คลังถกผู้ประกอบการยานยนต์หวังบูรณาการจัดเก็บภาษีใหม่ เน้นลดความซับซ้อน โปร่งใสขึ้น ค่ายรถค้านแหลก ย้ำ "ปิกอัพ" และ "พีพีวี" ไม่ควรแตะ ขู่ย้ายฐาน หวั่นกระทบทั้งระบบลามไปถึงชิ้นส่วน
แหล่งข่าวระดับสูงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังเข้าหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร เพื่อรวมกันหารือเรื่องบูรณาการจัดเก็บภาษีของทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อลดขั้นตอนความซ้ำซ้อน ลดความยุ่งยาก และให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นการบริการระดับ "ท็อปเซอร์วิส"
โดยวางกรอบการปรับปรุงไว้เบื้องต้น 3 ระยะ และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือนจากนี้น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน พร้อมทั้งจะเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารืออีกครั้ง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ทั้งระบบนั้น ทางกรมสรรพสามิตมองว่า สาเหตุที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่นั้น เนื่องจากโครงสร้างภาษีเดิมที่มีการเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นั้นมีความซับซ้อน โดยเฉพาะมีการจัดเก็บมากถึง 43 อัตรา
"จากการหารือในที่ประชุม ท่าทีของคลังและสรรพสามิตมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์นั้นไม่น่าจะมีการปรับใหญ่ทั้งระบบ แต่ต้องปรับบ้างเพื่อให้เหมาะสม และลดความเหลื่อมล้ำในเชิงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับผู้ประกอบการต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐต้องชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งรูปแบบ กรอบวิธีการปฏิบัติ ไม่ใช่เร่งทำโดยลืมนึกถึงการเตรียมตัวของผู้ประกอบการ ว่าพร้อมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะรายละเอียดกรอบที่รัฐจะนำ 3 เรื่องค่ามาตรฐานไอเสีย มาตรฐานความปลอดภัย และอัตรา สิ้นเปลืองเป็นประเด็นหลักในการจัดเก็บ
ประกอบกับในปี 2555 ประเทศไทยจะประกาศใช้ค่ามาตรฐานยูโร 4 ซึ่งรถยนต์ผลิตออกสู่ตลาดในปีดังกล่าวจะต้องผ่านมาตรฐานดังกล่าว ยิ่งทำให้ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มีความกังวลมากขึ้น เพราะหากมีการประกาศปรับโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบแล้ว ในเชิงปฏิบัติจะสามารถทำได้จริงหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามต่อในประเด็นความชัดเจนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่นั้น ทางกระทรวงการคลังยังให้การยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีในส่วนของรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ปัจจุบันจัดเก็บในอัตราที่ 3% และรถอนุพันธ์อย่างพีพีวีเก็บในอัตรา 20% รวมทั้งรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) 17% นั้น คงจะไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการประชุม ครั้งนี้ทั้งโตโยต้าและอีซูซุได้แทคทีมยืนยันไม่ควรแตะต้องปิกอัพและพีพีวี โดยมีการขู่ย้ายฐานผลิต
นายมาร์ติน แอพเฟล ประธานกรรมการประจำประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย จำกัด มองว่า จีเอ็มมีนโยบายค่อนข้างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ทั้งนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการสำคัญ คือ
1.ความเชื่อมั่นต่อกลุ่มผู้ลงทุนใหม่ ที่อาจจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น รวมถึงความน่าสนใจในการลงทุนของประเทศไทยอาจจะลดลง เนื่องจากขณะนี้ได้มีการใช้เอฟทีเอเป็น 0% อาจทำให้บางค่ายที่จะลงทุนตัดสินใจย้ายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านแทน
2.การที่ค่ายรถยนต์จะตัดสินใจลงทุนผลิตรถยนต์รุ่นใดรุ่นหนึ่งนั้นจะต้องมีการเตรียมการลงทุนล่วงหน้า 3-5 ปี ดังนั้นการที่รัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะไม่เกิดผลดีมากนัก ประกอบกับรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ถือเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวแรก ถ้าเปลี่ยนแปลงเชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในวงกว้าง ทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนด้วย
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท และคาดว่าเครื่องยนต์ดังกล่าวก็จะรองรับการผลิตรถปิกอัพดัดแปลง หรือพีพีวี ที่จะแนะนำออกสู่ตลาดในอนาคตด้วย
Credit :http://www.prachachat.net/