วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไทยรุ่งฯคว้าโปรเจ็กต์กองทัพส่ง"เอ็มยูวี"เจาะแอฟริกา

ไทยรุ่งเฮ ปี"53 รายได้ทะลุ 2,000 ล้าน เติบโตกระฉูด 50% ทุ่ม 300 ล้าน สร้างโรงงานใหม่ หวังโกยยอดขายชิ้นส่วนเพิ่มเท่าตัว อีก 600 ล้าน เดินเครื่องผลิตปลายปี ลั่นปีนี้ส่งรถเอ็มยูวีลงตลาด ป้อนกองทัพ หน่วยงานราชการ และบุกตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลาง
นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการดำเนินงานของบริษัทว่า ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจใน 4 กลุ่มคือ การผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วน อุปกรณ์ประกอบรถยนต์, การปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนให้โรงงานผลิตรถยนต์, การผลิตรถยนต์ไทยรุ่ง การรับจ้างประกอบรถกระบะและประกอบห้องโดยสารสำหรับรถ ขุดดินให้ผู้ผลิตรถค่ายต่าง ๆ และการจำหน่ายอะไหล่ โดยในปี 2553 นั้นมีรายได้รวม 2,000 ล้านบาท การเติบโตเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปี 2552

ทั้งนี้รายได้หลักมาจากการผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วน การปั๊มชิ้นส่วนให้ผู้ผลิตรถ 50%, การรับจ้างผลิตรถยนต์ 30% และการขายอะไหล่และรถยนต์ไทยรุ่งอีก 20% โดยยอดขายรถยนต์ไทยรุ่งในปี ที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 300-400 คัน โดยคาดว่าในปีนี้บริษัทจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 15% เนื่องจากการได้รับออร์เดอร์การผลิตชิ้นส่วน รวมถึงการรับจ้างประกอบรถยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

การผลิตชิ้นส่วนนั้น ตลาดมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงมาก เนื่องจากค่ายรถยนต์ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทย ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศมีมากขึ้น ทั้งรถปิกอัพและอีโคคาร์ ซึ่งอีโคคาร์นั้นก็ถือเป็นรถเซ็กเมนต์ใหม่ที่จะทำให้การผลิตชิ้นส่วนเติบโตมากขึ้น 

บริษัทจึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการลงทุน 300 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนโลหะอีกแห่งในพื้นที่เดียวกับโรงงานเดิมที่ จ.ระยอง เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนโลหะให้กับลูกค้า เช่น นิสสัน อีซูซุ อาปิโก และเชฟโรเลต รวมถึงการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักให้รถกระบะค่ายจีเอ็มที่จะเปิดตัวในปีนี้ด้วย คาดว่าโรงงานแห่งใหม่นี้จะเดินเครื่องผลิตได้ในไตรมาส 4 หากเต็มกำลังการผลิตก็จะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 600-700 ล้านบาทต่อปีอย่างแน่นอน จากรายได้โรงงานเดิมที่ 600 ล้านบาท

ส่วนการจำหน่ายอะไหล่นั้นก็มีการขยายธุรกิจในส่วนการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนประดับยนต์ให้กับค่ายอีซูซุและจีเอ็ม รวมถึงการจำหน่ายเอง สำหรับชุดแต่งอีซูซุ ดีแมคซ์, นิสสัน มาร์ช, โตโยต้า วีออส, โตโยต้า ยาริส, ฮอนด้า แจ๊ซ และฮอนด้า ซิตี้ ซึ่งจำหน่ายผ่านร้านประดับยนต์และดีลเลอร์รถยนต์ด้วย

นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะผลิตรถเอ็มยูวี (Military Utility Vehicle) หรือรถตรวจการณ์ที่ใช้ในหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น ทหาร ตำรวจ และป่าไม้ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าพิเศษ ที่บริษัทได้ใช้เวลาพัฒนามาปีเศษแล้ว คาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายได้ในไตรมาส 3 ของ ปีนี้ มีราคาจำหน่ายประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสเป็ก เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ต้องใช้รถประเภทดังกล่าวประมาณ 3,000-4,000 คัน ซึ่งต้องรอการเปิดประมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เฉพาะในปีนี้ก็น่าจะมีความต้องการอย่างน้อย 1,000-2,000 คัน ซึ่งหากบริษัทสามารถทำตลาดในประเทศได้ก็น่าจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบรถให้เหมาะสมเพื่อส่งออกไปในประเทศต่าง ๆ ทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอาเซียน เนื่องจากมีข้อตกลงเอฟทีเอสนับสนุนด้านภาษีอยู่

"เราถือว่าการลงทุนสำหรับการผลิตรถที่ใช้ในทางทหารนั้นได้มีการปรับกระบวนการผลิตให้มีความเหมาะสม ทำให้ใช้เงินลงทุนราว 100-200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการเริ่มผลิตรถในเซ็กเมนต์ใหม่ออกมา หนึ่งรุ่น เพราะบริษัทมีพื้นฐานในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและรับจ้างประกอบรถยนต์ รวมถึงมีบุคลากรและโรงงานที่มีความพร้อมสามารถรองรับการผลิตได้ เริ่มแรกจะใช้พื้นฐานมาจากรถโตโยต้า วีโก้ ซึ่งลูกค้าก็สามารถกำหนดสเป็กรถแต่ละลอตตามความต้องการให้เราผลิตได้ โดยจะเริ่มเปิดตัวครั้งแรกภายใน 1-2 เดือนนี้" นายสมพงษ์กล่าว