็นยำทวายแบบไทย ๆ ใช้ทั้งดอกสดและลวกในน้ำกะทิธัญพืชพอสุก รับประทานคู่กับน้ำยำรสเปรี้ยว เค็ม หวาน มัน นอกจากจะอร่อยเข้ากันแล้ว สีสันต่าง ๆ ในดอกไม้ยังช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้อีกด้วย

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)
เตรียม 30 นาที ปรุง 45 นาที
  • ดอกไม้รับประทานได้ 9 ชนิด ชนิดละ 1/2 ถ้วย (พวงชมพู กลีบในของดอกบัวฉัตร ดอกเข็ม ดอกอัญชัน ดอกโสน ดอกแคขาวดึงเกสรออก ดอกผักกวางตุ้ง ดอกเล็บมือนาง หัวปลีซอยเป็นเส้นแช่น้ำมะขามเปียกไว้)
  • อกไก่ต้มสุกฉีกเป็นเส้น 1 ถ้วย
  • ถั่วงอก 1 ถ้วย
  • พริกหวานสามสี เขียว เหลือง แดง ซอยเป็นเส้นบาง ชนิดละ 1/4 ถ้วย
  • กะทิธัญพืช 1 ½ ถ้วย
  • น้ำเปล่า 4 ถ้วย
  • เกลือ 1/2 ช้อนชา
  • งาคั่วตามชอบ
  • กะทิธัญพืชเคี่ยวผสมกับแป้งข้าวเจ้าเล็กน้อยจนข้น สำหรับราดหน้ายำ ตามชอบ
ส่วนผสมน้ำยำ
  • พริกแห้งเม็ดใหญ่กรีดเอาเมล็ดออก นำไปแช่น้ำจนนิ่ม 7 เม็ด
  • หอมเล็กปอกเปลือกซอยบางตามขวาง 7 หัว
  • กระเทียมกลีบเล็กปอกเปลือก 7 กลีบ
  • ข่า 3 แว่น
  • ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
  • ปลาย่าง (ปลาเนื้ออ่อนหรือปลาสลาดก็ได้) แกะเอาแต่เนื้อโขลกละเอียด 1/4 ถ้วย
  • น้ำมะขามเปียก 3 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ 1/4 ช้อนชา
  • กะทิธัญพืช 1 ถ้วย
  • วิธีทำ
    1. ทำน้ำยำ โดย โขลก พริกกับเกลือให้ละเอียด ใส่ข่า ตะไคร้ ลงโขลกจนเนียนจึงใส่หอมและกระเทียม เมื่อเครื่องแกงละเอียดดีแล้วจึงใส่ปลาย่างลงไป โขลกต่อสักพักจนเข้ากัน ตักใส่ถ้วยพักไว้
    2. ใส่กะทิธัญพืช (ส่วนเครื่องปรุงน้ำยำ) ลงในกระทะ ยกขึ้นตั้งไฟจนเดือด ใส่เครื่องแกงลงผัดให้หอม ปรุงรสด้วย น้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาล ปิดไฟ ตักใส่ถ้วยเตรียมเสิร์ฟ
    3. ผสมกะทิธัญพืช กับน้ำในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟจนเดือด ใส่เกลือคนให้ละลาย แล้วจึงนำถั่วงอก พริกหวาน และดอกไม้ลงลวก โดยเรียงลำดับจากสีอ่อนไปจนถึงสีเข้ม (ดอกอัญชันและพวงชมพูไม่ต้องลวกก็ได้ เพราะสามารถรับประทานสด ๆ )
    4. จัดดอกไม้ลวกและผักใส่จาน เคียงด้วยเนื้อไก่ฉีกฝอย ราดน้ำยำ และน้ำกะทิธัญพืชสำหรับราดที่เตรียมไว้ โรยงาตามชอบ รับประทานทันที
    Tip
    • การลวกดอกพวงชมพูจะทำให้สีของดอกไม้จางลงเป็นสีชมพูอ่อนจนถึงสีขาว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการลวก
    • ก่อนนำหัวปลีไปลวก ควรล้างน้ำมะขามเปียกออกก่อน เพื่อป้องกันรสเปรี้ยวจากน้ำมะขามทำให้รสยำเสีย
    • สามารถปรับเปลี่ยนดอกไม้ได้ตามชอบ
หมี่กะทิดอกบัว
หมี่กะทิจานนี้จึงเติมความพิเศษโดยนำกลีบดอกบัวหลวงซอยเป็นเส้นยาว พร้อมเกสรดอกบัวสด มาผัดกับเส้นหมี่ข้าวกล้องและกะทิธัญพืชจนหอมชวนรับประทาน ก่อนราดด้วยเครื่องเคลารสเปรี้ยว เค็ม หวาน กำลังดี เสริมให้อาหารจานนี้หอมอร่อยมากยิ่งขึ้น 

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)
เตรียม 30 นาที ปรุง 30 นาที
  • เส้นหมี่ข้าวกล้องแห้ง 100 กรัม
  • เกสรดอกบัวสดและกลีบบัวหลวงหรือบัวฉัตรสีชมพูซอยเป็นเส้นยาวชนิดละ 1 ถ้วย
  • ถั่วงอกเด็ดหาง 1 ถ้วย
  • กุยช่ายหั่นเป็นท่อนสั้น 1 ถ้วย
  • กะทิธัญพืช 1 ถ้วย
  • ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ 1/4 ช้อนชา
  • น้ำตาลทราย 1/4 ช้อนชา
  • น้ำเปล่าสำหรับแช่และลวกเส้นหมี่
  • ใบกุยช่ายสด และถั่วงอกสด สำหรับเป็นผักเคียง
  • มะนาวผ่าซีกและพริกป่นตามชอบ
ส่วนผสมเครื่องราดหมี่
  • เนื้อกุ้งสับหยาบ (ใช้กุ้งได้ทุกชนิด) 1/2 ถ้วย
  • เต้าหู้เหลืองชนิดแข็งหั่นเป็นท่อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ 1/4 ถ้วย
  • พริกแห้งเม็ดใหญ่กรีดนำเมล็ดออก คั่วจนกรอบ ตำละเอียด 3-5 เม็ด
  • หอมเล็กซอย 1 ถ้วย
  • กะทิธัญพืช 1 ½ ถ้วย
  • น้ำเปล่า 1/2 ถ้วย
  • เนื้อเต้าเจี้ยวขาวตำละเอียด 4 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะขามเปียก 4 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ 1/4 ช้อนชา
  • น้ำตาลปี๊บ 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
  1. นำเส้นหมี่แช่น้ำจนนิ่ม พักให้สะเด็ดน้ำ
  2. ต้มน้ำให้เดือด ใส่เส้นหมี่ลงลวกอย่างรวดเร็ว ตักขึ้นใส่กระชอน พักให้สะเด็ดน้ำเตรียมไว้ (ขั้นตอนนี้เส้นหมี่จะยังไม่สุก)
  3. ใส่กะทิธัญพืชลงในกระทะ ยกขึ้นตั้งไฟให้ร้อน ปรุงรสด้วยซอสมะเขือเทศ เกลือ น้ำตาล คนจนละลาย เร่งไฟขึ้น ใส่เส้นหมี่ลงผัดจนสุกดี ใส่ถั่วงอก และใบกุยช่าย ผัดต่อสักพัก ปิดไฟ ใส่เกสรและกลีบดอกบัว ลงคลุกเคล้าให้ทั่วเส้นหมี่ตักใส่ภาชนะ ปิดฝาพักไว้
  4. ทำเครื่องราดหมี่กะทิ โดย เคี่ยวกะทิธัญพืชพอเดือด ใส่เต้าเจี้ยวและพริกลงไปคนให้เข้ากัน ใส่เนื้อกุ้ง ผัดจนใกล้สุก จึงใส่เต้าหู้ และหอมลงไป เติมน้ำเปล่า ปรุงรสด้วย น้ำมะขามเปียก เกลือ และน้ำตาล รอเดือดสักครู่ ปิดไฟ
  5. จัดเส้นหมี่ที่ผัดไว้ใส่จาน ตักเครื่องราดลงบนเส้นหมี่ เคียงด้วยถั่วงอกสด ใบกุยช่าย มะนาวหนึ่งซีก และพริกป่น ตามชอบ
Tip
  • บัวหลวงจะมีกลิ่นหอมกว่า มีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจอย่างชัดเจน ทว่า โคนกลีบดอกส่วนสีขาวมักมีรสขม และเกสรมีรสเฝื่อน ขณะที่บัวฉัตร (มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น) กลิ่นจะหอมอ่อน ๆ สรรพคุณทางยาไม่เท่าบัวหลวง แต่เกสรและกลีบ ไม่เฝื่อนขม การเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้รับประทาน
Credit : นิตยสาร Health & Cuisine ปีที่ : 11 ฉบับที่ : 121 เดือน : กุมภาพันธ์ 2554